ซื้อรถอย่าสับสน! All New กับ Minor Change
ใครที่กำลังมองหารถยนต์คันใหม่ป้ายแดง น่าจะเคยได้ยินคำโฆษณาจากค่ายรถต่างๆในการแถลงข่าวเปิดตัว ทั้งคำว่า All New ,โฉมใหม่ ,ปรับโฉมใหม่ รวมไปถึง Minor Change จนทำเอาหลายคนเข้าใจผิดว่าทั้งหมดคือการเปิดตัวรถโมเดลใหม่ล่าสุดของยี่ห้อนั้นๆ
เพื่อไม่ให้เป็นการสับสนและเข้าใจผิด กับคำโฆษณาของค่ายรถต่างๆในบ้านเรา Tonkit360 จะพาไปหาคำตอบว่าระหว่าง All New กับ Minor Change แท้จริงแล้วมันต่างกันอย่างไร ก่อนที่คุณจะตัดสินใจจ่ายเงินถอยรถออกจากโชว์รูม
ใหม่แค่ไหนถึงเรียกว่า All New
หากจะใช้คำว่า All New มาเป็นจุดขายในการเปิดตัวและการโฆษณานั้น หมายความว่ารถรุ่นนั้นจะต้องเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน โดยเฉพาะการออกแบบตัวถัง และคอนโซลด้านใน หรือที่บางคนอาจจะเรียกการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า Model Change ซึ่งตามปกติแล้วรถแต่ละรุ่นจะเปลี่ยนโฉมหรือ Model Change กันทุก 7-10 ปี
ยกตัวอย่าง เช่น รถยนต์ Honda Accord รูปโฉมปัจจุบัน ที่ขายในโชว์รูมบ้านเรา (ล่าสุด ณ เดือน มิถุนายน 2561) ถือเป็น Accord เจอเนอเรชั่นที่ 9 นับตั้งแต่ค่ายรถ Honda ผลิตรถยนต์รุ่นนี้ออกมา ซึ่งเป็นเวอร์ชั่น Minor Change ในปี 2016 ขณะที่ในต่างประเทศได้มีการเปิดตัว Accord เจอเนอเรชั่นที่ 10 ออกมาเรียบร้อยแล้ว
Accord เจเนอเรชั่น 9 เวอร์ชั่น Minor Change (รูปบน) กับ ว่าที่ All New Accord (รูปล่าง)
นั่นหมายความว่า หาก Accord เจอเนอเรชั่นที่ 10 เปิดตัวในเมืองไทย ถึงจะเรียกว่า All New Honda Accord ได้แบบเต็มปาก อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนโฉมที่เป็น All New หรือที่เรียกว่า Model Change นั้น ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ตัวใหม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับค่ายรถว่าจะมาพร้อมเครื่องยนต์ตัวใหม่ หรือยังคงใช้เครื่องบล็อกเดิมจากเจเนอเรชั่นที่ผ่านมา
Minor Change ปรับโฉมไม่ใช่เปลี่ยนโฉม
วงการรถยนต์บ้านเราน่าจะคุ้นหูกับคำว่า Minor Change มาตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรถที่มีการ Minor Change คือรถที่นำเอาโมเดลเดิมของรุ่นนั้นๆมา ปรับเปลี่ยนรายละเอียดอื่นๆยกเว้นตัวถัง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือกระจังหน้า ไฟหน้า และไฟท้าย รวมไปถึงเครื่องยนต์และเกียร์ ซึ่งสำหรับรถยุโรปบางยี่ห้ออาจใช้คำว่า Facelift แทนที่ Minor Change ในการปรับโฉมดังกล่าว
Focus เวอร์ชั่น ก่อนและหลัง Minor Change
ฉะนั้นหากจะพูดให้ชัดเจน และเห็นภาพตรงกันสำหรับรถ Minor Change หรือ Facelift ก็คือการนำรถเจเนอเรชั่นเดิมมาปรับโฉม (ย้ำว่า ปรับ ไม่ใช่เปลี่ยนโฉม) โดยยังคงตัวถังเดิมเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น Ford Focus รุ่นที่ขายในเมืองไทย ณ ปัจจุบัน (ล่าสุด ณ เดือน มิถุนายน 2561) คือรถที่ Minor Change ในปี 2015 ที่ยังคงใช้ตัวถังเดิม แต่มีการปรับกระจังหน้า รวมถึงเปลี่ยนเกียร์ลูกใหม่เพื่อแก้ปัญหาเกียร์กระตุกในรุ่นก่อนหน้า
ทั้งหมดนี้คือความหมายของการปรับ และเปลี่ยนโฉม รถยนต์ในตลาดรถยนต์บ้านเรา ที่ผู้ซื้อควรที่จะต้องรู้เท่าทันค่ายรถ รวมถึงคำโฆษณา เพราะบางที รถที่โฆษณาว่า All New บางรุ่น อาจไม่ All New เสมอไป