กรมทางหลวงเตือน 10 เส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุขณะเดินทางกลับช่วงสงกรานต์

กรมทางหลวงเตือน 10 เส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุขณะเดินทางกลับช่วงสงกรานต์

กรมทางหลวงเตือน 10 เส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุขณะเดินทางกลับช่วงสงกรานต์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

    

     นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง เผย 10 จุดบนทางหลวงทั่วประเทศที่กรมทางหลวงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2557 เนื่องจากกรณีการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยจากสถิติข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ( ปี 2550-2556 ) พบว่า สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง คือ การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ( 49.78 % ) การตัดหน้ากระชั้นชิด (13.64 %) เมาสุราในการระหว่างการเดินทาง (10.93 % ) และสาเหตุอื่นๆ (25.65 %) สำหรับเส้นทางที่กรมทางหลวงขอให้ประชาชนระมัดระวังในการเดินทางกลับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เนื่องจากสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงข้างต้น ประกอบด้วย 10 เส้นทาง ดังนี้

     1.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงประตูน้ำพระอินทร์-หนองแค (กม.60-67 ) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นทางตรง 10-12 ช่องจราจร (รวมทางขนานฝั่งละ 2 ช่องจราจร ) บริเวณนี้ปริมาณการจราจรสูง และรถขนาดใหญ่วิ่งเป็นจำนวนมาก บางครั้งรถขนาดใหญ่ใช้ความเร็วสูงเกินกฎหมายกำหนด เกิดการตัดหน้ากระชั้นชิดบริเวณจุดเปิดเกาะกลาง

     2.ทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงหน้าค่ายเพชรรัตน์ (กม.24-34) จ.สระบุรี เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูเขา มีโค้งหลายโค้งต่อเนื่องกัน และเป็นทางลาดชันลงเขา

     3.ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงเขาพะวอ (กม.23-30) และดอยรวก (กม.64-70) จ.ตาก ทั้ง 2 ช่วงเป็นทางที่ตัดผ่านภูเขาที่มีความคดเคี้ยวและลาดชัน รวมทั้งสภาพเป็นป่ารกทึบ ประกอบกับเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งไปยังประเทศพม่า ทำให้บริเวณดังกล่าวมีปริมาณการจราจรมาก

     4.ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงสะพานพ่อขุนผาเมือง ( กม.347 -375) จ.เพชรบูรณ์ บริเวณนี้เป็นทางลงเขาลาดชัน ยาวประมาณ 3 กม. เป็นทางโค้งรูปตัวเอส (S) ต่อเชื่อมกับสะพานคอนกรีต ข้ามทางระหว่างเขา ถนน 2 ช่องจราจร สะพานอยู่ระหว่างโค้ง (โค้งมีรัศมี 200 เมตร) ช่วงบริเวณสะพานเป็นเหวลึกกว่า 50 เมตร

     5.ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอำเภอพรหมบุรี (กม.77– 82 ) จ.สิงห์บุรี เนื่องจากเป็นถนนทางตรง ขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเปิดเกาะกลางกลับรถรอเลี้ยว ที่ กม.77+500, 78+000, 78+600, 80+340 และรถมักวิ่งด้วยความเร็วสูง หรือประชาชนอ่อนเพลียจากการขับรถเป็นระยะทางไกล ผู้ขับขี่หลับใน รวมถึงมีการตัดหน้ากระชั้นชิด

     6.ทางหลวงหมายเลข 35 บริเวณสะพานแม่น้ำท่าจีน (กม.28 – 32) จ.สมุทรสาคร เป็นเส้นทางเข้าเมืองสมุทรสาคร และไปอำเภอกระทุ่มแบน เป็นย่านชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรม มีปริมาณการจราจรสูงและรถใช้ความเร็วสูง ประกอบกับเป็นทางโค้งและมีจุดเข้าออกทางขนานหลายแห่ง อีกทั้งรถจักรยานยนต์มักจะวิ่งย้อนศรบนสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน

     7.ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงอุทยานทับลาน (กม.42 - 45) จ.ปราจีนบุรี เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูเขาที่มีความคดเคี้ยวและลาดชัน มีรถบรรทุกหนักจำนวนมากวิ่งผ่าน ซึ่งรถเหล่านี้จะเคลื่อนตัวได้ช้าเมื่อวิ่งขึ้นเขา จึงเกิดการแซงกันของรถขนาดเล็กในระยะคับขัน ขณะเดียวกันรถบรรทุกและรถสัญจรโดยส่วนใหญ่ขณะขับลงเขามักจะใช้ความเร็วเกินกำหนด เมื่อมีสถานการณ์เฉพาะหน้าคับขัน จะทำให้การควบคุมรถเป็นไปด้วยความยากลำบาก

     8.ทางหลวงหมายเลข 225 ช่วงทางลงเขาพังเหย (กม.181– 185) จ.ชัยภูมิ บริเวณนี้เป็นทางโค้ง และเป็นทางลาดชันสูง

     9. ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงโค้งหนองหญ้าปล้อง (กม.365+013 – 365+113) และช่วงโค้งสายเพชร (กม.389+700-390+000 ) จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นถนนสายหลักลงสู่ภาคใต้ เป็นทางโค้งต่อเนื่อง และมีจุดกลับรถอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รถสัญจรด้วยความเร็วสูง

     10. ทางหลวงหมายเลข 4197 ช่วงโค้งบางโสก (กม.5+400 – 8+680) จ.พังงา เป็นทางโค้งลาดชันลงเนิน

 

     ขอบคุณเนื้อหาจาก Spring News และภาพจาก INN News

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook