รู้ทันค่าเสียหายส่วนแรก (Excess และ Deductible) ก่อนถูกประกันหลอก
ค่าเสียหายส่วนแรก (Excess และ Deductible)
เรามักจะได้ยินคำนี้เวลาพูดถึงการเคลมประกันภาคสมัครใจ แต่เราเข้าใจเรื่องนี้ดีพอมั้ยครับ หรือเคยรู้มั้ยครับว่า บางครั้งการยอมจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกกลับจะทำให้เราประหยัดค่าเบี้ยประกันลงได้มากทีเดียว หรืออย่างน้อยก็เหมือนชะลอการจ่ายเบี้ยประกันให้ช้าลง ลองมาทำความเข้าใจกันดู
สำหรับความหมายโดยรวมของ "ค่าเสียหายส่วนแรก" คือ ค่าความเสียหายส่วนแรก แปลง่าย ๆ ก็คือ ค่าสินไหมทดแทนส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยตกลง (ปลงใจ - สมัครใจ) รับภาระเอง โดยจะระบุไว้เป็นข้อตกลงในกรมธรรม์ นั่นเอง
ตัวอย่าง สมมติค่าเบี้ยประกันปกติอยู่ที่ 25,000 บาท แต่เราทำข้อตกลงกับบริษัทว่า หากเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง เราจะจ่ายค่าเสียหายในส่วนแรก 5,000 บาท (อาจจะซ่อมรถเรา หรือชดเชยค่าเสียต่อทรัพย์สินคนอื่น) เราจะได้สิทธิจ่ายเบี้ยประกันลดลง 5,000 บาท ( จ่ายเบี้ยทำประกันรถยนต์แค่ 20,000 บาท) ในระหว่างที่อยู่ในระยะประกันนั้น ถ้าเกิดอุบัติเหตุและเราเป็นฝ่ายผิด เมื่อบริษัทประเมินความเสียหายแล้ว อยู่ที่ 8,000 บาท ดังนั้น เราต้องจ่าย "ค่าเสียหายส่วนแรก" เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ตามที่ได้ทำข้อตกลงไว้ตอนที่ทำกรมธรรม์ประกันรถยนต์ ส่วนที่เหลืออีก 3,000 บาท บริษัทจะจ่ายต่อไป แต่ถ้าความเสียหายไม่เกิน 5,000 บาท เราก็จ่ายให้คู่กรณีตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
ที่มาของกฎนี้ คือ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ต้องการให้เราไม่ประมาทและให้เราเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่รถให้ปลอดภัย ไม่เกิดค่านิยมคอยโยนภาระของตนเองให้คนอื่น ๆ (บริษัทประกัน) หรือไม่ตระหนักป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนอื่น (เพราะคิดว่าไม่ต้องทำอะไร ประกันจะทำให้หมด ซึ่งเป็นค่านิยมและความเข้าใจที่ผิด)
ดังนั้น ค่าเสียหายส่วนแรก ทั้ง Excess และ Deductible นั้น จะมีขึ้น (ต้องเสียตังค์) ก็ต่อเมื่อการเกิดเหตุความเสียหาย (เพราะขับรถที่เราทำประกันภัยไว้) และเราหรือผู้ขับขี่รถ (ที่ทำประกันภัย) เป็นฝ่ายต้องรับผิดในเหตุการณ์นั้น ๆ (ชนท้ายคนอื่น หรือซุ่มซ่ามชนประตูรั้วบ้านตัวเอง) หรือทำเราผิดจากสัญญาในกรมธรรม์เท่านั้นแบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้ครับ
1. Excess (เอ็กเซส ไม่ใช่ แอ็คเซฟหรือแอคเซสตามที่หลายคนอ่านผิด)
ความเสียหายส่วนแรกในกรณีทำผิดสัญญา พูดง่าย ๆ คือ เรา (ผู้เอาประกันภัย) เป็นฝ่ายผิดไม่พอ ยังละเมิดข้อตกลงที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อีก พิกัดอัตราจึงเป็นไปตามที่ คปภ. กำหนดไว้ (ในที่นี้ยกตัวอย่างประกันชั้น 1) ได้แก่
1) กรมธรรม์แบบระบุชื่อคนขับ (เบี้ยประกันจะถูกว่าไม่ระบุชื่อคนขับ) แต่เราอนุญาตให้คนอื่นขับขี่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุและเป็นฝ่ายผิด เราจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายแต่ละครั้ง ดังนี้
ก. 2,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (รถ อาคาร กำแพง ฯลฯ)
ข. 6,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของเรา (ที่เกิดการชน / คว่ำ)
2) ใช้รถผิดจากประเภทจากที่ระบุในกรมธรรม์ เช่น กรมธรรม์ระบุการใช้รถยนต์ว่า "ใช้ส่วนบุคคล ไม่ใช่รับจ้างหรือให้เช่า" แต่เราเอาไปหาลำไพ่รับจ้างส่งของ เอาไปให้เช่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วคนที่ขับเป็นฝ่ายผิด เราต้องรับผิดชอบเอง 2,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (รถ อาคาร กำแพง ฯลฯ)
2. Deductible สำหรับ Deductible จะแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1: ความเสียหายที่ไม่เกิดจากการชนหรือคว่ำ หรือ ชนแต่หาคู่กรณีไม่ได้ หรือ เราไม่ได้ขับรถชนเองแต่เราไม่สามารถระบุเหตุความเสียที่ชัดเจนพอที่จะให้บริษัทประกันไปไล่เบี้ยหาต้นเหตุจนพบคนที่ต้องรับผิดชอบได้ เราจะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก 1,000 บาท สำหรับความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของเรา เช่น
1. ถูกมุ่งร้าย กลั่นแกล้ง แล้วหาคู่กรณีไม่ได้ เช่น รถถูกขีดข่วน
2. เสียหายส่วนพื้นผิวสีรถ (ตัวรถและอุปกรณ์ในรถไม่เสียหาย) เช่น หินกระเด็นใส่ เฉี่ยวกิ่งไม้/สายไฟ/ลวดหนาม ขับรถตกหลุม / ครูดพื้นถนน เหยียบตะปูหรือของมีคมหรืออะไรที่ทำให้ยางฉีก ละอองสีปลิวมาโดน / วัสดุหล่นมาโดน
3. ระบุสาเหตุที่ทำให้รถเสียหายไม่ได้ รวมถึงระบุวัน เวลา สถานที่เมื่อรถเกิดความสียหายที่ชัดเจนไม่ได้ เช่น กระจกรถแตก ถูกสัตว์กัดแทะหรือขีดข่วนถูกวัสดุในตัวรถกระแทก
4. ไถลตกข้างทางแต่ยังไม่พลิกคว่ำ
5. ชนกับพาหนะอื่นแต่แจ้งรายละเอียดคู่กรณีไม่ได้
พูดง่าย ๆ คือ ถ้าไม่ต้องการจ่าย ต้องสามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นการชน หรือ ระบุเหตุความเสียที่ชัดเจนพอที่จะให้บริษัทประกันไปไล่เบี้ยหาต้นเหตุจนพบคนที่ต้องรับผิดชอบได้ เช่น
1. ชนกับพาหนะอื่นและแจ้งรายละเอียดคู่กรณีให้ได้ (ติดกล้องวงจรปิดสำหรับรถยนต์ไว้ชนครั้งเดียวก็คุ้มแล้ว)
2. ชนกับที่ยึดแน่นตรึงตรากับพื้นดิน
- เสา / ประตู / เสาไฟฟ้า / กำแพง / ป้ายจราจร
- ทรัพย์สินอื่นที่ยึดแน่นตรึงตรากับพื้นดิน
3. ชนต้นไม้ยืนต้น / ฟุตบาธ / ราวสะพาน
4. ชนกองดิน หรือชนหน้าผา
5. ชนคน / สัตว์
6. รถพลิกคว่ำ
กรณีที่ 2: ความเสียหายส่วนแรกโดยสมัครใจ โดยเป็นการตกลงกัน ระหว่างบริษัท (ประกันภัย) กับเรา (ผู้เอาประกัน) โดยบริษัทจะยินยอมลดเบี้ยประกันลงเท่ากับค่าเสียหายส่วนแรกที่เราสมัครใจจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นในแต่ครั้ง (นอกเหนือกรณีการจ่ายค่า Excess หรือ deductible ในกรณีที่ 1) โดยเราสามารถเลือกได้ 2 ประเภทความคุ้มครอง คือ คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของรถเราเอง (ที่ทำประกัน ซึ่งก็ต้องเป็นกรณีของการชน) หรือคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (รถหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ของคู่กรณีที่เกิดความเสียหาย)
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการยอมจ่ายแบบสมัครใจก็คือว่า สถิติการขอเคลมประกันเฉลี่ย (หลายท่านอาจจะไม่เคยรู้) ถ้าได้อ่านต่อไป ท่านจะสนใจแน่นอน
· 1 คน จะขอเคลม 1 ครั้งในทุก 3 ปี สำหรับอุบัติเหตุทั่วไป
· 1 คน จะขอเคลม 1 ครั้งในทุก 10 ปี สำหรับอุบัติเหตุที่มีค่าความเสียหายมาก
ดังนั้น ยิ่งถ้าเรามีความระมัดระวังในการขับขี่ ไม่ใช่พวกมือใหม่หัดขับ มีวินัยจราจร ไม่ใจร้อนซุ่มซ่าม โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุและเป็นฝ่ายผิดก็น้อยลงอีก เมื่อเราเลือกรับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกเอง เราก็จะประหยัดเบี้ยประกันภัยลง หรือแม้ต้องจ่ายอย่างน้อย 1 ครั้ง ก็เท่ากับชะลอการจ่ายเบี้ยประกันแบบไม่เลือกรับผิดผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกนั่นเอง
โดยสรุป
จะเห็นว่า เมื่อเราทำประกันภัยรถยนต์แล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องทำอะไรเลย หรือหากเราสมัครใจเลือกรับภาระเราเองบางส่วน (ซึ่งก็มาจากความผิดของเราเสียส่วนใหญ่) เราก็จะยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นนั่นเอง
ที่มา http://insurancethaicar.blogspot.com/2013/06/excess-vs-deductible.html