จำเป็นแค่ไหน ที่ต้องซื้อ “รถขับเคลื่อน 4 ล้อ”
พูดถึงรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ในอดีตทุกคนน่าจะคิดถึงรถประเภท “ลุยป่า-ขึ้นเขา” ทว่าปัจจุบัน ตลาดรถยนต์บ้านเรา มีรถยนต์หลากหลายรุ่นที่นำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาเป็นจุดขาย ทั้งเรื่องสมรรถนะและความปลอดภัย ซึ่งแท้จริงแล้ว “รถขับเคลื่อน 4 ล้อ” มันปลอดภัยกว่ารถขับเคลื่อน 2 ล้อจริงหรือ และจำเป็นแค่ไหนในยุคปัจจุบัน Tonkit360 มีคำตอบมาฝากกัน
ประเภทของรถขับเคลื่อน 4 ล้อ
1. แบบ Part Time
ภาพความทรงจำในอดีตของรถกระบะที่สามารถขับในทางวิบาก ขึ้นเขา เข้าป่า ลุยโคลน มันคือ รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ในแบบ Part Time ที่ผู้ขับขี่สามารถเลือกว่า จะใช้งานระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ในช่วงเวลาใด
ซึ่งอดีตที่ผ่านมา รถประเภทนี้จะมีคันเกียร์แยกเป็น 2 ชุด คือ ชุดขับ 4 ล้อ และชุดขับ 2 ล้อ โดยกลไลการทำงานของมันคือ การกระจายกำลังในการขับเคลื่อนไปยังล้อทั้ง 4 ให้เท่ากันทุกล้อ และสามารถเพิ่มอัตราทดเกียร์ได้ เหมาะกับการใช้งานในทางวิบาก เป็นที่นิยมในรถกระบะยกสูงและรถ PPV ในบ้านเรา
เพียงแต่ว่า เทคโนโลยีในปัจจุบัน ได้ถูกพัฒนาเป็นระบบไฟฟ้า ทำให้การปรับจากการขับ 2 ล้อ เป็นขับ 4 ล้อ สามารถทำได้เพียงกดปุ่ม และใช้คันเกียร์ชุดเดียวกันเป็นตัวบังคับ
ฟอร์ด Ranger Raptor
ตัวอย่างรถขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part time ที่ขายในบ้านเรา : โตโยต้า Revo, โตโยต้า Fortuner, ฟอร์ด Ranger Raptor, นิสสัน Navara, อีซูซุ D-MAX, อีซูซุ MU-X, มิตซูบิชิ Triton และมิตซูบิชิ Pajero
2. แบบ Full Time
นี่คือ ระบบที่เน้นเรื่องของสมรรถนะและการยึดเกาะถนนในการขับขี่ทางเรียบเป็นหลัก โดยระบบขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา และกระจายกำลังไปยังล้อทั้ง 4 ตามอัตราส่วนของแรงเสียดทานและพฤติกรรมการขับขี่ รวมถึงสามารถเพิ่มอัตราทดเกียร์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกติดตั้งอยู่ในรถยุโรปสมรรถนะสูง เพื่อจุดประสงค์ด้านประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนและความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี จุดด้อยของมันคือ กินน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่ารถขับเคลื่อน 2 ล้อ เนื่องจากเครื่องยนต์จะต้องกระจายกำลังไปยังล้อทั้ง 4 ล้อ ตลอดเวลานั่นเอง
ซูบารุ Forester
ตัวอย่างรถขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Full Time ที่ขายในบ้านเรา : ซูบารุ XV, ซูบารุ Forester, มินิ CLUBMAN, บีเอ็มดับเบิลยู M5 Sedan, เมอร์เซเดส-เบนซ์ AMG GLC 43 และวอลโว่ XC90
3. แบบ Real Time
แม้ศัพท์ในวงการรถยนต์บ้านเราจะเรียกระบบการขับเคลื่อนแบบ Real Time นี้ว่า “กะเทย” แต่ในความเป็นจริงมันก็คือ อีกหนึ่งรูปแบบของเทคโนโลยีการขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่มีจุดเด่นและข้อดีในตัวของมันเอง โดยระบบดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบอัตโนมัติ กล่าวคือ ในการขับขี่ปกติจะเป็นการขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อเหมือนรถยนต์ทั่วไป แต่ระบบนี้จะมีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับความเร็วของล้อคู่หน้าและหลัง ถ้ามีสิ่งผิดปกติและความเร็วไม่สัมพันธ์กัน อาทิ เกิดอาการล้อใดล้อหนึ่งสูญเสียการยึดเกาะ หรือมีอาการลื่นไถล เซ็นเซอร์ก็จะปรับการทำงานเป็นการขับเคลื่อน 4 ล้อให้โดยอัตโนมัติ แต่อาจจะไม่สามารเพิ่มอัตราการทดเกียร์ได้ จึงไม่เหมาะกับการขับลุยในทางวิบาก แต่เป็นที่นิยมในรถ SUV ค่ายญี่ปุ่น ซึ่งข้อดีของมันคือ ช่วยทั้งเรื่องความปลอดภัยและประหยัดน้ำมันกว่าระบบ Full Time
มาสด้า CX5
ตัวอย่างรถขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Real Time ที่ขายในบ้านเรา : ฮอนด้า CRV, มาสด้า CX5 และนิสสัน X-Trail
สัญลักษณ์ของรถขับเคลื่อน 4 ล้อ
แม้ว่า รถขับเคลื่อน 4 ล้อ จะถูกแยกออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ แต่ค่ายรถส่วนใหญ่ก็จะใช้สัญลักษณ์โดยรวม ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็น “รถขับเคลื่อน 4 ล้อ” เราคงชินตากับสัญลักษณ์ 4WD และ 4×4 ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวยังใช้กันทั่วโลกกับรถประเภทขับ 4 แบบ Part Time หรือรถในสไตล์ออฟโรดและโฟร์วิลล์ที่คนไทยเรียกกัน
ส่วนสัญลักษณ์ AWD ที่ย่อมาจาก All-Wheel Drive ก็เป็นสัญลักษณ์ในเชิงสากลที่เข้าใจได้ทั่วโลกเช่นกันว่า เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ในรูปแบบขับ 4 แบบ Full Time แม้ในปัจจุบันค่ายรถบางค่ายที่เป็นรถขับ 4 แบบ Real Time จะนำมาใช้เป็นตัวโปรโมทสินค้า ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด
ข้อดีของรถขับเคลื่อน 4 ล้อ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยกลไกการทำงานและเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ปลอดภัยและยึดเกาะถนนได้ดีกว่ารถขับเคลื่อน 2 ล้อ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งานของผู้ขับขี่ อาทิ หากคุณนำรถกระบะ (ประเภทขับ 4 แบบ Part Time) แล้วเลือกโหมดเป็น 4WD วิ่งทำความเร็วบนทางเรียบ ย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุแน่นอนโดยเฉพาะในช่วงเข้าโค้ง หรือหากนำรถ SUV (ประเภทขับ 4 แบบ Real Time) แต่ไปลุยทางวิบากก็อาจเกิดอันตรายได้เช่นกัน
ฉะนั้น หากจะถามว่าจำเป็นแค่ไหนที่ต้องซื้อรถ “ขับเคลื่อน 4 ล้อ” คงต้องถามกลับตัวคุณเองว่า คุณมีไลฟ์สไตล์แบบไหน และพร้อมจะจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในการตัดสินใจซื้อรถแต่ละรุ่นออกจากโชว์รูม