ขนส่งฯ เพิ่มผู้ป่วย "โรคลมชัก" ห้ามทำใบขับขี่เด็ดขาด
กรมการขนส่งทางบกเพิ่มกำหนดหลักเกณฑ์ โรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ เป็นโรคประจำตัวอันตรายขณะขับรถ ห้ามทำใบขับขี่เด็ดขาด
กรมการขนส่งทางบกได้หารือร่วมกับแพทยสภาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสุขภาพเพื่อออกใบรับรองแพทย์สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ โดยได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ให้ “โรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้” เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ ไม่สามารถขอรับใบขับขี่ได้
ทั้งนี้ หากแพทย์ผู้ให้การรักษารับรองว่าผู้ป่วยไม่มีอาการชักเกินกว่า 2 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถออกใบรับรองแพทย์ เพื่อขอรับใบอนุญาตขับรถได้ตามปกติ
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกได้กำชับนายทะเบียนทั่วประเทศเพื่อให้การตรวจสอบลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบขับขี่ เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทุกสำนักงาน โดยให้ตรวจสอบหลักฐานใบรับรองแพทย์ที่ใช้ประกอบคำขอ ดังนี้
ต้องเป็นใบรับรองแพทย์ตามแบบมาตรฐานที่แพทยสภารับรอง ในส่วนที่ 1 ของผู้ขอรับใบรับรองสุขภาพลงลายมือชื่อรับรองตนเอง ประวัติโรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุและการเข้ารับการผ่าตัดที่สำคัญ ส่วนที่ 2 ของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายรับรอง และในกรณีผู้ขอรับใบรับรองสุขภาพป่วยเป็นโรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ต้องได้รับการรับรองว่าผู้ป่วยโรคลมชักไม่มีอาการชักเกินกว่า 2 ปี
รวมถึงการรับรองในกรณีอื่น เช่น ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถขับรถได้ ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน ไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษ ไม่ปรากฏอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง และไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการ วัณโรคในระยะอันตราย
ไม่เพียงเท่านี้ กรมการขนส่งทางบกและแพทยสภายังอยู่ระหว่างหารือโรคอันตรายขณะขับรถเพิ่มเติม เช่น โรคเบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจหรือขยายเส้นเลือดหัวใจซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ เป็นต้น