ขนส่งฯ แจงเพิ่มโทษไม่พกใบขับขี่ปรับ 5 หมื่น เพื่อสร้างวินัยหวังลดอุบัติเหตุ
กรมการขนส่งทางบกชี้แจงกรณีขอแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษกรณีความผิดเกี่ยวกับใบขับขี่ "ไม่พกใบขับขี่-ใช้ใบขับขี่หมดอายุ" โทษปรับสูงสุด 50,000 บาท เพื่อหวังสร้างวินัยการขับขี่ เพิ่มความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยพบว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 34 สูงกว่าผู้มีใบอนุญาตขับขี่ถึงสองเท่า และข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 15-19 ปี เป็นกลุ่มอายุที่มีการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนสูงสุดเฉลี่ยปีละ 1,688 คน
ขณะที่ต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยในการใช้รถ เช่น ญี่ปุ่น มีโทษปรับกรณีขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาตสูงสุดถึง 300,000 เยน หรือ 88,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี ตัดแต้ม 12 คะแนน ส่วนสหรัฐอเมริกามีโทษปรับสูงสุด 25,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 800,000 บาท จำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกบันทึกประวัติตลอดชีวิต
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้มีการปรับปรุงแก้กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เข้ารวมเป็นฉบับเดียวกัน พร้อมทั้งปรับบทลงโทษความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ ปรับโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท จากเดิมตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และพ.ร.บ.ขนส่ง จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ความผิดเกี่ยวกับการขับขี่ในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ, ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบขับขี่ หรือถูกยึดใบอนุญาต จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท จากเดิมตาม พ.ร.บ.รถยนต์มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท พ.ร.บ.ขนส่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และพ.ร.บ.จราจร มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาต ปรับโทษสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท จากเดิมตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และพ.ร.บ.ขนส่ง ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ทั้งนี้ พ.ร.บ.การขนส่งฉบับใหม่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เพื่อทำให้ผู้ขับขี่ตระหนักและปฏิบัติตามกฎจราจรมากขึ้น