7 ข้อหาจราจรที่คนไทย (หลายคน) ไม่รู้ตัวว่าทำผิด!
ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในโลกรองจากลิเบีย ซึ่งสาเหตุหลักคงหนีไม่พ้นการกระทำผิดกฎหมายจราจร ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวว่าทำผิด
Sanook! Auto จึงขอสรุปข้อหาจราจรหลักๆ ที่พบการกระทำผิดบ่อยจนชินตา 7 ข้อหา ดังนี้
เปลี่ยนช่องจราจรเส้นทึบ
การเปลี่ยนช่องจราจรเส้นทึบเป็นข้อหาที่พบได้บ่อยมาก จนแทบจะเรียกได้ว่าเส้นจราจรช่างไร้ความหมายสำหรับคนไทย (บางคน) โดยเฉพาะบริเวณทางขึ้นสะพาน หรือหน้าสี่แยกไฟแดง ซึ่งเป็นการลัดคิวรถที่ขับถูกต้องตามกฎหมายอีกต่างหาก มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
ขับรถแช่ขวา
การขับรถแช่ช่องจราจรด้านขวา ถือเป็นการกระทำความผิดในข้อหาขับรถกีดขวางจราจร เพราะไม่ว่าคุณจะขับรถเร็วแค่ไหน แต่เลนขวามีไว้สำหรับแซงเท่านั้น แม้ว่าจะขับรถด้วยความเร็วสูงสุดตามกฎหมายกำหนดแล้วก็ห้ามแช่ขวาเช่นกัน หากมีรถที่ขับเร็วกว่าต้องหลบให้แซงขึ้นไป มิเช่นนั้นจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
ให้รถในวงเวียนไปก่อน
ตามกฎหมายแล้ว เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึงวงเวียน ต้องให้สิทธิแก่ผู้ขับขี่ในวงเวียนด้านขวาของตนขับผ่านไปก่อน แต่ปัจจุบันวงเวียนกลายเป็น "แยกวัดใจ" โดยเฉพาะวงเวียนที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร มักพบเห็นรถในวงเวียนถูกตัดหน้าอยู่เป็นประจำ
หยุดรถคาแยกไฟแดง
สิ่งที่พบเห็นได้บ่อยมากโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด คือ รถยนต์จำนวนมากที่ไม่สามารถข้ามแยกได้พ้น เนื่องจากข้างหน้าไม่ขยับ ไม่สามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้สัญญาณไฟเขียวก็ตาม ซึ่งการกระทำดังกล่าวจริงๆ แล้วผิดกฎหมาย เพราะถ้าไม่สามารถข้ามพ้นแยกได้ ก็ต้องหยุดรถหลังเส้น แม้ว่าจะได้สัญญาณไฟเขียว
พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71-74 ระบุว่า "ถ้าสัญญาณจราจรไฟสีเขียวปรากฏข้างหน้า แต่ในทางร่วมทางแยกมีรถอื่นหยุดขวางอยู่จนไม่สามารถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้ ผู้ขับขี่จะต้องหยุดรถที่หลังเส้น ให้รถหยุดจนกว่าจะสามารถเคลื่อนรถผ่านทางร่วมทางแยกไปได้"
จอดรถทับทางม้าลาย
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ควบคุมผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทางข้าม ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในทางข้ามหรือในระยะ 3 เมตรจากทางข้าม (มาตรา 57) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 บาท
ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายไปก่อน
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ควบคุมผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทางข้าม บังคับให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรและเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง (มาตรา 21) มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งในที่นี้สามารถบังคับใช้ในกรณีไม่หยุดรถตามสัญญาณไฟสีแดง เพื่อให้คนเดินถนนข้ามไปก่อน
ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด
การขับรถเร็วเกินกฏหมายกำหนดถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน ซึ่งบ้านเรากำหนดความเร็วสูงสุดในเขตเทศบาลอยู่ที่ไม่เกิน 80 กม./ชม. ทางพิเศษ (ทางด่วน) ไม่เกิน 80 กม./ชม. นอกเขตเทศบาลไม่เกิน 90 กม./ชม. ถนนบางเส้นอนุโลมให้ใช้ความเร็วสูงกว่านั้น คือ ทางด่วนบูรพาวิถีไม่เกิน 110 กม./ชม. มอเตอร์เวย์ไม่เกิน 120 กม./ชม.
หากใครคิดว่ากฎหมายจำกัดความเร็วของไทยล้าหลัง ลองดูของต่างประเทศอย่างเยอรมนี ที่จำกัดความเร็วในเมืองไว้ 50 กม./ชม. นอกเมือง 100 กม./ชม. ส่วนมอเตอร์เวย์ (Autobahn) แม้จะไม่จำกัดความเร็วก็จริง แต่ก็เป็นบางช่วงเท่านั้น เพราะยังมีการจำกัดความเร็ว 80-130 กม./ชม. เป็นระยะ
ขณะที่สหรัฐอเมริกามีการจำกัดความเร็วสูงสุดบนฟรีเวย์ที่ 105-129 กม./ชม. ขึ้นอยู่กับกฏหมายของแต่ละรัฐ ส่วนญี่ปุ่นก็มีการจำกัดความเร็วบนทางด่วนสูงสุดเพียง 100 กม./ชม. อันถือเป็นความเร็วสูงสุดเท่าที่กฎหมายของญี่ปุ่นอนุญาตแล้ว
รู้แบบนี้แล้วลองหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ของตัวเอง ไม่ให้เผลอกระทำผิดกฎหมายอย่างไม่รู้ตัวกันดีกว่าครับ