5 เหตุผลที่รถไฟฟ้ายังไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยตอนนี้

5 เหตุผลที่รถไฟฟ้ายังไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยตอนนี้

5 เหตุผลที่รถไฟฟ้ายังไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยตอนนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นเทรนด์ที่คนทั่วโลกกำลังจับตามองในขณะนี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย แต่ก็ยังมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้มันยังไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในบ้านเรา ณ ตอนนี้

Sanook! Auto ขอชี้เป้า 5 เหตุผลที่รถไฟฟ้ายังไม่เหมาะสำหรับเมืองไทย ซึ่งหลายคนอาจมองข้ามไป

101

1.โครงสร้างสถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุม

     รถยนต์ไฟฟ้ามีระยะทางวิ่งจำกัดต่อการชาร์จแต่ละครั้ง ยิ่งขับเร็วมาก แบตเตอรี่ยิ่งหมดเร็ว ยิ่งเร่งแอร์เย็นมาก แบตเตอรี่ก็ยิ่งหมดเร็วเช่นกัน ดังนั้น การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องมีโครงสร้างสถานีชาร์จครอบคลุมไม่แพ้กับปั๊มน้ำมัน ยิ่งจำนวนรถมีมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งต้องมีสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

     ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟยังคงมีเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลัก แถมยังจำกัดอยู่เฉพาะห้างสรรพสินค้าหรืออาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ แถมยังเป็นระบบชาร์จปกติที่เหมาะสำหรับรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริด ดังนั้น การนำรถไฟฟ้าขับไปต่างจังหวัดแบบรถน้ำมันยังคงเป็นเรื่องลำบากในขณะนี้

2.ราคาสูงเกินไป

     จริงอยู่ที่รถไฟฟ้าไม่ต้องใช้น้ำมัน แต่ราคาค่าตัวของรถไฟฟ้าเองยังสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น Tesla Model S ที่เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน มีราคาเริ่มต้นสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ราว 2,360,000 บาท (ยังไม่รวมอ็อพชั่นเสริมต่างๆ) ดังนั้น ผู้ที่สามารถครอบครองรถรุ่นนี้ได้ยังคงจำกัดเฉพาะลูกค้ากลุ่มบนที่มีกำลังซื้อสูงเท่านั้น

     ขณะที่รถไฟฟ้ารุ่นเล็กก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยมีราคาค่าตัวประมาณ 1 ล้านบาทเริ่มต้น เช่น Nissan Leaf, Tesla Model 3 และ Chevrolet Bolt EV ฯลฯ แต่ก็แลกมาด้วยระยะทางวิ่งน้อยกว่า และตัวถังที่มีขนาดเล็กกว่ารถรุ่นอื่นในระดับราคาเดียวกัน

     แต่ทั้งหมดนี้ เรายังไม่ได้พูดถึงภาษีสรรพสามิตและภาษีนำเข้า ที่ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงกว่านี้ด้วยนะครับ

3.ใช้ระยะเวลาชาร์จนาน

     โดยปกติเราใช้เวลาเติมน้ำมันแต่ละครั้งประมาณ 3-5 นาที ก็เสร็จสิ้นกระบวนการตั้งแต่นำรถจอดหน้าหัวจ่าย ไปจนถึงชำระเงิน ขณะที่การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องใช้เวลาอย่างต่ำถึง 30 นาที สำหรับระบบ Quick Charge และนานขึ้นเป็นหลายชั่วโมงสำหรับการชาร์จแบบปกติ นั่นหมายความว่า สถานีชาร์จไฟจะต้องมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเพียงพอที่ลูกค้าจะสามารถรอได้นานขนาดนั้น

     ลองคิดดูว่าหากวันหนึ่งบ้านเรามีสถานีชาร์จครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว แต่เมื่อถึงวันเทศกาลที่ผู้คนจำนวนมากเดินทางออกต่างจังหวัด เรากลับต้องไปต่อคิวเพื่อชาร์จไฟ แถมยังต้องรอเวลาชาร์จกว่าครึ่งชั่วโมง หากไปจังหวัดไกลๆ ก็ต้องวนเวียนทำเช่นนี้ 2-3 ครั้ง เพื่อให้เดินทางไปถึงจุดหมาย ขณะที่รถน้ำมันใช้เวลาเติมไม่ถึง 5 นาทีก็เสร็จแล้ว แบบนี้คนใช้รถไฟฟ้าคงได้แต่มองรถน้ำมันวิ่งเข้ามาเติมน้ำมันชั่วครู่แล้วก็จากไปคันแล้วคันเล่าตาปริบๆ อย่างแน่นอน

100

4.กระบวนการกำจัดแบตเตอรี่ใช้แล้วยังไม่เป็นรูปธรรม

     สิ่งสำคัญไม่แพ้กระบวนการผลิต นั่นคือ "กระบวนการกำจัดแบตเตอรี่" ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไปอย่างสิ้นเชิง เพราะปัจจุบันการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพทำได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้ธาตุ Rare Earth ซึ่งเป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ความจุสูง, จอทีวี, วงจรไฟฟ้า และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้านานาชนิด ที่หายากและมีราคาสูงสมกับชื่อมันนั่นเอง

5.อาจมีคนตกงานนับหมื่นคน

     หลายคนอาจสงสัยว่ารถไฟฟ้าจะเกี่ยวอะไรกับการตกงาน แต่อย่าลืมว่ารถยนต์ในปัจจุบันมีชิ้นส่วนที่อาศัยฝีมือแรงงานจำนวนมาก หากวันหนึ่งค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ ประกาศยุติรถยนต์น้ำมันแล้วเดินหน้ารถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ นั่นแปลว่าจะมีซัพพลายเออร์จำนวนมากที่ต้องลดกำลังการผลิต หรืออย่างแย่ที่สุดก็คือปิดตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานมากกว่าที่คิด

     จริงอยู่ที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็นบทบาทสำคัญของท้องถนนในอนาคต เพื่อตอบโจทย์ปัญหาน้ำมันที่กำลังขาดแคลนลงไปเรื่อยๆ ทุกวินาที แต่สิ่งสำคัญคือ "เวลาที่เหมาะสม" ที่จะทำให้การมาถึงของรถไฟฟ้าส่งผลกระทบในวงกว้างให้น้อยที่สุดนั่นเองครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook