เมื่อซีพีรุกเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์3สัญชาติผลิตในไทย
หากพูดถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี นับเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ทั้งไทยและระดับโลก ที่ประสบความสำเร็จทั้งธุรกิจการเกษตร ธุรกิจค้าปลีก รวมทั้งธุรกิจโทรคมนาคม แต่ธุรกิจยานยนต์ ซีพีมีประสบการณ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากการผลิตรถจักรยานยนต์ และก่อนหน้านี้ซีพีเคยร่วมมือกับ "ไทยยานยนต์" ผู้ถือสิทธิ์รถยนต์โฟล์คสวาเกนในไทย นำรถยนต์ขนาดเล็กอย่าง "เฌอรี" จากประเทศจีน เข้ามาทำตลาดในไทย แต่ภาพลักษณ์ของสินค้าจีน รวมทั้งการเกิดขึ้นของโครงการรถอีโคคาร์ของรัฐบาลไทย ทำให้ "เฌอรี" ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
แต่นั่นไม่ใช่การยุติความพยายามในธุรกิจยานยนต์ เพราะเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ซีพีลงทุนครั้งสำคัญในการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดชลบุรี โดยการเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง เซี่ยงไฮ้ ออโตโมบิล อินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น ประเทศจีน หรือ SAIC และเครือซีพี ในการผลิตรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี รุ่น เอ็มจี 6
ซึ่งครั้งนี้ ซีพีได้ใช้ความเป็นรถยนต์ที่ออกแบบและเป็นยี่ห้อเก่าแก่ของอังกฤษกว่า 90 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นของจีน ผสานกับกลุ่มทุนไทยอย่างซีพี กลายเป็นรถยนต์แบบ 3 สัญชาติ ภายใต้ชื่อบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 51 ของ SAIC และ ร้อยละ 49 ของซีพีและการลงทุนครั้งนี้แสดงถึงความตั้งใจที่จะรุกธุรกิจยานยนต์ของซีพีในประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้จากการมาร่วมเปิดโรงงาน ที่มีทั้งธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี รวมทั้งพี่น้องผู้ร่วมก่อตั้งเครือซีพี จรัญ - มนตรี - และสุเมธ เจียรวนนท์ ที่มาร่วมในงาน
ศูนย์การผลิตรถยนต์ เอ็มจี จะผลิตรถยนต์ เอ็มจี 6 เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย ถือเป็นรถยนต์ที่ได้มาตรฐานระดับโลก มีกำลังการผลิต 50,000 คันต่อปี หรือ 25,000 คันต่อหนึ่งกะการผลิต โดยเตรียมผลิตและส่งมอบรถยนต์รุ่นเอ็มจี 6 ได้ภายในไตรมาสที่สามของปีนี้ จำนวน 2 พันคัน และขยายเครือข่ายศูนย์บริการไว้รองรับ 15 แห่ง และขยายเพิ่มเป็น 30 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้
รวมทั้งศูนย์การผลิตรถยนต์แห่งนี้ เป็นฐานการผลิตรถยนต์เอ็มจี พวงมาลัยขวา เพื่อการส่งออก ในภูมิภาคนี้ โดยจะเริ่มจากประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่นๆที่มีตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา และจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยร้อยละ 45-50
ซึ่งเครือซีพีมั่นใจว่า การลงทุนและการทำตลาดที่แตกต่างจากรถเฌอรี จะทำให้ซีพีประสบความสำเร็จและปักธงธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทยได้เสียที
ทั้งนี้ งบลงทุนกว่า 9 พันล้านบาท จะใช้ตั้งฐานผลิตในไทยบนพื้นที่ 30 ไร่ และจะขยายการผลิตในปีหน้าถึง 1 หมื่น 4 พันคัน รวมทั้งเริ่มผลิตรถยนต์รุ่นเอ็มจี 3 และเอ็มจี 5 อีกด้วย และตั้งใจที่จะขยายกำลังการผลิตถึง 150,000-200,000 คันต่อปี คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10 ภายในปีที่ 3 ของการทำตลาด ทั้งรถยนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งการรุกเข้าสู่ธุรกิจรถอีโคคาร์ และรถปิกอัพ แม้ในจีน SAIC จะไม่มีการผลิตปิกอัพก็ตาม
นอกจากรถยนต์ เอ็มจีแล้ว SAIC ยังมีรถในเครือทำตลาดคือ โรเว ซึ่งเป็นรถที่ซื้อเทคโนโลยีมาจากโรเวอร์ อังกฤษ ที่จะนำเข้ามาเสริมตลาดในอนาคตด้วย
นับเป็นย่างก้าวที่น่าจับตามองของซีพี สำหรับธุรกิจยานยนต์ จะสามารถประสบความสำเร็จ เหมือนกับธุรกิจอื่นๆที่ซีพีทำมาแล้วในประเทศไทย
ขอบคุณเนื้อหาจาก VoiceTV
อัลบั้มภาพ 29 ภาพ