รีวิว Ford Ranger Raptor 2018 ใหม่ นี่มัน BMW M เวอร์ชั่นกระบะชัดๆ!
Ford Ranger Raptor 2018 ใหม่ รถกระบะเดิมๆ จากโรงงาน ที่สามารถขับออฟโรดได้สนุกที่สุดเท่าที่เคยสัมผัสมา แต่ก็ไม่ทิ้งคุณงามความดีในการขับแบบออนโรดที่เป็นจุดเด่นของ Ranger เสมอมา
Ford Ranger Raptor 2018 เป็นรถที่สร้างกระแสตอบรับจากสิงห์กระบะชาวไทยได้ตั้งแต่ก่อนเปิดตัว ด้วยรูปลักษณ์ที่ถูกเสริมด้วยความบึกบึนแบบเต็มสูบ เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบคู่บล็อกใหม่ล่าสุด และช่วงล่างสำหรับขับขี่ออฟโรดชื่อดังจาก Fox เหล่านี้ช่วยส่งให้ Raptor กลายเป็นที่กล่าวถึงในชั่วข้ามคืนหลังจากที่ลงข่าวไป
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฟอร์ดอาศัยประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดที่มียอดขายกระบะเรนเจอร์สูงที่สุดในโลก ทำการเปิดตัว Ranger Raptor ใหม่ ก่อนจะประกาศราคาขายอีกครั้งในงานมอเตอร์โชว์ 2018 ด้วยค่าตัว 1.699 ล้านบาท ทำให้เกิดเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาดรถกระบะ ตั้งเป้าจับกลุ่มผู้ชอบขับขี่ออฟโรด รวมถึงผู้ที่มองหาความ “สุด” เท่าที่กระบะคันหนึ่งจะให้ได้
สำหรับรายละเอียดสเป็คเปรียบเทียบกันระหว่าง Ford Ranger Raptor และ Wildtrak ตัวท็อปสุด ซึ่งมีราคาต่างกันกว่า 4 แสนบาทนั้น เราทำเป็นคอนเท้นท์แยกไว้ต่างหาก สามารถชมรายละเอียดได้ที่นี่ครับ >> เทียบสเป็ค Ford Ranger Wildtrak และ Raptor 2018 คุ้มไหมกับส่วนต่าง 4 แสนกว่าบาท
Ford Ranger Raptor 2018 มีดีไซน์ต่างไปจากรุ่นปกติเล็กน้อย ด้วยขนาดตัวถังที่ยาวขึ้น 36 มม. กว้างขึ้น 168 มม. สูงขึ้น 58 มม. ความกว้างล้อคู่หน้าและหลังเพิ่มขึ้น 150 มม. และใต้ท้องรถสูงขึ้น 53 มม. แต่กระนั้น ขนาดของห้องโดยสารยังคงเหมือนกับรุ่นดับเบิ้ลแค็บปกติทุกประการ
Raptor มาพร้อมไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ HID เปิด-ปิดอัตโนมัติ, Daytime Running Light แบบ LED, กันชนหน้าสีดำออกแบบเฉพาะรุ่น พร้อมไฟตัดหมอกแบบ LED พร้อมทั้งเพิ่มแผ่นกันกระแทกใต้ห้องเครื่องยนต์ทำจากวัสดุเหล็กกล้า เพื่อรองรับการขับขี่แบบออฟโรด มาพร้อมตะขอเกี่ยวแบบคู่ทั้งด้านหน้าและหลัง และเพิ่มความบึกบึนด้วยซุ้มล้อสีดำเสริมมาจากตัวถังอีกที
บันไดข้างทำจากอลูมิเนียมหุ้มด้วยวัสดุกันลื่นสีดำ ทำให้ขึ้น-ลงรถได้อย่างสะดวก พร้อมติดตั้งพื้นปูกระบะท้ายมาให้จากโรงงานเสร็จสรรพ เสริมด้วยช่องจ่ายไฟขนาด 12 โวลต์ ขณะที่ประตูกระบะท้ายเป็นแบบ Easy Lift Tailgate ซึ่งมีระบบทุ่นแรงยก ช่วยให้สามารถยกฝาประตูขึ้นโดยไม่ต้องออกแรงมากเหมือนแต่ก่อน
ขณะที่ด้านท้ายติดตั้งไฟท้ายแบบเดียวกับ Ranger รุ่นปกติ พร้อมกันชนท้ายสีดำ ส่วนล้ออัลลอยถูกลดขนาดลงจาก 17 นิ้วในรุ่น Wildtrak เหลือ 16 นิ้ว เพื่อประสิทธิภาพในการขับขี่แบบออฟโรด พร้อมยางขนาด 285/70 R17
ภายในห้องโดยสารถูกยกชุดมาจาก Ranger รุ่นปกติ แต่เสริมด้วยการตกแต่งสำหรับรุ่น Raptor โดยเฉพาะ เริ่มจากเบาะนั่งแบบสปอร์ตหุ้มหนังสลับ Alcantara ตามสไตล์รถสปอร์ตฝั่งยุโรป ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยยึดรั้งร่างกายให้อยู่กับที่ในขณะเข้าโค้ง ตัวเบาะฝั่งคนขับมีระบบปรับไฟฟ้า 8 ทิศทางมาให้ ส่วนเบาะหลังมีพนักพิงศีรษะมาให้ 3 ตำแหน่ง พร้อมที่วางแขนแบบพับเก็บได้มาให้
พวงมาลัยของรุ่น Raptor ถูกหุ้มด้วยวัสดุหนังพร้อมรูระบายอากาศ พร้อมแถบสีแดงตรงกลาง พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ซึ่งตัวแป้นทำมาจากวัสดุแมกนีเซียม ซึ่งพบได้ในรถสปอร์ตหรูฝั่งยุโรปทีเดียว ซึ่งปุ่มควบคุม Terrain Management จะถูกติดตั้งไว้ฝั่งซ้ายของพวงมาลัย โดยกดที่สัญลักษณ์ “Mode” เพื่อเรียกโหมดต่างๆ ให้มาแสดงบนหน้าจอ
มาตรวัดความเร็วของรุ่น Raptor ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเช่นกัน ตกแต่งด้วยเข็มสีแดง พร้อมพื้นหลังลวดลายกราฟฟิก ตัวเลขสามารถอ่านง่าย ชัดเจน พร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ตรงกลาง ซึ่งการเลือกโหมด Terrain Management ก็จะเลือกผ่านหน้าจอดังกล่าวนี้
Ranger Raptor มาพร้อมหน้าจออินโฟเทนเม้นท์แบบ Multi-Touch ขนาด 8 นิ้ว พร้อมระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC 3 ที่รองรับภาษาไทยได้ พร้อมแผนที่นำทางในตัว หรือสามารถเลือกใช้แผนที่จากสมาร์ทโฟนผ่าน Apple CarPlay หรือ Android Auto ได้ (Android Auto ยังไม่รองรับการใช้งานในประเทศไทย แต่ก็สามารถหาโหลดไฟล์ APK มาลงในมือถือเพื่อใช้งานได้) มีพอร์ต USB ให้จำนวน 2 ตำแหน่ง ช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์ 1 ตำแหน่ง และช่องจ่ายไฟ 230 โวลต์ อีก 1 ตำแหน่งบริเวณเบาะนั่งด้านหลัง
ขณะที่อุปกรณ์มาตรฐานภายในของ Raptor มีให้แบบครบๆ เช่น ระบบปรับอากาศแบบ 2 โซน, กล่องคอนโซลกลางพร้อมระบบทำความเย็น, กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ, กุญแจ Keyless Entry พร้อมปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์, กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เปิด-ปิดอัตโนมัติฝั่งคนขับ รวมถึงระบบช่วยลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร Active Noise Cancellation System เป็นต้น
ระบบความปลอดภัยของ Ranger Raptor ถูกติดตั้งถุงลมนิรภัย 6 จุดรอบคัน, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน HDC, ระบบป้องกันการส่ายของส่วนพ่วงท้าย Trailer Sway Control, กล้องมองภาพด้านหลังพร้อมเซ็นเซอร์กะระยะท้าย และระบบช่วยโทรออกฉุกเฉิน Emergency Assist ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ SYNC 3 ใหม่
ขุมพลังของ Ford Ranger Raptor 2018 ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ Bi-Turbo ความจุ 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า (PS) ที่ 3,750 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตัน-เมตร ที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีดใหม่ล่าสุด
Raptor ยังมาพร้อมโหมดการขับขี่ Terrain Management ที่ปรับได้ถึง 6 รูปแบบ ได้แก่ Normal, Sport, Snow/Grass, Sand, Rock และ Baja
ซึ่งเราขอสรุปการทำงานหลักๆ ของแต่ละโหมดเอาไว้ดังนี้
- Normal Mode (2H, 4H, 4L) – เน้นขับขี่ในชีวิตประจำวัน
- Sport Mode (2H) – เน้นขับขี่ทางเรียบ เพิ่มความฉับไวในการเปลี่ยนเกียร์ และ Hold รอบเครื่องยนต์ไว้สูงกว่าปกติ พวงมาลัยไฟฟ้าโหมด Sport
- Snow/Grass Mode (4H) – เน้นขับบนทางออฟโรดพื้นผิวลื่น ออกตัวด้วยเกียร์ 2
- Sand Mode (4H, 4L) – ปรับปรุงระบบ ESP เพื่อรองรับถนนที่เปลี่ยนรูปได้ เน้นใช้เกียร์ต่ำเพิ่มแรงบิด
- Rock Mode (4L) – ขับขี่ขึ้นทางลาดชันในความเร็วต่ำ และใช้เกียร์ต่ำเท่านั้น
- Baja Mode (2H, 4H, 4L) – เน้นขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูง ปิดระบบ Traction Control เพื่อป้องกันการแทรกแซงการทำงานของเครื่องยนต์ เกียร์จะ Hold รอบเครื่องยนต์สูงกว่าปกติ และเพิ่มความไวในการเปลี่ยนเกียร์ พวงมาลัยไฟฟ้าโหมด Base
จุดเด่นของ Raptor ที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย ก็คือ ช่วงล่างที่ออกแบบมาสำหรับการ “ขับขี่ออฟโรดความเร็วสูง” ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ ทำจากวัสดุอลูมิเนียม พร้อมโช๊คอัพแบบ Internal Bypass ของ Fox Racing Shox และเหล็กกันโคลง ด้านหลังติดตั้งคอยล์โอเวอร์ช็อค พร้อมโช๊คอัพแบบ Internal Bypass แบบมีซับแทงค์ ของ Fox Racing Shox เช่นกัน
ระบบเบรกของ Raptor เป็นแบบดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อนทั้งหน้าและหลัง พร้อมพวงมาลัยไฟฟ้าที่สามารถปรับน้ำหนักและอัตราทดได้ตามโหมด Terrain Management รวมถึงระบบล็อคเฟืองท้ายด้วยไฟฟ้า Locking Rear Differential
สำหรับการขับขี่ทดสอบ Ford Ranger Raptor ในครั้งนี้ เรามุ่งหน้าออกจากถนนสาทรใต้ เพื่อมุ่งตรงไปยังเขาใหญ่ พร้อมทั้งยังมีโอกาสทดสอบโหมดการขับขี่แบบบาฮา (Baja) อีกด้วย
เครื่องยนต์ดีเซล Bi-Turbo ขนาด 2.0 ลิตร บล็อกใหม่ล่าสุด ให้การตอบสนองได้ไม่แพ้เครื่องยนต์ดีเซล 3.2 ลิตรเดิม ทันทีที่กดคันเร่งลงไป แรงบิดมหาศาลก็หลั่งไหลมาให้เค้นอย่างเต็มที่ อาการ Turbo lag แทบจะไม่มีให้เห็นเลย เพียงไม่นานเราก็สามารถแตะความเร็ว 100 กม./ชม. ได้เพียงอึดใจ
แต่ทั้งนี้ หากถามว่าถ้าเทียบกับรุ่น Wildtrak เป็นอย่างไรบ้าง คงตอบได้ว่าอัตราเร่งของ Raptor อาจไม่จี๊ดจ๊าดเท่า เนื่องจากยางของ Raptor มีขนาดเส้นรอบวงใหญ่กว่าชัดเจน แต่เมื่อความเร็วไปพ้นประมาณ 60 กม./ชม. ขึ้นไป ก็ดูจะไม่มีปัญหาเรื่องอัตราเร่งอีกต่อไป ทีนี้ก็เพียงแต่ควบคุมใจตัวเองไม่ให้เผลอเร่งไปจี้คันหน้าแล้วล่ะ!
ตำแหน่งสายตาของผู้ขับขี่ขณะนั่งอยู่ใน Raptor ถือว่าค่อนข้างสูง ทำให้ทัศนวิสัยด้านหน้ามองเห็นได้ไกล กว่ารถคันอื่น ทำให้ Raptor กลายเป็นรถที่ขับง่ายกว่าที่คิด ขณะที่ความกว้างตัวรถกว่า 2.1 เมตร หากวิ่งในเมืองที่มีติดขัดหนาแน่น อาจจะต้องเผื่อระยะให้ดีหน่อย แต่สำหรับการขับขี่นอกเมืองแทบไม่เป็นปัญหาใดๆ เลย
สำหรับช่วงล่างของ Raptor ขณะขับขี่บนทางเรียบถือว่าทำได้ดีเกินคาด เพราะเดิมทีคิดไว้ว่าช่วงล่างของรถรุ่นนี้จะถูกออกมาในแนวนุ่มย้วยอย่างแน่นอน แต่ผิดคาด! ตัวรถสามารถสร้างความมั่นใจในขณะขับขี่ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ด้วยความนิ่งและความหนึบของช่วงล่าง แม้ขณะขับขี่ด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความนุ่มนวล นั่งสบาย การดูดซับแรงสะเทือนจากรอยต่อของพื้นถนน หรือถนนลาดยางไม่เรียบ ทำได้อย่างอยู่หมัด จนแทบจะไม่มีเสียงจากพื้นถนนเข้ามายังห้องโดยสารเลย ซึ่งตรงนี้คงต้องยกคุณงามความดีให้กับแก้มยางซีรีย์ 70 ด้วย
การขับขี่บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่มีทางโค้งสลับให้เล่นอยู่ตลอด Ranger Raptor เองก็สามารถเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ แม้ว่าตัวรถจะสูงกว่าเอสยูวีหรือพีพีวีแทบทุกรุ่น อันเป็นผลมาจากการขยายความกว้างของล้อคู่หน้าและคู่หลัง ทำให้ยังคงประสิทธิภาพการเกาะถนนได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงเท่านั้น ทางฟอร์ดประเทศไทยยังได้จัดสนามขับขี่แบบออฟโรด พร้อมทั้งทำเนินดินให้เราได้ “กระโดด” กันอีกด้วย
หลายคนอาจสงสัยว่าจะต้องทดสอบการกระโดดกันทำไม ในเมื่อชีวิตจริงคงไม่มีใครอยากเสี่ยงเอารถตัวเองไปกระโดดเล่นกันหรอก แต่ความจริงแล้ว นี่คือเครื่องพิสูจน์ฝีมือของช่วงล่าง Fox Racing Shox กันเลยทีเดียว เพราะจังหวะที่รถกลับมาแตะพื้นหลังจากเหินตัวขึ้นไปบนอากาศ ช่วงล่างสามารถเอารถให้กลับมานิ่งโดยไม่เสียอาการใดๆ ขณะที่ความสูงของตัวรถก็ช่วยให้ไม่เกิดความเสียหายกับตัวถังรถเลยแม้แต่น้อย หากเป็นรถรุ่นอื่นก็อาจยับเยินไปแล้วก็เป็นได้
ขณะที่การทดสอบการขับขี่ในโหมด Baja (บาฮา) เราได้ทดสอบกันบนถนนที่มีพื้นผิวขรุขระและเป็นดินแดง ซึ่งมีความลื่นมากกว่าปกติ ซึ่งถือเป็นเส้นทางในอุดมคติของการขับขี่แบบ Baja เลยก็ว่าได้
สำหรับการขับขี่แบบ Baja เราได้ใช้ความเร็วสูงเกือบ 80 กม./ชม. เป็นบางช่วง แม้ว่าจะเป็นทางขรุขระก็ตาม แต่ด้วยระยะยืดยุบของช่วงล่างที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้การขับขี่ด้วยความเร็วสูงทำได้อย่างสบาย ไม่ต้องกังวลว่าช่วงล่างจะพังเสียก่อน ซึ่งความสนุกสนานที่ได้จากการขับขี่แบบ Baja ให้ความรู้สึกประหนึ่งว่ากำลังอยู่ในรายการแข่งขันแรลลี่เลยทีเดียว
การขับขี่ในโหมดนี้ จะมีการตัดระบบ Traction Control ออก แต่ยังคงระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP ไว้ ทำให้ล้อยังสามารถฟรีทิ้งได้ แต่ทันทีที่รถลื่นไถลจนเกินการควบคุม ระบบ ESP จะเข้ามาช่วยดึงรถให้กลับมาตั้งตรงเช่นเดิม
สรุป Ford Ranger Raptor 2018 เปรียบเสมือนกับรถตระกูล BMW M ที่มาในรูปแบบกระบะออฟโรด ด้วยช่วงล่างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และพัฒนาให้ขับสนุกโดยเฉพาะการขับขี่แบบออฟโรด ขณะที่การขับขี่แบบออนโรดก็ทำได้ดีในระดับแถวหน้าของรถกระบะเมืองไทย อีกทั้งยังมีรูปลักษณ์โดดเด่น ดุดัน จนแทบไม่ต้องไปแต่งอะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว
ราคาจำหน่าย Ford Ranger Raptor 2018 ใหม่ อยู่ที่ 1,699,000 บาท
อัลบั้มภาพ 43 ภาพ