รถ Eco Car จัดอยู่ในเซกเมนท์ใดกันแน่
ในยุคที่รถยนต์อีโคคาร์ (Eco Car) เป็นที่นิยมแบบต่อเนื่องในบ้านเรา ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกับประเภทของรถยนต์ที่ถูกจำแนกออกเป็นแต่ละเซกเมนท์ ที่ไล่ตั้งแต่รถยนต์ขนาดเล็กไปจนถึงรถยนต์ขนาดใหญ่ Tonkit360 อาสาพาไปหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วรถ Eco Car จัดอยู่ในเซกเมนท์ใดกันแน่
A-Segment ถึง D-Segment ไล่จากเล็กไปใหญ่
การจำแนกกลุ่มรถยนต์ที่ใช้คำว่า เซกเมนท์ (Segment) เริ่มจาก A ,B ,C ไปจนถึง D แท้จริงแล้วเป็นการกำหนดขึ้นโดยโครงการประเมินรถยนต์ใหม่ในทวีปยุโรป โดยใช้ขนาดของตัวรถและขนาดความจุเครื่องยนต์เป็นตัวกำหนด เริ่มจากกลุ่มที่เล็กที่สุดอย่าง A-Segment ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 660 cc. ถึง 1000 cc. เหมาะกับการใช้งานในเมืองทั้งการขับขี่ที่คล่องแคล่วและการหาที่จอดได้ง่าย ซึ่งเราไม่ค่อยได้เห็นรถกลุ่มนี้วิ่งในบ้านเรา แต่รุ่นที่พอจะเคยเห็นบนถนนอยู่บ้างก็คือ เฟียต 500 นั่นเอง
เฟียต 500 รถในกลุ่ม A-Segment
ส่วนรถในระดับ B-Segment คือรถที่มีขนาดเล็ก แต่เครื่องยนต์ขยับขึ้นมาจากกลุ่มของ A-Segment มีความจุเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 cc. มีวิ่งอยู่บนท้องถนนบ้านเรามากมาย ทั้ง เชฟโลเลต โซนิค, ฟอร์ด เฟียสต้า ,ฮอนด้า ซิตี้, ฮอนด้า แจ๊ซ, มาสด้า 2, รวมถึงโตโยต้า วีออส
ขณะที่กลุ่ม C-Segment คือรถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์จะอยู่ในระดับ 1,500 cc. ถึง 2,200 cc. อย่างเช่น โตโยต้า อัลติส ,ฮอนด้า ซีวิค ,ฟอร์ด โฟกัส ,นิสสัน ซิลฟี่ ,มาสด้า 3 เป็นต้น และปิดท้ายที่ รถยนต์กลุ่ม D-Segment คือรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ที่ยกระดับขึ้นมาจากรถขนาดกลาง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ โตโยต้า คัมรี่ ,ฮอนด้า แอคคอร์ด และนิสสัน เทียน่า
อ้าว! แล้วรถอีโคคาร์ (Eco Car) ล่ะ
เมื่อเอ่ยถึงรถยนต์อีโคคาร์ (Eco Car) หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นคำย่อที่มาจาก Economy Car ที่ตีความหมายว่ารถราคาถูก แต่จุดเริ่มและที่มาของรถ อีโคคาร์ (Eco Car) จากฝั่งยุโรปจริงๆแล้ว คือมาจากคำว่า Ecology Car ที่หมายถึงรถที่ใช้งานแล้วประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซูซูกิ สวิฟท์ อีกหนึ่งอีโคคาร์รุ่นยอดฮิต
ซึ่งใจความสำคัญของอีโคคาร์ในเมืองไทย ประกอบไปด้วย คือรถที่ต้องประหยัดน้ำมันตามกฎเกณฑ์ 20 กิโลเมตรต่อเชื้อเพลิง 1 ลิตร ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 120 กรัม ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร รวมถึงมีความจุเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,300 cc.
ส่วนการจัดกลุ่มตามเซกเมนท์นั้น อีโคคาร์ในเมืองไทย ก็คือรถในระดับ B- Segment เช่นเดียวกัน เนื่องจากขนาดของตัวรถ อยู่ในเกณฑ์ของระดับ B- Segment สังเกตได้จาก โตโยต้า ยาริส ,โตโยต้า ยาริส เอทีฟ รวมไปถึง นิสสัน อัลเมร่า ที่มีขนาดไม่ได้เป็นรองโตโยต้า วีออส หรือ ฮอนด้า ซิตี้ หรือ แจ๊ซ แต่อย่างใด เพียงแต่ใช้เครื่องยนต์ 1,200 cc. เท่านั้น
บริโอ อีโคคาร์ จากค่ายฮอนด้า
ย้อนอดีต อีโคคาร์ (Eco Car) ในเมืองไทย
จุดเริ่มต้นของ อีโคคาร์ ในเมืองไทย เริ่มมาจากนโยบายรัฐบาลในปี 2547 ที่ความพยายามจะหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ และเพื่อให้คนไทยได้ใช้รถยนต์ราคาถูก ฉะนั้นเราจะตีความว่าเป็น Eco ที่มาจาก Economy ก็คงไม่ผิดนัก ก่อนที่ในเวลาต่อมาเราจะได้เห็น “นิสสัน มาร์ช” เปิดตัวเป็น อีโค คาร์ คันแรกของเมืองไทย ในปี 2553 ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 375,000 บาท ไปถึง 537,000 บาท
ยาริส ลดระดับมาเป็นรถอีโคคาร์
นอกจากนี้ยังมี ซูซูกิ สวิฟท์ ที่ลดสเปกเครื่องลงมา เพื่อทำตลาดในรถกลุ่มนี้ รวมถึงฮอนด้า บริโอ้ รถเล็กที่สุดของสายพานการผลิต จนถึงปัจจุบัน ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ก็ปรับกลยุทธ์ด้วยการ นำเอายาริส รุ่นใหม่ ใส่เครื่อง 1,200 cc. จนกลายเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดในตลาดอีโคคาร์ ณ ปัจจุบัน และสามารถแชร์ส่วนแบ่งการตลาดรถกลุ่ม B-Segment ได้แบบครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว