รีวิว Honda Connect ใหม่ อ็อพชั่นล้ำเชื่อมรถกับสมาร์ทโฟนในราคาแค่หลักพัน
ลองสัมผัส Honda Connect ใหม่ อ็อพชั่นล่าสุดที่เปลี่ยนรถธรรมดาๆ ให้สามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนได้ในงบประมาณแค่หลักพันบาทเท่านั้น
Honda Connect เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อตัวรถเข้ากับสมาร์ทโฟน เพื่อตรวจสอบสถานะรถยนต์และแสดงข้อมูลการขับขี่จากที่ไหนก็ได้ในโลก ขอเพียงแค่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ทำให้เจ้าของรถสามารถตรวจสอบสถานะรถยนต์ได้ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้อยู่กับตัวรถก็ตาม
ล่าสุด ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ก็ได้ส่งรถ Honda CR-V 2018 ใหม่ ที่ทำการติดตั้งเทคโนโลยี Honda Connect มาให้ Sanook! Auto ได้ทดลองใช้งานกัน จะเป็นอย่างไรไปติดตามกันเลยครับ
Honda Connect จัดว่าเป็นอุปกรณ์เสริมที่สามารถติดตั้งกับรถฮอนด้าที่วางจำหน่ายในไทยได้แทบทุกรุ่น ประกอบด้วย
- Brio/Brio Amaze รุ่นปี 2016-2017
- City/Jazz รุ่นปี 2014-2017
- Mobilio รุ่นปี 2014-2017
- BR-V รุ่นปี 2016-2017
- Civic รุ่นปี 2012-2017
- Civic Hatchback รุ่นปี 2017
- HR-V รุ่นปี 2015-2017
- CR-V รุ่นปี 2012-2017
- Accord รุ่นปี 2013-2017
- Odyssey รุ่นปี 2014-2017
วิธีการติดตั้งระบบ Honda Connect จะเป็นการใส่กล่องควบคุมขนาดเล็กที่เรียกว่า TCU (Telematics Control Unit) ซึ่งจะถูกซ่อนเอาไว้ในตัวรถ โดยกล่องที่ว่านี้จะทำหน้าที่คล้ายกล่องดำของเครื่องบิน คอยเก็บข้อมูลของตัวรถเอาไว้ตลอดเวลา จากนั้นจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ไปยังระบบ Cloud ซึ่งเจ้าของรถก็เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ‘Honda Connect’ ลงบนสมาร์ทโฟนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น iPhone หรือ Android ก็สามารถรองรับได้หมด (iOS เวอร์ชั่น 8.0 ขึ้นไป และ Android เวอร์ชั่น 4.0 ขึ้นไป)
ตัวกล่อง TCU จะมีระบบระบุพิกัด GPS มาให้ในตัว ซึ่งเป็นคนละตัวกับ GPS ที่ใช้สำหรับระบบเนวิเกเตอร์นะครับ เพราะในกล่อง TCU จะเป็นจีพีเอสแบบ Tracking ที่สามารถระบุพิกัดเพื่อค้นหาตัวรถได้ ต่างจากจีพีเอสที่มากับรถที่ใช้เพื่อการนำทางเท่านั้น
ซึ่งรถที่ถูกติดตั้งกล่อง TCU ดังกล่าว ภายในรถจะไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ให้เห็นแม้แต่นิดเดียว แม้กระทั่งหน้าจอเครื่องเสียงแบบ Advanced Touch ก็จะไม่ปรากฏไอคอนหรือแอพพลิเคชั่นใดๆ ที่ผิดแปลกไปจากก่อนติดตั้งเลย (ข้อนี้น่าจะถูกใจแม่บ้านที่อยากจับกิ๊กคุณสามีแน่นอน)
จากเรื่องของตัวรถ คราวนี้เรามาดูส่วนที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือ แอพพลิเคชั่น ‘Honda Connect’ บนโทรศัพท์มือถือนั่นเอง ซึ่งต้องลงทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนเริ่มใช้งาน พร้อมทั้งยืนยันการลงทะเบียนผ่านทาง E-mail จากนั้นก็พร้อมใช้งานแล้ว
หน้าสถานะรถยนต์
ทันทีที่แตะแอพพลิเคชั่น Honda Connect ก็จะเข้ามายังหน้าหลักที่จะแสดงรูปโปรไฟล์ พร้อมทั้งสถานะตัวรถต่างๆ ประกอบด้วย
- ปริมาณน้ำมันคงเหลือในถัง
- อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น
- สถานะสวิตช์กุญแจ
ซึ่งปริมาณน้ำมันคงเหลือในถังและอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นนั้น หากเครื่องยนต์ติดอยู่ก็จะดึงข้อมูลแบบเรียลไทม์มาแสดง แต่หากดับเครื่องยนต์ไปแล้ว ก็จะแสดงข้อมูลสุดท้ายก่อนดับเครื่องยนต์มาแสดง ดังนั้น แม้ว่าจะดับเครื่องยนต์ไปสักพักใหญ่ๆ แล้ว แถบอุณหภูมิก็อาจยังแสดงว่าเครื่องยนต์ร้อนอยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติครับ
ส่วนสถานะสวิตช์กุญแจจะแสดงเป็น ‘เปิด’ ต่อเมื่อเครื่องยนต์ติดอยู่หรืออยู่ในโหมด ACC แต่หากดับเครื่องยนต์แล้วก็จะขึ้นว่า ‘ปิด’
นอกจากนั้นยังสามารถแสดงสถานะรถยนต์, สถานะพิกัดรถยนต์ และสถานะถุงลมได้ ซึ่งหากระบบทุกอย่างทำงานสมบูรณ์ดี ก็จะขึ้นสถานะ ‘ปกติ’ แต่หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ระบบเบรกมือไฟฟ้าขัดข้อง, รถถูกเคลื่อนย้ายหรือตัดกระแสไฟ ฯลฯ ซึ่งในกรณีที่รถถูกเคลื่อนย้ายไปจากที่จอดเดิม ระบบจะแจ้งเตือนให้ทราบ พร้อมทั้งแสดงปุ่มให้เจ้าของรถสามารถเช็คพิกัดรถยนต์ได้ทันที
ในกรณีที่รถประสบอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้ถุงลมนิรภัยทำงาน นอกจากจะแจ้งเตือนผ่านแอพพลิเคชั่นแล้ว ตัวกล่อง TCU จะทำการส่งข้อมูลพิกัดรถยนต์ไปยังศูนย์บริการกลางของฮอนด้า ซึ่งศูนย์จะทำการติดต่อกลับไปยังเจ้าของรถเพื่อสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หากไม่สามารถติดต่อเจ้าของรถได้นั้น ก็จะทำการประสานงานไปยังหน่วยกู้ชีพ 1669 เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
หน้าข้อมูลการขับขี่
หน้าถัดมาจะเป็น ‘ข้อมูลการขับขี่’ ซึ่งเลือกได้จากไอคอนตรงแถบสีฟ้าที่เป็นรูปถนน หน้านี้จะเก็บข้อมูลการขับขี่เอาไว้ทั้งหมด โดยสามารเรียกดูได้ทั้ง ‘พฤติกรรมการขับขี่’ และ ‘บันทึกการเดินทาง’
โดยหน้าพฤติกรรมการขับขี่ จะเป็นการรวบรวมเอาพฤติกรรมในการขับขี่แต่ละครั้ง เช่น ในแต่ละวันขับรถไปทั้งหมดกี่ครั้ง แต่ละครั้งใช้ระยะทางเท่าไหร่, ขับกลางคืนกี่ชั่วโมง, ขับกลางวันกี่ชั่วโมง ฯลฯ
อีกทั้งยังสามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับความเร็วได้ เช่น ใช้ความเร็วสูงสุดเท่าไหร่, เร่งหรือเบรกกะทันหันมากน้อยขนาดไหน ซึ่งจุดนี้เองผู้ปกครองที่ซื้อรถให้ลูกขับไปเรียนหนังสือ สามารถตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ในแต่ละวันได้ทั้งหมด
ส่วนหน้าบันทึกการเดินทางนั้น ก็จะเก็บรายละเอียด เช่น ระยะทาง, วันและเวลา รวมถึงมี Route map ในแต่ละทริปให้ดูด้วย ซึ่งแต่ละทริปสามารถตั้งชื่อเก็บเอาไว้ใช้อ้างอิงในภายหลังได้ และยังสามารถโพสลงเฟซบุ๊คเพื่อแชร์ให้เพื่อนๆ ทราบได้อีกด้วย
หน้ากำหนดการเช็คระยะ
ในหน้าข้อมูลการขับขี่นั้น เราสามารถกดที่ไอคอนรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ ด้านล่าง เพื่อเปิดหน้าตรวจสอบการเข้าเช็คระยะได้ ซึ่งจะแสดงจำนวนวันและระยะทางที่เหลือก่อนนำรถเข้าเช็คระยะ ซึ่งข้อดีของฟังก์ชั่นนี้ คือ สามารถบอกได้ว่าการเช็คระยะครั้งต่อไป จะต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ทำให้สามารถวางแผนล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสม
อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบประวัติการเข้าใช้บริการที่ผ่านมาได้ ว่าเปลี่ยนอะไรไปแล้วบ้าง ค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาเป็นเงินเท่าไหร่ เป็นต้น
หน้าค้นหาเส้นทาง
สำหรับหน้าค้นหาเส้นทางจะสามารถใช้ค้นหาตำแหน่งตัวรถได้ ในกรณีที่ลืมว่าจอดรถไว้ที่ไหน หรือตรวจสอบว่ารถยังอยู่ที่เดิมอยู่หรือไม่ ก็ให้กดปุ่ม ‘แสดงพิกัดรถยนต์’ จากนั้นกล่อง TCU ของตัวรถจะส่งพิกัดมาในรูปแบบอีเมล์ เราเพียงแค่กดลิงค์ในอีเมล์นั้นๆ ก็จะแสดงตำแหน่งรถบนแผนที่ Google Maps ขึ้นมาทันที
นอกจากนั้น ยังสามารถค้นหาตำแหน่งจุดสำคัญต่างๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน, ร้านสะดวกซื้อ, ศูนย์บริการฮอนด้า, ตู้ ATM รวมถึงสามารถเซฟตำแหน่งที่ใช้งานเป็นประจำได้
นอกจากนั้น จะมีหน้า ‘โทรฉุกเฉิน’ ที่รวบรวมเอาหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเป็น เช่น ศูนย์บริการลูกค้า, บริษัทประกันภัย, สถานีตำรวจ, รถพยาบาล ฯลฯ ขณะที่หน้า ‘ข้อความ’ ก็จะแสดงเอาข่าวสาร หรือบริการแจ้งต่ออายุต่างๆ รวบรวมไว้ที่นี่
หากกล่าวโดยสรุปแล้ว Honda Connect เป็นอ็อพชั่นเสริมที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและอุ่นใจให้กับเจ้าของรถ แม้ว่าอาจจะไม่มีฟังก์ชั่นบางอย่างที่รถบางค่ายเริ่มมีให้ในขณะนี้ เช่น ล็อค-ปลดล็อคกุญแจจากระยะไกล หรือสตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยมือถือ ฯลฯ แต่แลกกับเงินที่เสียไปเพียง 5,900 บาท แล้วสามารถเช็คได้จากทั่วโลกว่ารถเรายังปลอดภัยดี เท่านี้ก็ถือว่าคุ้มค่าทีเดียวครับ
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ