'รถศูนย์' กับ 'รถเกรย์' ต่างกันอย่างไร?
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าศูนย์รถเกรย์ถูกปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก แต่รถเกรย์ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้นิยมรถหรูหลายคน แล้วรถเกรย์กับรถศูนย์ต่างกันอย่างไร? ซื้อรถจากที่ไหนดีกว่ากัน?
ศูนย์รถเกรย์ (Grey Market) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มองหารถยนต์นำเข้าหรูๆ ซึ่งสมัยก่อนศูนย์เกรย์ส่วนใหญ่จะเน้นทำตลาดรถยนต์ที่ไม่ได้นำเข้ามาจำหน่ายในไทยโดยผู้ผลิตอย่างเป็นทางการ (ที่นิยมมากในบ้านเราสมัยก่อน เช่น Toyota Granvia หรือ Toyota Land Cruiser เป็นต้น) โดยส่วนใหญ่หากเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ก็จะเป็นถูกนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่รถยุโรปมักจะถูกนำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้พวงมาลัยขวาแบบบ้านเรา ทำให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยมากกว่าการนำเข้าจากประเทศอื่น
แต่ถึงอย่างไร รถเกรย์ก็มีข้อแตกต่างจากรถศูนย์ที่นำเข้าโดยผู้ผลิตเอง ซึ่งสามารถสรุปข้อดี-ข้อเสียของการนำเข้าแต่ละแบบได้ดังนี้
รถเกรย์
ข้อดี - รถที่นำเข้ามาจากศูนย์เกรย์มักมีทางเลือกที่หลากหลายกว่า มีรุ่น-ยี่ห้อให้เลือกเยอะกว่า บางรุ่นอาจไม่ได้นำเข้าโดยผู้ผลิตอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังมีราคาจำหน่ายต่ำกว่ารถศูนย์ หรือหากมีราคาใกล้เคียงกัน ก็มักจะติดตั้งอ็อพชั่นมาให้มากกว่า ขณะที่บางศูนย์สามารถให้ลูกค้าเป็นผู้สั่งออเดอร์เองได้ ทำให้สามารถตกแต่งหรือเลือกอ็อพชั่นได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด
ข้อเสีย - ศูนย์เกรย์มักมีข้อด้อยในเรื่องการบริการหลังการขาย เนื่องจากศูนย์จะต้องดูแลรถยนต์มากกว่า 1 ยี่ห้อ ทำให้ไม่สามารถสต็อกอะไหล่ได้ทุกชิ้น ซึ่งส่วนมากอะไหล่ที่ศูนย์มีสต็อกไว้ จะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องเปลี่ยนเป็นประจำ เช่น น้ำมันเครื่อง, ผ้าเบรก, ของเหลวต่างๆ ฯลฯ ขณะที่อะไหล่เฉพาะจะต้องสั่งจากต่างประเทศเท่านั้น ทำให้การซ่อมบำรุงล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนั้น รถที่ศูนย์เกรย์นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษนั้น ส่วนมากไม่ผ่านการปรับจูนเพื่อให้รองรับน้ำมันที่ขายในประเทศไทย หากเป็นเครื่องยนต์ดีเซลก็มักจะพบปัญหาควันดำ รวมถึงต้องเติมสารพิเศษที่เรียกว่า AdBlue เพื่อให้ผ่านมาตรฐานไอเสียอันเข้มงวดของยุโรปด้วย ซึ่ง AdBlue ที่ว่าที่ยังไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทยแต่อย่างใด
ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์บริการรถยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ จะไม่รับรถยนต์ที่ซื้อจากศูนย์เกรย์เข้ารับเซอร์วิสเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ไม่มีสต็อกอะไหล่บางชิ้น หรือช่างไม่ชำนาญงานซ่อมบางอย่างที่ไม่มีขายในประเทศไทย เป็นต้น
รถศูนย์
ข้อดี - รถยนต์ที่นำเข้ามาจากศูนย์บริการโดยตรง จะถูกปรับจูนเพื่อให้เหมาะสมกับคุณภาพน้ำมันในประเทศไทย จึงไม่มีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ อีกทั้งยังได้รับการรับประกันคุณภาพตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ขณะที่ช่างเองก็สะดวกต่อการซ่อมบำรุง เนื่องจากมักมีอะไหล่พร้อมมากกว่า (นอกจากจะเป็นอะไหล่เฉพาะจริงๆ ก็อาจต้องรอนำเข้าเช่นกัน) อีกทั้งยังสามารถอัพเดตซอฟท์แวร์ต่างๆ ได้อย่างสะดวก เนื่องจากเป็นรถที่วางจำหน่ายในไทยโดยเฉพาะ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อกับประเทศผู้ผลิต
ข้อเสีย - รถศูนย์มักมีราคาจำหน่ายสูงกว่ารถเกรย์ หรือติดตั้งอ็อพชั่นมาให้น้อยกว่า รวมถึงมีทางเลือกมาให้น้อยกว่าด้วย เช่น ไม่สามารถเลือกสีตัวถังหรือสีภายในอย่างที่ต้องการ, ไม่สามารถเลือกเครื่องยนต์นอกเหนือจากที่นำเข้ามาจำหน่าย ฯลฯ
เห็นถึงข้อดี-ข้อเสียแบบนี้แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคนแล้วล่ะครับ