แต่งรถแบบไหน "จำเป็น" ต้องแจ้งขนส่ง?
การแต่งรถหรือดัดแปลงสภาพรถแบบไหนที่ต้องแจ้งลงเล่มก่อนนำไปใช้งาน มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดถึง 5,000 บาท
การแต่งรถถือเป็นการดัดแปลงสภาพรถให้ต่างไปจากเดิม เจ้าของรถมีหน้าที่ต้องนำรถเข้าตรวจสภาพและแก้ไขรายละเอียดในเอกสารคู่มือจดทะเบียนรถก่อนนำไปใช้งาน แต่ทั้งนี้ การดัดแปลงสภาพรถบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งต่อขนส่งเสมอไป
การดัดแปลงสภาพรถที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสภาพและแก้ไขรายละเอียดในคู่มือจดทะเบียน เป็นการดัดแปลงที่ส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวรถ หรือการติดตั้งเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของให้ได้ปริมาณมากขึ้น เช่น การติดตั้งโครงหลังคา, เปลี่ยนเครื่องยนต์, เปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งการดัดแปลงที่ส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงและโครงสร้างหลักของตัวรถ ต้องนำรถเข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ที่สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนไว้
หากพบว่ามีการแก้ไขดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เจ้าของรถจะมีความผิดตามกฎหมาย หากเป็นรถตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ.2522 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีเป็นรถตาม พ.ร.บ. ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
การแก้ไขดัดแปลงสภาพรถที่ต้องแจ้งขออนุญาตต่อนายทะเบียน ประกอบด้วย
- การเปลี่ยนเครื่องยนต์
- การเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง
- แก้ไขดัดแปลงตัวถังรถ
- ระบบบังคับเลี้ยว และระบบขับเคลื่อน
- การเปลี่ยนสีรถ
- ระบบกันสะเทือน
- ระบบรองรับน้ำหนัก เช่น เสริมแหนบ, โหลดเตี้ย, ยกสูง
- การติดตั้งโครงหลังคาหรือเหล็กด้านข้างรถ
- ติดตั้งอุปกรณ์ทุ่นแรงยกสิ่งของ (Tail Lift)
การแก้ไขดัดแปลงสภาพที่ไม่ต้องแจ้งขออนุญาตต่อนายทะเบียน ประกอบด้วย
- แร็คหลังคา
- โรลบาร์
- สปอยเลอร์
- กันชน
- อุปกรณ์ขนจักรยาน
- แม็กไลน์เนอร์
ทั้งนี้ การดัดแปลงสภาพที่ไม่ต้องแจ้งต่อกรมการขนส่งทางบก เป็นการติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งรถหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้สภาพของรถเปลี่ยนแปลงไป หากขนาดและตำแหน่งในการติดตั้งเหมาะสมและมีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัย รวมถึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของผู้อื่น
ส่วนกรณีที่มีการเปลี่ยนสีตัวถังรถไปจากที่จดทะเบียนไว้ ต้องแจ้งเปลี่ยนสีรถภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันเปลี่ยนสีรถ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ