รีวิว Mazda CX-5 2.2 SKYACTIV-D 2018 ใหม่ ซิ่งตะลุยหิมะของจริงที่นอร์เวย์

รีวิว Mazda CX-5 2.2 SKYACTIV-D 2018 ใหม่ ซิ่งตะลุยหิมะของจริงที่นอร์เวย์

รีวิว Mazda CX-5 2.2 SKYACTIV-D 2018 ใหม่ ซิ่งตะลุยหิมะของจริงที่นอร์เวย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     แม้ว่าเราจะเคยปล่อยพรีวิวเรียกน้ำย่อย Mazda CX-5 2018 ใหม่ ที่ได้ทดสอบในมาเลเซียไปก่อนหน้านี้แล้ว คราวนี้เราลองไปขับเวอร์ชั่นยุโรปลุยหิมะกันไกลถึงนอร์เวย์กันบ้าง เพื่อพิสูจน์ว่าเอสยูวีคันนี้ไม่ได้มีดีแค่สวยเท่านั้น แต่ยังมีสมรรถนะเทียบชั้นรถยุโรปแท้ๆ เลยทีเดียว

101

     ครั้งนี้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้พา Sanook! Auto ไปทดสอบขับ Mazda CX-5 2018 ใหม่ ถึงประเทศนอร์เวย์ ซึ่งความพิเศษไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะรถคันที่เราทดสอบเป็นรุ่นที่วางจำหน่ายในประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นพวงมาลัยซ้าย และมีอ็อพชั่นบางอย่างที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับขับขี่ในเมืองหนาวโดยเฉพาะ นอกนั้นเหมือนกับเวอร์ชั่นไทยแทบทั้งหมด

     สำหรับ Mazda CX-5 2018 ในบ้านเรามีวางจำหน่ายทั้งหมด 5 รุ่นย่อย ประกอบด้วย

• รุ่น 2.0 C
• รุ่น 2.0 S
• รุ่น 2.0 SP
• รุ่น XD
• รุ่น XDL

     ส่วนคันที่เราทดสอบขับในประเทศนอร์เวย์เป็นรุ่น 2.2 SKYACTIV-D Optimum AWD ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นท็อปสุดด้วย

108

     ขุมพลังของ Mazda CX-5 2018 ที่เราทดสอบถูกติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D ความจุ 2.2 ลิตร สเป็คเดียวกับบ้านเราเปี๊ยบ มีกำลังสูงสุดอยู่ที่ 175 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ i-ACTIV AWD

110

     ส่วนสเป็คของรุ่น Optimum ในเดนมาร์ค มีจุดต่างจากเวอร์ชั่นไทยเล็กน้อย เช่น ระบบเบาะอุ่นทั้ง 4 ตำแหน่ง (ซึ่งแน่นอนว่าบ้านเราคงไม่ได้ใช้), ตัดหลังซันรูฟออก และระบบ Mazda Radar Cruise Control (MRCC) ที่สามารถชะลอความเร็วได้จนถึงจุดหยุดนิ่ง ต่างจากบ้านเราที่เมื่อรถเคลื่อนตัวด้วยความเร็วต่ำกว่า 40 กม./ชม. ระบบจะตัดการทำงานโดยอัตโนมัติ ซึ่งเหตุผลหลักที่เป็นเช่นนั้น เพราะบ้านเรามีรถมอเตอร์ไซค์เยอะ วิ่งตัดหน้ากันฉวัดเฉวียน อาจทำให้เกิดอันตรายได้

111

     เราออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าสู่สนามบินออสโล ประเทศนอร์เวย์ ด้วยสายการบินแห่งชาติ เพื่อจะต่อไปยังสนามบินอัลต้า ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์ เพื่อต่อรถบัสไปอีก 2 ชั่วโมง ไปยังเมือง Honningswag อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางในครั้งนี้ แถมยังมีกิมมิคเล็กๆ อยู่ที่การพาพวกเราไปชมแสงเหนือกันที่ North Cape อีกด้วย!

106

     ซึ่งแน่นอนว่าเราได้เห็นแสงเหนือกันสมใจ แม้ว่าจะเป็นแสงสีเขียวเรืองรองอ่อนๆ อ่อนเสียจนกระทั่งกล้องโทรศัพท์มือถือธรรมดาๆ ไม่สามารถจับภาพได้ ต้องใช้กล้อง DSLR ตั้งสปีดชัตเตอร์ต่ำๆ เท่านั้น จึงจะได้ภาพแสงเหนือเหล่านี้มาให้ชื่นใจ ส่วนใครที่ยังไม่เคยไปล่าแสงเหนือมาก่อน บอกเลยครับว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปเห็นกับตาตัวเองให้จนได้

129

     สำหรับทริป Mazda Passion Drive to The New Horizon ครั้งนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 2 กรุ๊ป โดยกรุ๊ป A เดินทางมาจากกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ข้ามเฟอร์รี่มายังฝั่งสวีเดน และขับต่อมาจนถึงเมือง Alta เพื่อผลัดไม้ต่อให้กับกรุ๊ป B ของพวกเรา ซึ่งรวมการเดินทางในระยะแรกทั้งสิ้น 2,200 กิโลเมตร

     จากนั้นเราจะเดินทางลงใต้จากเมือง Honningswag ผ่านเมือง Lulea ของประเทศสวีเดน แล้วกลับมายังกรุง Oslo ของประเทศนอร์เวย์อีกครั้ง โดยประเมินระยะทางคร่าวๆ ไว้ที่ 3,600 กิโลเมตร ดังนั้น การเดินทางด้วย Mazda CX-5 ในครั้งนี้ รวมกันแล้วเป็นระยะทางถึง 5,800 กิโลเมตร ในระยะเวลาเพียง 10 กว่าวันเท่านั้น!

207

     เดินทางวันแรกจากเมือง Honningswag สู่เมือง Tromso ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางของประเทศนอร์เวย์จากที่เราคิดไว้ว่าจะเป็นแบบมอเตอร์เวย์ ที่ขับง่ายและใช้ความเร็วได้นั้น เราคิดผิดถนัด! เพราะถนนเกือบทั่วประเทศของนอร์เวย์ล้วนแล้วแต่เป็นถนน 2 เลนสวนแทบทั้งสิ้น จะมีมอเตอร์เวย์แค่เพียงก่อนเข้าเมืองหลวง Oslo เท่านั้น แถมถนนก็ยังเต็มไปด้วยโค้งสลับไปมา

     นั่นจึงทำให้เราเห็นคุณงามความดีของช่วงล่าง Mazda CX-5 2018 ใหม่ ที่สามารถเข้าโค้งได้อย่างแม่นยำ พวงมาลัยที่คมกริบและฉับไว จนให้ความรู้สึกเหมือนกับขับรถเก๋งช่วงล่างเยี่ยมๆ คันหนึ่งเลยทีเดียว

114

     อีกสิ่งหนึ่งที่เราประทับใจใน Mazda CX-5 คันนี้ ก็คือ ระบบความปลอดภัยขั้นสูงที่มีให้แน่นเอี๊ยดเต็มคัน ไม่ว่าจะเป็นระบบ Mazda Radar Cruise Control ที่ช่วยรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าได้แม้ว่าจะเจอกับสภาพอากาศที่ฝนตกหนัก ทำให้การขับขี่เป็นไปง่ายดายและปลอดภัยมากขึ้น

     ขณะที่ระบบ Lane Keeping Assist และระบบ Lane Departure Warning ก็ช่างเหมาะเหลือเกินสำหรับคนไทยที่ยังไม่ชินกับพวงมาลัยซ้ายแบบนี้ เพราะระบบจะช่วยประคองพวงมาลัยไม่ให้วิ่งออกจากเส้นถนนไปเฉี่ยวกับแบริเออร์ข้างทาง โดยจะช่วยดึงพวงมาลัยกลับมาในเลน แต่หากเผลอวิ่งไปเหยียบเส้นแบ่งเลนขึ้นมาจริงๆ ก็จะสั่นเตือนที่พวงมาลัยให้ดึงกลับมาได้ทัน

116

     การเดินทางวันที่ 2 เราออกจาก Tromso เพื่อมุ่งหน้าข้ามพรมแดนไปยังประเทศสวีเดน สู่จุดหมายที่เมือง Lulea (ลูเลอา) รวมระยะทางวันนี้ประมาณ 660 กิโลเมตร โดยวันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสสลับมาเป็นผู้โดยสารเบาะนั่งด้านหลัง ก็ฟินไปอีกแบบ เพราะระหว่างที่เดินทางนั้น อุณหภูมิภายนอกอยู่ราวเลขตัวเดียว ประมาณ 6-7 องศาเซลเซียสในช่วงกลางวัน แต่ CX-5 เวอร์ชั่นเดนมาร์คคันนี้ มีระบบอุ่นเบาะด้านหลังมาให้ด้วย ซึ่งการใช้ฮีทเตอร์ในวันที่อากาศหนาวเย็นขนาดนี้ บอกเลยว่าช่วยให้นั่งสบายขึ้นมาก ซึ่งน่าเสียดายที่บ้านเราคงมีโอกาสน้อยเหลือเกินที่จะได้สัมผัสบรรยากาศแบบนี้

20180922_200106

     ในช่วงเวลาค่ำ ผู้เขียนได้สลับไปเป็นผู้ขับอีกครั้ง แต่กว่าจะได้ขับจริงๆ ก็เป็นเวลาเย็นแล้ว แต่การเดินทางของเรายังคงต้องดำเนินไปอีกยาว จนกระทั่งแสงอาทิตย์หมดสนิทในเวลาเกือบ 2 ทุ่ม ความมืดเข้ามาปกคลุมแทนที่ ขณะที่เส้นทางรอบๆ ไม่มีแสงไฟเลยแม้แต่น้อยนอกจากไฟหน้ารถ

     เราจึงได้มีโอกาสทดสอบระบบไฟสูงอัตโนมัติ ALH (Adaptive LED Headlight) ซึ่งสามารถเปิดไฟสูงค้างไว้ตลอดเวลาโดยไม่ทำให้รบกวนสายตาผู้อื่น ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ติดตั้งใน CX-5 เวอร์ชั่นไทยด้วย ซึ่งฟีเจอร์ไฟสูงอัตโนมัติในมาสด้าไม่เพียงแต่สลับไฟสูง-ไฟต่ำให้อัตโนมัติเหมือนกับบางยี่ห้อเท่านั้น แต่ยังสามารถเปิดไฟสูงเฉพาะส่วนที่ไม่มีรถด้านหน้า และปิดไฟสูงในจุดที่มีรถสวนมา หรือมีรถคันหน้าวิ่งอยู่ ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยยามค่ำคืนได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งฟีเจอร์ลักษณะนี้ปัจจุบันพบเจอในรถยุโรปราคาแพงๆ เท่านั้น

239

     ขุมพลังดีเซลของ Mazda CX-5 ใหม่ แม้ว่าจะมีขนาดเพียง 2.2 ลิตร แต่ก็มีแรงบิดถึง 420 นิวตัน-เมตร บวกกับเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีดที่ทำงานได้อย่างราบรื่น ไร้อาการกระตุก ทำให้รถคันนี้สามารถขับขี่ได้อย่างสนุกสนาน มีพละกำลังเหลือเฟือ จนเรียกได้ว่าเป็นรถเอสยูวีญี่ปุ่น ที่มีสมรรถนะใกล้เคียงกับรถยุโรปมากที่สุดแล้ว

     ซึ่งไม่เพียงแต่สมรรถนะเครื่องยนต์และช่วงล่างที่คล้ายกับรถยุโรปเท่านั้นนะครับ แต่การตกแต่งภายในและการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ยังทำได้อย่างประณีต ดูมีราคาเสียจนเราแอบคิดเล็กๆ ว่าจะซื้อรถยุโรปที่มีราคาแพงกว่าอีกเท่าตัวนึงไปทำไมกัน ในเมื่อรถคันนี้มันตอบโจทย์การใช้งานแทบจะครอบคลุมแล้วจริงๆ

111_2

     จุดหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากใน Mazda CX-5 ใหม่คันนี้ คือการใช้หน้าจอ MZD Connect แบบสัมผัสขนาดใหญ่ ควบคู่กับปุ่ม Center Commander ทำให้ไม่ต้องสัมผัสกับหน้าจอขณะขับขี่ ซึ่งไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย เพราะกว่าจะเหลือบมองเพื่อเล็งปุ่มบนหน้าจอให้ได้อย่างที่ต้องการแล้ว ยังต้องเจอปัญหากดผิดกดถูกอีกด้วย เพราะรถมีการขยับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่การใช้งานปุ่ม Center Commander ที่อยู่ใกล้กับคันเกียร์ทำได้อย่างง่ายดายมาก แม้กระทั่งการหา POI ชื่อยาวๆ ในระบบนำทาง ก็ทำได้ไม่แพ้กับปุ่ม iDrive ใน BMW เลย

226

     ไฮไลท์สำคัญของการเดินทางครั้งนี้ เรายังได้วิ่งผ่าน Atlantic Road ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น 1 ในถนนที่สวยที่สุดในโลก แถมยังอันตรายมากที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย เพราะเป็นถนนที่ตัดผ่านทะเลแอตแลนติค มีกระแสลมแรงแทบทั้งปี โดยวันที่เราขับผ่านมีฝนตกตลอด น่าเสียดายที่เก็บภาพไว้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากใครได้มีโอกาสไปประเทศนอร์เวย์ ก็เป็นอีกแลนด์มาร์คหนึ่งที่ควรแวะไปให้ได้ จะเช่ารถขับไปก็สนุกดีเหมือนกันครับ

170

     และที่ขาดไม่ได้สำหรับประเทศนอร์เวย์ ก็คือ ฟยอร์ด (Fjord) จำนวนมากที่เราขับผ่านกันจนชินตา ซึ่งฟยอร์ดก็คือ อ่าวแคบๆ ที่ถูกประกบด้วยหน้าผาสูงชัน มีธารน้ำไหลจากยอดเขามาเป็นระยะๆ ให้ทิวทัศน์ที่สวยงาม จนกลายเป็นเอกลักษณ์แห่งภูมิศาสตร์ของประเทศนอร์เวย์

290

     ซึ่งฟยอร์ดเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ถนนถูกตัดให้เป็นโค้งสลับไปมา ตามแนวของฟยอร์ดนั้นเอง ทำให้บริการเรือเฟอร์รี่เป็นที่นิยมของชาวนอร์เวย์ เพราะจะช่วยย่นระยะทางให้สั้นลงได้ ด้วยการนำรถขึ้นเรือแล่นผ่านฟยอร์ดเหล่านี้เสียเลย โดยการใช้บริการเรือเฟอร์รี่ข้ามฟยอร์ดแบบนี้ คนที่นี่ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

137

     สำหรับการเดินทางในวันสุดท้าย เรามุ่งหน้าออกจากเมือง Bergen เพื่อไปยังเมือง Oslo เรามีการขับฝ่าหิมะกันแบบจริงจัง ไม่ใช่แค่หิมะตกปรอยๆ ตกถึงพื้นแล้วละลายไปนะครับ มันคือหิมะจริงๆ ตกกันแบบกระหน่ำจนพื้นถนนและข้างทางเต็มไปด้วยหิมะขาวโพลนสุดสายตา

182

     เบื้องหน้าขาวโพลนอันแสนสวยงามนั้น เบื้องหลัง (พวงมาลัย) กลับต้องระทึกขวัญ เพราะรถ Mazda CX-5 ทุกคันในขบวนนี้ล้วนแล้วแต่เป็นยาง Summer แทบทั้งสิ้น ไม่มีคันไหนใส่ยาง Winter เลย เมื่อเจอกับหิมะแบบนี้จะลื่นกว่าปกติมาก

143

     มากขนาดไหนน่ะหรือครับ เอาเป็นว่าหลังจากหิมะถล่มไม่ทันไร เราเจอรถท้องถิ่น 2 คัน (แถมยังเป็นแบรนด์ยุโรปหรูทั้งคู่เสียด้วยสิ) ไถลลงไปแช่กองหิมะข้างทางกันสบายใจเฉิบ จากนั้นไม่นาน รถ CX-5 ข้างหน้าคันหนึ่งในขบวนที่เป็นรุ่นขับเคลื่อนสองล้อ ก็เริ่มออกอาการเป๋ แม้ว่าระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC และระบบป้องกันการลื่นไถล Traction control ร่วมใจกันทำงานอย่างสุดกำลังแล้วก็ตามที แต่ด้วยทักษะของผู้ขับขี่ก็สามารถประคองพวงมาลัยจนรอดมาได้ โดยอาศัยรถคันอื่นที่เป็นรุ่น AWD ช่วยเปิดไลน์ถนนเกลี่ยหิมะเพื่อให้พื้นลื่นน้อยที่สุด

     จุดนี้ทำให้เราได้เห็นถึงความดีงามของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ i-ACTIV AWD ที่สามารถขับขี่ผ่านสภาพถนนที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะอันแสนลื่นได้อย่างไม่ต้องเป็นกังวลเลย เราสามารถใช้ความเร็วถึง 40-50 กม./ชม. ได้อย่างสบายๆ โดยไม่มีอาการลื่นไถลแม้แต่นิดเดียว

185

     แต่กระนั้น จู่ๆ หน้าจอก็ขึ้นข้อความ “Front Radar Blocked” ให้ระทึกใจอีกครั้ง ซึ่งสาเหตุมาจากหิมะไปเกาะกับเรดาร์เซ็นเซอร์ ทำให้ไม่สามารถใช้งานระบบบางอย่างที่ต้องอาศัยเรดาร์ตัวนี้ในการทำงานได้ (เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ MRCC เป็นต้น) ซึ่งหากเป็นบ้านเราคงไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้อย่างแน่นอน

326

     การเดินทางเปิดประสบการณ์สุดขอบฟ้ากับมาสด้า หรือ Mazda Passion Drive to The New Horizon ก็มาจบกับที่จุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพในเมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ รวมระยะทางกว่า 3,700 กิโลเมตร และหากนับระยะทางกรุ๊ป A ด้วย ก็จะมีระยะทางทั้งสิ้น 6,500 กิโลเมตร บนเส้นทางสแกนดิเนเวีย 3 ประเทศ กับรถ Mazda CX-5 2018 ใหม่ ที่ทำเราแทบไม่อยากกลับไทยกันเลยทีเดียว

 

     ขอขอบคุณ ผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบในครั้งนี้

 

อัลบั้มภาพ 34 ภาพ

อัลบั้มภาพ 34 ภาพ ของ รีวิว Mazda CX-5 2.2 SKYACTIV-D 2018 ใหม่ ซิ่งตะลุยหิมะของจริงที่นอร์เวย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook