รีวิว Mitsubishi Xpander 2018 ใหม่ สวย คุ้มค่า น่าใช้ พ่วงฟังก์ชั่นหลากหลาย
Mitsubishi Xpander 2018 เป็นรถยนต์อีกหนึ่งรุ่นของปีนี้ที่หลายคนต่างเฝ้ารอ ด้วยดีไซน์ที่สวยแหวกแนว แถมยังเป็นเซ็กเม้นต์ใหม่ของมิตซูบิชิที่พยายามจะตีตลาดในบ้านเรา แต่ข้อกังขาที่ว่า Xpander มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร กับเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด จะเพียงพอกับการใช้งานจริงหรือไม่นั้น เรามาพิสูจน์กันครับ
เป็นโอกาสอันดีที่ Sanook! Auto ได้มาสัมผัส Mitsubishi Xpander 2018 ใหม่ บนเส้นทางบุรีรัมย์ – กรุงเทพฯ ก่อนการเปิดตัวจริงจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ถึงกระนั้น มิตซูบิชิ ประเทศไทย ก็ไม่ได้ปกปิดข้อมูลหรืออ็อพชั่นใดๆ ทั้งสิ้น โดยผู้บริหารของมิตซูบิชิบอกกับเราว่า รถคันที่เราได้มีโอกาสทดสอบขับครั้งนี้ เป็นสเป็คเดียวกับที่จะวางจำหน่ายในไทยเป๊ะๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้แน่นอน
Mitsubishi Xpander 2018 ถูกเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ที่ประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของรถกลุ่มเอ็มพีวี ปัจจุบันเฉพาะประเทศอินโดนีเซียมียอดส่งมอบไปแล้วถึง 50,000 คัน นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ถือว่าเป็นรถที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรุ่นหนึ่งของมิตซูบิชิเลยทีเดียว
สำหรับ Mitsubishi Xpander ในบ้านเราถูกวางไว้เป็นรถประเภทครอสโอเวอร์ ที่สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย (แม้ว่าในอินโดนีเซียจะถูกเรียกว่าเป็น MPV ก็ตามที) ซึ่งไม่ครอสโอเวอร์เพียงเฉพาะการใช้งานเท่านั้น แต่ยังรวมไปกลุ่มลูกค้าที่มิตซูบิชิตั้งเป้าหวังชิงส่วนแบ่งด้วย เพราะทางผู้บริหารเองตั้งเป้าให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มรถเอ็มพีวีรุ่นเล็กอย่าง Toyota Sienta และ Honda BR-V และยังหวังชิงส่วนแบ่งเล็กๆ จากกลุ่มเอสยูวีไซส์เล็กอย่าง Toyota C-HR และ Honda HR-V ด้วยที่กำลังมาแรงในปัจจุบันด้วย
Mitsubishi Xpander 2018 จะวางจำหน่ายในบ้านเราจำนวน 2 รุ่นย่อย ได้แก่ GLS-LTD และ GT โดยรุ่น GT เป็นรุ่นท็อปสุด และมีความแตกต่างจากรุ่น GLS-LTD อยู่พอสมควร
มิติตัวถัง Mitsubishi Xpander 2018 รุ่น GT
ความยาว: 4,475 มม. (BR-V 4,456 Sienta 4,235)
ความกว้าง: 1,750 มม. (BR-V 1,735 Sienta 1,695)
ความสูง: 1,700 มม. (BR-V 1,666 Sienta 1,695)
ความยาวฐานล้อ: 2,775 มม. (BR-V 2,655 Sienta 2,750)
ความสูงจากพื้นถนน: 205 มม. (BR-V 201 Sienta 170)
จะเห็นได้ว่ามิติตัวถังและความยาวฐานล้อของ Mitsubishi Xpander มีขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งในระดับราคาเดียวกันทั้งหมด ขณะที่ความสูงจากพื้นถนนใกล้เคียงกับ Honda BR-V ขณะที่ Sienta ถูกวางให้เป็นเอ็มพีวีแท้ๆ จึงพ่ายไปในเรื่องการใช้งานแบบลุยๆ บนทางทุรกันดาร
ดีไซน์ภายนอกของ Xpander เป็นผลพวงจาก Design language ใหม่ของมิตซูบิชิ โดยยังคงเอกลักษณ์ด้านหน้าที่เรียกว่า Dynamic Shield เช่นเดียวกับ Pajero Sport ออกแบบไฟหน้าให้มีลักษณะเป็นสองชั้น โดยชั้นบนเป็นไฟหรี่ LED (น่าเสียดายที่ไม่สามารถใช้งานเป็น Daytime Running Light ได้) ชั้นล่างเป็นไฟหลักแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์ฮาโลเจน พร้อมด้วยไฟเลี้ยวขนาดใหญ่ ขณะที่รุ่น GT จะมีไฟตัดหมอกทรงกลมให้ด้วย
ตัวถังด้านข้างออกแบบให้มีเส้นสายดูชัดเจน ช่วยเพิ่มมิติตัวถังให้ดูบึกบึนแข็งแรง เสา D-Pillar ถูกออกแบบให้มีแถบสีดำเพื่อเพิ่มความต่อเนื่องจากด้านข้างไปยังประตูหลัง โดยรวมทำให้ตัวรถดูทันสมัยมากขึ้น ขณะที่ไฟท้ายเป็นแบบ LED ดีไซน์รูปตัว L มาพร้อมไฟถอยหลังแบบ LED เช่นกัน ขณะที่ไฟเบรกและไฟเลี้ยวยังคงเป็นหลอดไส้ธรรมดา ส่วนไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ถูกติดตั้งไว้กับสปอยเลอร์
ตัวถังรอบคันถูกตกแต่งด้วยแผงกันกระแทกสีเงินตัดกับสีตัวรถ ทั้งด้านหน้า, ด้านหลัง และด้านข้าง มาพร้อมล้ออัลลอยสีทูโทนขนาด 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด 205/55 R16 ซึ่งเป็นไซส์พิมพ์นิยม สามารถหาเปลี่ยนได้ทั่วไป
ภายในห้องโดยสารของ เอ็กซ์แพนเดอร์ ถูกตกแต่งเน้นโทนสีเทา-ดำ เบาะนั่งของทั้ง 2 รุ่นย่อยเป็นแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง โดยรุ่น GT ถูกหุ้มด้วยวัสดุหนัง ขณะที่ GLS-LTD หุ้มด้วยผ้า
ตัวเบาะนั่งผู้ขับขี่สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ แต่จะยกขึ้นลงได้เฉพาะช่วงรองสะโพกเท่านั้น ขณะที่ตัวเบาะช่วงหน้าที่ไว้ซัพพอร์ตต้นขาจะไม่สามารถขยับขึ้น-ลงได้ ต่างจากรถรุ่นอื่นๆ ที่มักจะยกขึ้น-ลงได้ทั้งเบาะ ส่วนเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารปรับได้ 4 ทิศทางตามปกติ
เบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถปรับพับแบบ 40:20:40 ได้ โดยไม่มีที่วางแขนมาให้ หากจะวางแขนจริงๆ ก็ต้องพับส่วน 20 ที่ว่าลงมา ก็จะได้เป็นที่วางแขนขนาดพอเหมาะ แต่ก็จะมีช่องโบ๋ๆ ทะลุไปยังเบาะนั่งแถวที่ 3 ให้ดูเล่น ซึ่งตำแหน่งที่นั่งตรงกลางของเบาะนั่งแถวที่ 2 ไม่มีพนักพิงศีรษะมาให้อีกต่างหาก ดังนั้น หากใครต้องนั่งจุดนี้แบบยาวๆ คงต้องมีเมื่อยคอกันบ้างล่ะ
แต่จุดเด่นของเบาะนั่งแถวที่ 2 อยู่ตรงที่มันสามารถขยับขึ้นหน้า-หลังได้ ทำให้สามารถเข้าออกแถว 3 ได้สะดวกมากขึ้น และช่วยเพิ่มพื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารแถวหลังสุดได้
ส่วนเบาะนั่งแถวที่ 3 สามารถปรับพับแบบ 50:50 มีพนักพิงศีรษะให้ 2 ตำแหน่ง และสามารถปรับเอนได้พอประมาณ
ส่วนใครสงสัยว่าแถวหลังสุดจะนั่งได้จริงหรือไม่นั้น บอกได้เลยว่า ตัวผมเองที่มีความสูง 173 เซนติเมตร สามารถนั่งโดยสารได้อย่างสบายๆ ไม่อึดอัด แต่ในที่นี้เบาะนั่งแถวที่ 2 จะต้องขยับขึ้นไปด้านหน้าเล็กน้อย จะช่วยให้มีพื้นที่วางขาเพิ่มขึ้น ขณะที่ศีรษะเองก็เกือบแตะเพดานพอดีในตำแหน่งที่เอนเบาะไปด้านหลังจนสุด ส่วนท่านั่งมีการชันเข่าเล็กน้อย เนื่องจากใต้ตัวถังที่เรานั่งอยู่นั้น เป็นพื้นที่เก็บล้ออะไหล่ จึงมีการเบียดเข้ามายังห้องโดยสารอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วสามารถนั่งได้ ไม่อึดอัดอย่างที่คิดครับ
หากเทียบพื้นที่แถว 3 กับคู่แข่งในระดับราคาเดียวกัน ก็พอจะบอกได้ว่า Xpander นั่งสบายที่สุดแล้ว หากอยากสบายกว่านี้คงต้องไปเล่น Toyota Alphard/Vellfire ที่มีค่าตัวต่างกัน 5 เท่าแล้วล่ะครับ
สำหรับอุปกรณ์มาตรฐานของ Mitsubishi Xpander ถูกจัดมาให้แบบครบๆ ในระดับราคานี้ เช่น กระจกข้างปรับพับด้วยไฟฟ้า, มาตรวัดขับขี่แบบ High Contrast พร้อมจอ MID แบบ TFT สีขนาด 4.2 นิ้ว, พวงมาลัยหุ้มหนังมัลติฟังก์ชั่น 3 ก้าน ปรับขึ้น-ลง เข้า-ออกได้, Cruise Control, ปุ่มรับ-วางสารโทรศัพท์บนพวงมาลัย, กุญแจ KOS พร้อมปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์, กระจกหน้าต่างขึ้น-ลงอัตโนมัติฝั่งคนขับ, ระบบปรับอากาศแบบแมนนวล พร้อมฮีทเตอร์, ระบบปรับอากาศสำหรับผู้โดยสารตอนหลังแบบอิสระ ติดตั้งเหนือเพดาน เป็นต้น
เครื่องเสียงของรุ่น GT เป็นแบบหน้าจอสัมผัสขนาด 6.2 นิ้ว รองรับ DVD/MP3 และ Bluetooth ได้ พร้อมพอร์ต USB และ AUX ติดตั้งอยู่บนตัวฟร้อนท์ ซึ่งข้อเสียอยู่ที่จะมีสายระเกะระกะบ้างเวลาใช้งานพอร์ตเหล่านี้ โดยเครื่องเสียงชุดนี้เป็นของโซนี่ มาพร้อมลำโพงทั้งหมด 6 จุด ซึ่งคุณภาพเสียงถือว่าพอใช้ได้ มีเบสให้สัมผัสได้อยู่เล็กๆ และยังสามารถปรับอีควอไลเซอร์ได้เองด้วย
ด้านความอเนกประสงค์ของ Xpander มีที่วางแก้วน้ำให้ทั้ง 3 แถว ระหว่างเบาะนั่งคู่หน้าเป็นกล่องเก็บของพร้อมฝาปิดแบบสไลด์ แต่น่าเสียดายตรงที่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้วางแขนแต่อย่างใด เหนือเพดานติดตั้งราวจับมาให้ 5 ตำแหน่ง ช่องจ่ายไฟขนาด 12 โวลต์มีให้ 3 ตำแหน่ง (แผงคอนโซลหน้า, ในกล่องเก็บของระหว่างเบาะหน้า และบริเวณเบาะนั่งแถวที่ 3) รวมถึงช่องเก็บของหลังเบาะผู้โดยสารด้านหน้า ถูกออกแบบให้มีช่องเล็กๆ ที่สามารถเสียบไอแพดหรือสมาร์ทโฟนได้
วัสดุภายในห้องโดยสารถูกเน้นพลาสติกแข็งแทบทั้งหมด แต่ก็มีการขึ้นลายให้มีลักษณะคล้ายกับวัสดุหนัง พร้อมทั้งใช้สีเงินตัดกับห้องโดยสารโทนสีดำ ทำให้ตัวรถดูมีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดดีในการควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงจนเกินไป แต่ก็ยังได้ภาพลักษณ์เช่นเดียวกับรถราคาสูงกว่า แม้ว่าสัมผัสของมันจริงๆ จะแข็งกระด้างแทบจะทั้งห้องโดยสารก็ตามที
ด้านระบบความปลอดภัยก็อยู่ในระดับมาตรฐานของรถสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ระบบเบรก ABS/EBD/BA, ระบบควบคุมเสถียรภาพ ASC, ระบบป้องกันการลื่นไถล TCL, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA, ไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS, ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า, เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุดทั้ง 7 ที่นั่ง พร้อมระบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติคู่หน้า, จุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX และกล้องมองภาพขณะถอยหลัง เป็นต้น
ขุมพลังของ Mitsubishi Xpander 2018 เป็นเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อมปุ่ม Overdrive รองรับเชื้อเพลิงทางเลือกสูงสุด E20
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง และเหล็กค้ำหัวโช๊ค ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม ติดตั้งพวงมาลัยไฟฟ้า EPS พร้อมระบบเบรกด้านหน้าแบบดิสก์ ด้านหลังแบบดรัม
ถึงเวลาที่เราจะเริ่มทดสอบขับกันเสียที
เราเริ่มออกตัวกันที่โรงแรม X2 Vibe จ.บุรีรัมย์ โดยมีโอกาสทดสอบในฐานะผู้โดยสารด้านหลังกันก่อน ซึ่งตำแหน่งเบาะนั่งแถวที่ 2 นั้น สามารถปรับเอนได้เล็กน้อย ช่วยเพิ่มความสบายในการโดยสารเป็นระยะทางไกลๆ ซึ่งจุดนี้น่าจะเหมาะสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้สูงวัย ที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นระยะเวลานานๆ
ขณะที่แรงสะเทือนของช่วงล่างถูกส่งมาให้สัมผัสอยู่พอประมาณ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลจากการออกแบบช่วงล่างให้ลดการโคลงตัวขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง ขณะที่เสียงจากพื้นถนนนั้น เนื่องจากวันที่เราทดสอบมีฝนโปรยปรายตลอดทาง ก็พอจะได้ยินเสียงน้ำที่ถูกล้อพัดกระเซ็นมาให้ได้ยินอยู่บ้าง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในจุดที่รับได้ เพราะยังสามารถพูดคุยกันภายในรถด้วยระดับเสียงปกติ ไม่ต้องถึงขั้นเพิ่มความดังในการพูดแต่อย่างใด
ส่วนที่แอร์เหนือเพดานให้ความชุ่มฉ่ำเต็มพิกัด บนเราต้องปิดแอร์กันไปเลยทีเดียว แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพอากาศที่มีฝนโปรยปรายอยู่ตลอด แต่กระนั้น เบาะนั่งแถวที่ 2 และ 3 ก็ไม่น่ามีปัญหาใดๆ แม้ว่าจะเป็นวันที่มีอากาศร้อน ด้วยแรงลมที่ถูกเป่าออกมาอย่างเหลือเฟือ
จากนั้นผู้เขียนได้สลับมาเป็นผู้ขับบ้าง ซึ่งความรู้สึกแรกในตำแหน่งเบาะนั่งผู้ขับขี่ ให้ความรู้สึกกระเดียดไปทางรถเอ็มพีวีอยู่พอสมควร (แม้ว่ามิตซูบิชิประเทศไทยจะเคลมว่าเป็นครอสโอเวอร์ก็เถอะ) เนื่องจากตำแหน่งตัวเบาะค่อนข้างสูง แม้ว่าจะปรับให้ต่ำสุด ก็จะขยับเฉพาะช่วงสะโพกเท่านั้น ไม่ได้ปรับตัวเบาะลงมาเหมือนกับรถรุ่นอื่นๆ
อัตราเร่งของ Xpander ช่วงตีนต้นไม่อืดอย่างที่คิด เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร ที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวถัง 1.2 ตัน พร้อมกับผู้โดยสารรวมคนขับ 4 คน ขณะที่เกียร์ 4 สปีด ถูกตั้งอัตราทดให้ค่อนข้างห่างกัน ทำให้การเปลี่ยนเกียร์มีการเสียจังหวะอยู่นิดๆ เพราะรอบเครื่องยนต์ที่ตัดลงมาเยอะ แต่ก็ยังให้ความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ในเกณฑ์ดี ไม่มีการกระตุกหรือกระโชกโฮกฮากให้เห็น
ที่ความเร็วคงที่ 100 กม./ชม. ในตำแหน่งเกียร์ 4 ใช้รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 2,500 รอบโดยประมาณ ขณะที่ความเร็ว 120 กม./ชม. จะใช้รอบเครื่องยนต์ประมาณ 3,000 รอบ ซึ่งแม้ว่าตัวเลขจะดูสูงไปนิดหากเทียบกับเกียร์แบบ CVT แต่ก็ถือว่ายังใช้งานได้สบายๆ ไม่เค้นกำลังเครื่องยนต์มากจนเกินไปนัก
หากถามว่าทำไมมิตซูบิชิ ประเทศไทย จึงเลือกเอาเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะมาลง แทนที่จะเป็นเกียร์ 5 จังหวะ หรือเกียร์แบบ CVT ทางผู้บริหารเองก็ให้คำตอบว่า เนื่องจาก Xpander ถูกพัฒนามาเพื่อเน้นทำตลาดในอินโดนีเซียเป็นหลัก ซึ่งฝั่งนั้นต้องการรถที่เน้นความทนทาน ดูแลรักษาง่าย ไม่เน้นอัตราสิ้นเปลืองหรือการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนกับบ้านเรา บวกกับรถรุ่นนี้ที่ถูกประกอบในอินโดนีเซียแบบทั้งคัน จึงเป็นสาเหตุให้เราต้องจำใจรับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะลูกนี้ไปด้วยนั่นเอง
ขณะที่ช่วงล่างสำหรับตำแหน่งผู้โดยสารตอนหน้า น่าแปลกใจที่ทำได้อย่างนุ่มนวลกว่าที่เราสัมผัสกันในแถวที่ 2 การดูดซับแรงสะเทือนทำได้ค่อนข้างดีในระดับเดียวกับเอ็มพีวีรุ่นใหญ่ ขณะที่ความมั่นคงที่ความเร็วสูงก็ทำได้ดีเช่นกัน แม้ว่าเราจะขับด้วยความเร็วสูงถึง 120 – 140 กม./ชม. ก็ยังให้การควบคุมได้อย่างมั่นใจ แม้ว่าน้ำหนักพวงมาลัยจะเริ่มเบาไปนิดๆ ก็ตาม
สรุป Mitsubishi Xpander 2018 ถือเป็นรถที่น่าสนใจมากเมื่อเทียบกับรถประเภทเอ็มีวีที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซียด้วยกัน ด้วยดีไซน์ที่โดดเด่นบนท้องถนน ความกว้างขวางของห้องโดยสารที่มีให้อย่างเหลือเฟือ อ็อพชั่นที่มีให้แบบครบๆ สมรรถนะที่หลายคนเป็นห่วงกัน ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ที่เหลือก็เป็นเรื่องของราคาจำหน่าย ว่ามิตซูบิชิจะเปิดไว้ที่เท่าไหร่ แต่กระนั้น รุ่นท็อปสุดก็คาดว่าจะไม่เกิน 8.9 แสนบาท
ส่วนการเปิดตัว Mitsubishi Xpander 2018 ใหม่ จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เตรียมอดใจรอกันให้ดีครับ
อัลบั้มภาพ 56 ภาพ