แนะขั้นตอนการนำรถต่างประเทศมาใช้ชั่วคราวในไทย
รถยนต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศสามารถนำมาใช้งานชั่วคราวในประเทศไทยได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวสันทนาการ สามารถขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางบกโดยมีข้อกำหนด ดังนี้
รถที่สามารถขออนุญาตเพื่อนำมาใช้ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว
1.รถจักรยานยนต์
2.รถยนต์นั่ง ซึ่งมีจำนวนที่นั่งรวมที่นั่งผู้ขับรถไม่เกิน 9 ที่นั่ง (ไม่รวมรถที่มีลักษณะเป็นรถตู้)
3.รถยนต์บรรทุก ที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม
ประเภทรถที่ไม่สามารถขออนุญาตได้: รถตู้, รถบ้าน, รถบัส, รถบรรทุกขนาดใหญ่
การขออนุญาตนำรถจดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศไทย
ผู้ที่มีความประสงค์ต้องการนำรถจดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวจะต้องดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551
1.จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศหรือประเภททั่วไปเท่านั้น
2.ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารครบถ้วน ไม่น้อยไปกว่า 15 วันทำการ ก่อนวันแรกที่นำรถเข้ามาใช้ในประเทศไทย
3.ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวสามารถดำเนินการยื่นคำขออนุญาตและรับเครื่องหมายแสดงการใช้รถได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศไทย
เงื่อนไขในการกำกับดูแลรถต่างประเทศ
ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องจัดให้มีผู้นำทาง โดยจะเป็นมัคคุเทศก์หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายก็ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกและประสานงานให้ผู้ใช้รถเดินทางด้วยความปลอดภัย โดยจะต้องระบุลงในแบบฟอร์มหนังสือรับรองการกำกับดูแลการใช้รถ ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังนี้
1.รถไม่เกิน 5 คัน: ผู้นำทางอย่างน้อย 1 คน พร้อมรถยนต์นำทางอย่างน้อย 1 คัน
2.รถ 5-15 คัน: ผู้นำทางอย่างน้อย 2 คน พร้อมรถยนต์นำทางอย่างน้อย 2 คัน
3.รถ 16 คันขึ้นไป: ผู้นำทางอย่างน้อย 3 คน พร้อมรถยนต์นำทางอย่างน้อย 3 คัน
ผู้นำทางจะต้องเป็นคนสัญชาติไทยและรถยนต์ที่ใช้นำทางจะต้องเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยอย่างน้อย 1 คัน กล่าวคือ ในกรณีที่มีรถยนต์นำทางมากกว่า 1 คัน คันที่เหลืออาจเป็นรถที่จดทะเบียนต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตและอยู่ในกลุ่มที่เดินทางคณะเดียวกัน ซึ่งมีผู้นำทางร่วมนั่งไปด้วยก็ได้
เอกสารประกอบสำหรับการยื่นขออนุญาต
ในการขออนุญาตแต่ละครั้ง ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้
1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งรับรองจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทไว้ไม่เกิน 6 เดือน
2.ภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551
3.หนังสือมอบอำนาจ ติดอากรแสตมป์ 10 บาท ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวมิได้ดำเนินการด้วยตนเอง พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
4.หนังสือรับรองการกำกับดูแลการใช้รถของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
5.แบบคำขออนุญาตใช้รถในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
พร้อมแนบเอกสารเกี่ยวกับผู้ขออนุญาตใช้รถและรถดังต่อไปนี้
1.ภาพถ่ายหนังสือเดินทางของผู้ขออนุญาตใช้รถ ที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในกรณีที่ผู้ขอมีสัญชาติที่มิได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา จะต้องมีรายการตรวจลงตรามาด้วย
2.ภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถที่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย ที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน
3.ภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถ
4.หนังสือยินยอมจากเจ้าของรถ กรณีผู้ขออนุญาตใช้รถมิได้เป็นเจ้าของรถ
5.ภาพถ่ายหนังสือรับรองการผ่านการตรวจสภาพรถ
6.ภาพถ่ายตัวรถที่สามารถมองเห็นลักษณะรถ สีรถ และหมายเลขทะเบียนรถ อย่างน้อย 1 รูป
7.ภาพถ่ายหลักฐานการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
8.ภาพถ่ายหลักฐานการเอาประกันภัยประเภท 3 ซึ่งมีความคุ้มครองดังนี้
ความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลภายนอกไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาทต่อหนึ่งคนในแต่ละครั้ง
ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ในแต่ละครั้ง
9.หลักฐานแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง เช่น สถานที่พักและกำหนดการต่างๆ
10.หนังสือชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการใช้รถจดทะเบียนต่างประเทศในประเทศไทย
หากเอกสารใดไม่มีภาษาอังกฤษกำกับ จะต้องมีฉบับแปลอังกฤษหรือไทยรับรองโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้น ได้แก่ หน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสารหรือกระทรวงการต่างประเทศของประเทศนั้นๆ
อายุของเครื่องหมายแสดงการใช้รถ
ในการขออนุญาตแต่ละครั้ง รถคันหนึ่งสามารถขออนุญาตในแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 30 วัน และรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 60 วันต่อปีปฏิทิน
ใบอนุญาตขับรถที่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย
นอกเหนือจากใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบกแล้ว ใบอนุญาตขับรถที่สามารถใช้ได้ในประเทศไทยมีดังนี้
1.ใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน (ไม่รวมใบอนุญาตขับรถชั่วคราว)
2.ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ (International Driving Permit) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนนทำ ณ กรุงเจนีวา ค.ศ. 1949
หากผู้ที่ประสงค์จะขับขี่เพื่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่มีใบอนุญาตขับรถประเภทข้างต้น จะต้องติดต่อขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ชนิดอายุ 30 วัน) ภายในวันแรกที่นำรถเข้ามาใช้ในประเทศไทย ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดภายในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของด่านศุลกากรขาเข้า โดยผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวมีหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกในการจัดเตรียมเอกสารและนัดหมายสำนักงานขนส่งจังหวัดเป็นการล่วงหน้า