รีวิว MG3 2018 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ลองขับไกลถึงเซี่ยงไฮ้ ไฉไลน่าใช้กว่าเดิมเยอะ

รีวิว MG3 2018 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ลองขับไกลถึงเซี่ยงไฮ้ ไฉไลน่าใช้กว่าเดิมเยอะ

รีวิว MG3 2018 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ลองขับไกลถึงเซี่ยงไฮ้ ไฉไลน่าใช้กว่าเดิมเยอะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     MG3 2018 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ แม้ว่าจะถูกเปิดตัวในบ้านเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทางเอ็มจีก็ยังไม่ปล่อยรถทดสอบให้สื่อมวลชนได้มีโอกาสลองขับกันในตอนนี้

204

     แต่นับว่าเป็นโชคดีของ Sanook! Auto ที่ทางเอ็มจีได้เชิญเราเข้าร่วมงานแถลงสื่อมวลชนระดับภูมิภาคครั้งใหญ่ของ SAIC Motor ที่กรุงเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 27-28 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเราจะได้ทราบถึงแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคตอันยิ่งใหญ่ของแบรนด์ MG และ Maxus แล้ว เรายังได้ทดลองขับ MG3 โฉมไมเนอร์เชนจ์ใหม่นี้ก่อนใครอีกด้วย

     MG3 2018 โฉมไมเนอร์เชนจ์ถูกเปิดตัวเป็นแห่งแรกในโลกที่ประเทศจีนนี่แหละ จากนั้นจึงเปิดตัวในบ้านเราเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสเป็คและดีไซน์ระหว่างเวอร์ชั่นจีนและไทยมีความคล้ายคลึงกัน แต่กระนั้น เวอร์ชั่นไทยก็ยังคงถูกประกอบในโรงงานในไทยเอง ขณะที่เวอร์ชั่นจีนก็ถูกประกอบที่โรงงานในเมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อป้อนให้กับลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะ

208

     สำหรับการทดสอบ MG3 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ในครั้งนี้ ถือเสียว่าเป็นการทดลองขับกันในเบื้องต้น เพราะเราได้ทดลองขับกับแบบสั้นๆ บนสนามแข่ง Tianma International Circuit ซึ่งมีระยะทางต่อรอบประมาณ 2 กิโลเมตร

     MG3 2018 คันที่เรามีโอกาสทดสอบถูกติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ NSE 1.5 ลิตร Plus+ ซึ่งเป็นบล็อกเดียวกับที่วางจำหน่ายในบ้านเรานั่นแหละ รีดกำลังสูงสุดได้ 120 แรงม้า (PS) ขณะที่บ้านเราถูกลดเหลือ 112 แรงม้า (PS) ซึ่งเป็นผลจากการปรับจูนให้รองรับเชื้อเพลิง E85 ได้ แต่แรงบิดสูงสุดยังคงเท่ากันอยู่ที่ 150 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะลูกใหม่เรียบร้อย

205

     ขณะที่อุปกรณ์มาตรฐานของเวอร์ชั่นจีนก็ค่อนข้างคล้ายกับบ้านเรา เช่น ไฟหน้าโปรเจคเตอร์พร้อม Daytime Running Light แบบ LED, หลังคาซันรูฟ, พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบ 3 ก้าน, Cruise Control, ระบบปรับอากาศแบบปุ่มกด, ระบบอินโฟเทนเม้นท์ inkaLink (บ้านเราใช้ชื่อว่า i-SMART), กล้องมองภาพด้านหลังพร้อมเซ็นเซอร์กะระยะ, ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP เป็นต้น

207

     แม้ว่าบอดี้ของ MG3 2018 จะยังคงเดิม แต่มีการออกแบบหน้าตาให้ดูน่าใช้มากขึ้น โดยใช้แนวทางการออกแบบยุดใหม่ของเอ็มจีที่เรียกว่า Emotional Dynamism ที่เราเคยเห็นไปแล้วใน MG ZS ซึ่งการปรับเปลี่ยนที่ว่าช่วยให้ตัวรถดูโฉบเฉี่ยว ปราดเปรียวมากขึ้น จนน่าจะทำให้กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นหนุ่มสาววัยเริ่มต้นทำงาน รวมถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย หันกลับมาพิจารณาแบรนด์เอ็มจีเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเมื่อถึงคราวต้องซื้อรถยนต์ไว้ใช้งานสักคัน

210

     ขณะที่ห้องโดยสารภายในมีการปรับปรุงใหม่เช่นกัน ด้วยแผงคอนโซลดีไซน์ใหม่หมดจด พร้อมหน้าจออินโฟเทนเม้นท์ขนาดใหญ่ ซึ่งในบ้านเราจะมาพร้อมระบบเชื่อมต่อ i-SMART ที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อเช็คสถานะรถยนต์, เช็คตำแหน่งตัวรถ และฟังก์ชั่นอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่ง MG3 เป็นรถระดับ B-Segment เพียงรายเดียวในตลาดขณะนี้ ที่มีฟังก์ชั่นลักษณะนี้มาให้

     ส่วนเรื่องวัสดุและคุณภาพการประกอบภายในห้องโดยสารคงต้องขอเว้นไว้ก่อน เนื่องจากรถคันนี้ถูกประกอบจากโรงงานในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งแน่นอนว่าชิ้นส่วนหลายอย่างแตกต่างไปจากที่ผลิตในบ้านเรา

 

เริ่มทดสอบบนสนามแข่ง Tianma Internation Circuit

     เมื่อก้าวเข้ามานั่งภายในรถ MG3 2018 คันนี้ เรามีความรู้สึกคุ้นเคยมาจาก ZS ที่เคยทดสอบในเมืองไทยอยู่พอสมควร แต่มาในรูปแบบห้องโดยสารที่มีขนาดย่อส่วนลงมา แม้ว่าชิ้นส่วนต่างๆ ยังคงเน้นพลาสติกแข็ง แต่การจัดวางองค์ประกอบภายในก็ทำให้ดูนุ่มนวล ไม่แข็งทื่อ พวงมาลัยและฐานเกียร์วัสดุหนังช่วยเพิ่มความหรูขึ้นมาอีกนิด ขณะที่บรรยากาศภายในค่อนข้างโปร่งโล่ง อันเป็นผลจากการออกแบบตัวถังที่เน้นความเหลี่ยมสัน

220

     เราเริ่มออกตัวจากจุดสตาร์ท เครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตรของ MG3 ให้อัตราเร่งในระดับ “พอใช้ได้” แม้ไม่ได้แรงจี๊ดหลังติดเบาะแบบเครื่องยนต์ที่มีเทอร์โบ แต่ก็พอมีแรงบิดให้เค้นไปยาวๆ สมกับพิกัดเครื่องยนต์ในระดับนี้

     แต่จุดสำคัญก็คือ จังหวะการเปลี่ยนเกียร์ของเกียร์อัตโนมัติแบบ 4 สปีด ที่เปลี่ยนบุคลิกตัวรถไปจากโฉมก่อนไมเนอร์เชนจ์ที่ใช้เกียร์แบบ AMT ทำให้การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล จับจังหวะได้ง่ายและดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น แถมยังให้อารมณ์การขับขี่ที่สนุกสนานกว่าเกียร์ประเภท CVT

224

     ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ Torque Converter 4 สปีด ใหม่ ทำให้ MG3 สามารถลบจุดด้อยเดิมๆ เกี่ยวกับระบบเกียร์ได้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

     แต่กระนั้น หากเทียบกับคู่แข่งระดับ B-Segment ที่ใช้เกียร์แบบ Torque Converter อย่าง Mazda2 ก็ต้องยอมรับตามตรงว่า MG3 ยังทำได้ไม่ฉับไวเท่า เพราะเรายังสัมผัสได้ถึงความหน่วงๆ คล้ายกับที่พบใน MG ZS อยู่บ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงใดๆ เพราะเท่านี้ก็ถือว่าดีกว่ารุ่นเดิมพอสมควรแล้ว

226

     ดูเหมือนว่าสมองกลเกียร์ของ MG3 จะเน้นการขับขี่แบบประหยัด ดังนั้น การขับขี่ในโหมด D จะมีการเปลี่ยนเกียร์ขึ้นค่อนข้างเร็ว ทำให้อัตราเร่งไม่ฉับไวอย่างใจคิดนัก แต่หากต้องการเค้นแรงบิดเครื่องยนต์กันจริงๆ ก็สามารถผลักคันเกียร์ไปยังโหมด S ได้ ซึ่งจะทำให้เกียร์ตัดที่รอบเครื่องยนต์สูงขึ้น ช่วยรักษารอบเครื่องยนต์ให้สูงอยู่เสมอ มีแรงบิดให้เล่นทันทีที่กดคันเร่งลงไป ทำให้ขับขี่ได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น

     สิ่งสำคัญของ MG ที่ยังคงถ่ายทอดมาในรถคันนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ก็คือ ช่วงล่างที่สามารถเข้าโค้งได้อย่างฉับไว และค่อนข้างมีชีวิตชีวา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานล้อที่สั้นตามฉบับรถเล็ก ขณะที่ความนุ่มนวลของสปริงถูกเซ็ตมาในระดับกลางๆ คือ พอมีความนุ่มนวลให้สัมผัสอยู่บ้าง ไม่ถึงกับแข็งกระด้าง แม้ว่าน้ำหนักตัวรถที่เบาเพียง 1,100 กิโลกรัม จะทำให้มีอาการหวิวขณะเข้าโค้งแรงๆ อยู่นิดหน่อย แต่ก็ถือเป็นรถเล็กที่มีช่วงล่างดีที่สุดรุ่นหนึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกัน

225_1

     แม้ว่าเราจะได้สัมผัส MG3 ไมเนอร์เชนจ์กันเพียงสั้นๆ แถมยังเป็นสเป็คสำหรับวางจำหน่ายในประเทศจีน แต่ก็บอกได้เลยว่านี่คือการปรับไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ ที่ทำให้รถคันนี้กลับมาน่าสนใจมากขึ้นอย่างมาก จนเราเชื่อว่าน่าจะได้เห็นตัวเลขยอดขายแตะ 10,000 คัน นับตั้งแต่เปิดตัวจนถึงต้นปี 2019 อย่างที่ผู้บริหารของเอ็มจีประเทศไทยวางเป้าหมายเอาไว้จริงๆ

     ส่วนการรีวิว MG3 2018 เวอร์ชั่นไทยแบบเต็มๆ คาดว่าจะได้ติดตามกันช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ครับ หากคุณผู้อ่านมีข้อสงสัยเรื่องใด หรืออยากทราบจุดไหนของ MG3 2018 ใหม่เป็นพิเศษ สามารถแสดงความคิดเห็นเข้ามาได้เลยครับ เรายินดีจะหาคำตอบมาให้คุณผู้อ่านด้วยความเต็มใจ

223

     และอย่าลืมติดตามรีวิว MG3 2018 ไมเนอร์เชนจ์ฉบับเต็มเร็วๆ นี้ครับ

 

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ ของ รีวิว MG3 2018 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ลองขับไกลถึงเซี่ยงไฮ้ ไฉไลน่าใช้กว่าเดิมเยอะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook