คุยกับ 2 ทีม Honda Eco ไทย ที่บินไกลไป “เอาชนะตัวเอง” ถึงญี่ปุ่น
“เรียนช่างจะทำอะไรได้” หนึ่งในคำถามที่พวกผมมักจะโดนถามเป็นประจำ เมื่อบอกกับญาติตัวเองว่าจะเรียนช่าง
แต่พอมาเรียนช่าง แล้วได้เข้าทีม Honda Eco ของโรงเรียน ทำการแข่งขัน จนได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งที่ญี่ปุ่น ญาติที่ถามก็จะมาชมผมว่า “เก่งจัง สู้ๆ นะ”
นี่คือบางส่วนของเรื่องราวที่เด็กๆ ตัวแทนทีม Honda Eco ได้พบเจออยู่เป็นประจำ
และก่อนจะเข้าเรื่องราวของเด็กๆ เราขอแนะนำที่มาที่ไปของ Honda Eco Mileage Challenge ให้ผู้อ่านได้รับรู้เบื้องต้นกันสักหน่อย Honda Eco Mileage Challenge เป็นการจัดแข่งขันประหยัดเชื้อเพลิงภายใต้แนวคิด “พลังงานเชื้อเพลิง เป็นสิ่งมีค่าและนับวันก็มีแต่จะหมดไป” หากเราสามารถประดิษฐ์ยานยนต์ประหยัดเชื้อเพลิงได้มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะสามารถชะลอการหมดไปของพลังงานเชื้อเพลิงบนโลก และช่วยลดมลภาวะจากการเผาไหม้ได้มากขึ้นอีกด้วย และนี่คือแนวคิดที่ก่อให้เกิดการแข่งขันขึ้นในปี พ.ศ. 2524 โดย บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น และปี พ.ศ. 2541 ประเทศไทยได้ร่วมจัดการแข่งขันฯ เป็นประเทศที่ 2 เพื่อ “จุดพลังฝัน” ให้กับเยาวชนได้ร่วมกันประดิษฐ์คิดค้น ทดสอบ ทดลอง ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ บนพื้นฐานของความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นทั้งต่อผู้เข้าแข่งขันและเครื่องยนต์จากอดีตถึงปัจจุบัน คือการสั่งสมความคิด และเทคโนโลยีที่มีคุณค่าอย่างต่อเนื่อง ด้วยจิตวิญญาณแห่งความท้าทาย (Challenging Spirit)
โดยในการแข่งขันฯ ในปีนี้ นับเป็นปีที่ 38 ของประเทศญี่ปุ่น และปีที่ 21 ของประเทศไทย เรามี 2 ทีมตัวแทนประเทศไทย เดินทางไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนเรื่องราวของการเอาชนะตัวเองเพื่อมุ่งไปข้างหน้าจะเป็นเช่นไร ติดตามต่อในบรรทัดถัดไปได้เลยครับ
เล่นจนได้เรื่อง
จากการที่เราได้คุยกับน้องๆ ทั้ง 2 ทีม จุดเริ่มต้นของหลายๆ คนเริ่มจากการเห็นเพื่อนหรือรุ่นพี่มาทำรถ Honda Eco แล้วอยากจะลองทำเล่นๆ ดูบ้าง แต่หลังจากการทำเล่นๆ กลับกลายเป็นหลงรักและจริงจัง บางคนทำต่อเนื่องติดต่อกันจนปีสุดท้ายของการเรียน
“ผมเริ่มเข้าแข่ง Honda Eco ตั้งแต่ปี 1 เริ่มแรกเลยอยากลองเฉยๆ แต่พอลองแล้วรู้สึกว่าได้อะไรมากกว่าที่คิด แล้วยิ่งเป็นคนขับ คือ นอกจากจะต้องขับให้ดีแล้ว ยังต้องรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับรถ เพราะหากรถเกิดเสียระหว่างทาง ผมเป็นคนเดียวที่สามารถลงไปซ่อมในสนามได้ มันก็ยิ่งทำให้มีความท้าทายในการแข่งมากขึ้นครับ”
ยุทธนา อักษร นักขับมากประสบการณ์จากทีมวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา พูดพร้อมสายตามุ่งมั่น
ยิ่งแข่งยิ่งแพ้
พอรู้ว่าทั้ง 2 ทีมเป็นตัวแทนของ Honda Eco ประเทศไทยไปแข่งที่ประเทศญี่ปุ่น เราเลยอยากรู้ว่าพวกเขามีเทคนิคอะไรที่ทำให้ชนะตัวแทนจากทั่วประเทศได้สำเร็จ แต่คำตอบที่ได้ทำให้เราประหลาดใจ เพราะเคล็ดลับของเด็กๆ ทั้ง 2 ทีมก็คือคำว่า “แพ้”
“ปีแรกที่ได้ลงแข่งคือแพ้เลยค่ะ บอกตรงๆ ว่าเสียใจมาก ทั้งที่ตอนแรกก็ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่พอเราตั้งใจทำมันมากขึ้นแล้วผลออกมาแพ้ก็มีเสียใจ แต่สิ่งที่ได้มากกว่าคือ ความรู้สึกที่อยากจะเอาชนะในครั้งต่อไป ก็กลับมาคุยกับเพื่อนๆ กับอาจารย์เลยว่าจะแก้ไขข้อผิดพลาดที่ผ่านมาได้ยังไง จนในที่สุดปีนี้ทีมเราก็สามารถชนะ และเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งที่ญี่ปุ่นได้ คราวนี้เลยตื่นเต้นแทน เพราะจะได้ไปญี่ปุ่นครั้งแรก"
วริศรา ผันเพ็ชร ธุรการสาวจากเทคนิคดอนเมือง พูดพร้อมหัวเราะ
“ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ลงแข่งเลย แล้วได้เป็นคนขับ ซึ่งผมประสบการณ์น้อยมาก ทำให้ทีมแพ้ เสียใจมาก ผมเป็นเหมือนความหวังของทีม แต่ก็ทำให้ทุกคนผิดหวัง แต่ที่มันเปลี่ยนความคิดเลยคือ ตอนที่รุ่นพี่เดินมาบอกว่าแพ้ไม่เป็นไรหรอก พี่ก็แพ้มาไม่รู้กี่ครั้งกว่าจะชนะ ให้มันเป็นบทเรียนนะ อาจารย์ก็เดินมาตบไหล่บอกว่า ครั้งแรกไม่มีใครสำเร็จหรอก เก็บความผิดพลาดครั้งนี้ไว้เรียนรู้ แล้วสู้ต่อดีกว่า หลังจากนั้นผมก็ตั้งใจซ้อม แล้วพยายามลดข้อผิดพลาดต่างๆ จนปีนี้ได้มาเป็นตัวแทนไปแข่งที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง ก็คิดว่าจะทำให้ดีที่สุดครับ ผมว่าจริงๆ การกลับไปครั้งนี้เป็นการเอาชนะตัวเองมากกว่าเอาชนะคนอื่นด้วยซ้ำ”
ทัยสรรค์ อ้นศรี นักขับน้องใหม่ไฟแรงจากวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา พูดด้วยสายตามุ่งมั่น
การแข่งขันที่ให้โอกาสเพียงครั้งเดียว
ความท้าทายของ Honda Eco Mileage Challenge ที่ไม่เหมือนรายการแข่งขันรถประหยัดพลังงานอื่นๆ คือ ทุกทีมมีโอกาสครั้งเดียวในการแข่งขัน หากรถเสียหรือเกิดการผิดพลาดสิ่งที่ทุ่มเทมาทั้งหมดก็สูญเปล่า
“คือ Honda Eco จะไม่เหมือนรายการอื่นๆ ครับ เรามีโอกาสครั้งเดียว ถ้ารถยางแตกหรือเครื่องดับก็บอกเลยว่าการแข่งขันของเราจบ เพราะใช้เวลาเปลี่ยนนาน คงไม่สามารถกลับลงไปแข่งขันต่อเพื่อทำรอบให้ทัน ทุกครั้งก่อนไปแข่งรายการ Honda Eco พวกเราเลยต้องซ้อมเยอะมาก มีการวางแผนอย่างหนักตั้งแต่เรื่องส่งเอกสาร การจัดการเครื่องยนต์ ช่วงเวลาที่จะดับเครื่องหรือไปต่อเวลาลงสนาม ทุกอย่างต้องพร้อมที่สุด เพราะวันจริงเรามีโอกาสแค่ครั้งเดียว”
กรวิชญ์ อยู่สุข ช่างเทคนิคมาดเข้มจากเทคนิคดอนเมือง อธิบายความยากของการแข่งขัน Honda Eco ให้เราเข้าใจ
ต่างหน้าที่ แต่จุดมุ่งหมายเดียวกัน
การแข่งขัน Honda Eco จะต้องอาศัยความเป็นทีม โดยแต่ละทีมจะมีนักเรียนทั้งหมด 5 คน และอาจารย์ 1 คนเป็นที่ปรึกษา โดยการแข่งขันเปรียบเหมือนเป็นโลกจำลองของการทำงานจริงเพราะเด็กๆ ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองอย่างชัดเจน และทุกคนต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
“เราต้องทำงานกันเป็นทีม แบ่งงานกันชัดเจน อย่างฝ่ายเอกสารคือคนสำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ต้องวางแผนการส่งเอกสารให้ทันเวลา รวมไปถึงตารางเวลาการเช็ครถก่อนลงแข่งก็ต้องวางแผนให้ดี ผมเองเป็นคนขับก็ต้องอาศัยอีกคนคอยบอกทาง เพราะการจะแซงคันข้างหน้าต้องอาศัยคนที่มองจากนอกสนามคอยบอกทาง จะทำให้เราแซงได้ด้วยจังหวะที่ดีที่สุด คนที่เป็นช่างเครื่องก็ต้องประกอบเครื่องให้ได้เหมือนตอนซ้อมมากที่สุด คือทุกอย่างผมว่ามันเป็นการทำงานร่วมกัน ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อเป้าหมายเดียวกัน”
ศรีศุภรัตน์ แสนยากร นักขับจากเทคนิคดอนเมืองพูดจบ ทุกคนก็พยักหน้าพร้อมกัน เราเชื่อแล้วละ ว่าพวกเขาทำงานเป็นทีมกันจริงๆ
มุ่งไปอย่าให้อะไรมาหยุด
สุดท้ายเราอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้ยังคงมุ่งมั่นที่จะลงแข่งขัน Honda Eco ต่อไป ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาว่างในช่วงชีวิตวัยรุ่น มาทุ่มเทให้กับการแข่งขัน ซึ่งคำตอบที่ได้จากทุกคนก็คือคำว่า “โอกาส” เด็กทุกคนมองว่าการแข่งขัน Honda Eco ช่วยให้เขาได้เรียนรู้อะไรมากกว่าการเรียนแค่ในห้องเรียน เรียนรู้การสร้างมากกว่าการซ่อม เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การร่วมใจเพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย นอกจากนี้โอกาสที่จะได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในต่างประเทศก็เปรียบได้กับรางวัล ที่มอบให้ความทุ่มเทและความพยายามของพวกเขานั่นเอง
ท้ายที่สุด เด็กๆ กลุ่มนี้ได้บอกกับเราไว้ว่า พวกเขาจะเอาชัยชนะจากการแข่งขัน Honda Eco ที่ประเทศญี่ปุ่น มาฝากคนไทยให้ได้ และพวกเขาจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ต่อให้เรียนจบไปแล้วก็จะส่งไม้ต่อให้น้องๆ รุ่นต่อไป เพื่อสานฝันกันต่อ เรียกได้ว่าพวกเขาจะมุ่งไปโดยไม่ยอมให้อะไรมาหยุดแน่นอน ในฐานะสื่อเราขอเป็นกำลังใจและส่งต่อเรื่องราวของพวกเขาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม คอยเป็นกำลังใจให้พวกเขาเหล่านี้กันด้วยนะครับ
“สู้ๆ นะทุกคน”
(Advertorial)