เครดิตบูโร ไม่ใช่แบล็กลิสต์ ความเข้าใจผิดของคนอยากมีรถ
หลายคนที่กำลังจะซื้อรถ หรือแม้กระทั่งซื้อบ้าน หรือทำธุรกรรมทางเงินอะไรก็แล้วแต่ อาจมีความสงสัยเกี่ยวกับคำว่าแบล็กลิสต์ หรือเครดิตบูโร กลัวว่าจะไม่สามารถขออนุมัติสินเชื่อได้ แต่ความจริงแล้วคำสองคำนี้ มีความหมายต่างกันอย่างชัดเจน และเครดิตบูโรก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแบล็กลิสต์ด้วย!
เครดิตบูโร คืออะไร?
เครดิตบูโร คือชื่อเรียกของ "บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด" หรือ "National Credit Bureau" ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวมข้อมูลเครดิตจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ซึ่งสถาบันการเงินและเจ้าของข้อมูลสามารถเรียกดูรายงานข้อมูลได้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในรายงานจะระบุพฤติกรรมการชำระเงิน ทั้งประวัติดี ประวัติชำระล่าช้า เพื่อให้สถาบันการเงินใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาสินเชื่อในอนาคต
Blacklist คืออะไร?
หลายคนเข้าใจผิดว่าถูกขึ้นแบล็กลิสต์ (Blacklist) กับเครดิตบูโร ซึ่งในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเครดิตบูโรมีหน้าที่เพียงเก็บและรายงานข้อมูลการชำระเงินของลูกค้าที่ขอสินเชื่อ ไม่มีหน้าที่อนุมัติสินเชื่อแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากเราขอเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ A เมื่อไฟแนนซ์ A ขอเรียกดูข้อมูลเครดิตของคุณกับเครดิตบูโร แล้วพบว่าผู้ยื่นกู้มีประวัติผิดนัดชำระเกิน 90 วัน ไม่ว่าจะเป็นวงเงินสินเชื่อ, บัตรเครดิต, ผ่อนบ้าน หรือผ่อนรถ ฯลฯ ไฟแนนซ์ A ก็มีสิทธิ์พิจารณาไม่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้คุณได้ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงที่อาจถูกเบี้ยวหนี้
ถ้าเคยมีประวัติค้างชำระ จะกู้ซื้อรถได้อย่างไร?
ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลไว้ได้ไม่เกิน 36 เดือน หรือ 3 ปี โดยจะมีข้อมูลใหม่แทนที่ข้อมูลเก่าไปเรื่อยๆ ทุกเดือน ดังนั้น หากรู้ตัวว่ามีประวัติค้างชำระที่ส่งผลให้ขอสินเชื่อได้ยาก ก็ควรชำระให้เรียบร้อยเสียก่อน จนกระทั่งบัญชีกลับมาเป็นปกติ หากไม่ต้องการมีประวัติค้างชำระอยู่ในเครดิตบูโร ก็ต้องรอไปอีก 36 เดือน นับตั้งแต่วันที่บัญชีกลับมาเป็นปกติ เพื่อให้ประวัติค้างชำระหายไปครับ
ค้างค่าโทรศัพท์, ค่าน้ำ, ค่าไฟ เกี่ยวข้องกับเครดิตบูโรหรือไม่?
ปัจจุบันหนี้จำพวกค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าโทรศัพท์มือถือ, ค่าน้ำ, ค่าไฟ หรือแม้กระทั่งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยส.) ไม่มีการส่งข้อมูลให้กับเครดิตบูโรแต่อย่างใดครับ
รู้แบบนี้แล้วใครที่กำลังขอสินเชื่อรถใหม่ ก็อย่าเผลอทำเครดิตเสีย จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลังครับ