"ผ่อนรถไม่ไหว" มีทางออกแบบไม่เสียเครดิต-ไม่ถูกยึดรถ!
หากใครกำลังเผชิญกับปัญหาทางการเงิน แถมยังมีหนี้รถยนต์ที่ต้องจ่ายทุกเดือน หากรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะผ่อนไม่ไหว บริษัทไฟแนนซ์ส่วนใหญ่จะมีทางออกให้ นั่นคือ "การปรับปรุงโครงสร้างหนี้" นั่นเอง
เจ้าของรถหลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า สัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไป จะอนุโลมให้ผู้เช่าซื้อชำระค่างวดล่าช้าได้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน หากเกินกว่านั้น ไฟแนนซ์มีสิทธิ์ยึดรถของเราได้โดยชอบตามกฎหมาย หากใครกำลังหน้ามืดหาเงินมาจ่ายไม่ไหว อาจเลือกวิธีปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป แล้วถือว่าจบกัน เพราะคิดว่ายอมเสียรถไปเสียดีกว่าจะนั่งผ่อนต่อ แถมไม่ต้องจ่ายค่างวดที่ค้างไว้อีกด้วย
แต่การปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถ คือจุดเริ่มต้นของหายนะที่จะเข้ามาอีกสารพัด เนื่องจากไฟแนนซ์จะนำมาประกาศขายทอดตลาด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักได้ราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากจนน่าใจหาย แล้วมาหักลบกลบหนี้ที่ลูกหนี้ยังคงค้างไว้ (ซึ่งมักไม่พอทบหนี้ที่เหลือ) บวกกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าขาดประโยชน์, ค่าติดตามทวงถาม, ค่าครอบครองรถขณะรอขายทอดตลาด เป็นต้น ทำให้ลูกหนี้กลับกลายเป็นมีหนี้อีกก้อนหนึ่งที่ต้องชำระให้กับไฟแนนซ์หลังจากถูกยึดรถ หากไม่ชำระก็จะถูกฟ้องร้องต่อไป
อย่างไรก็ดี ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ไฟแนนซ์ส่วนใหญ่จะมีมาตรการ "ปรับปรุงโครงสร้างหนี้" สำหรับผู้ที่ผ่อนรถไม่ไหว โดยจะเป็นการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อออกไปอีก ซึ่งโดยมากจะเพิ่มได้สูงสุดอยู่ที่ 48 เดือน เมื่อรวมกับสัญญาเดิมจะต้องไม่เกิน 96 เดือน (เงื่อนไขอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบันการเงิน) จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ผ่อนชำระมาระยะหนึ่ง แล้วเกิดผ่อนต่อไม่ไหว การปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะทำให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลง แถมยังทำให้ไม่เกิดประวัติเสียกับเครดิตบูโรด้วย
โดยเงื่อนไขของผู้ขอรับการปรับปรุงโครงสร้างนี้ จะต้องมีประวัติชำระมาแล้วระยะหนึ่ง (ส่วนมากกำหนดไว้ที่ 12 เดือน), มีการต่อภาษีรถยนต์เป็นประจำ, มีผู้ค้ำประกัน เป็นต้น
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว จะช่วยให้ค่าผ่อนชำระต่อเดือนลดลง แลกกับดอกเบี้ยและระยะเวลาผ่อนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจเป็นประโยชน์สำหรับใครที่ชักหน้าไม่ถึงหลังได้