"รถ EV" อาจไม่ใช่ของเล่นคนรวยอีกต่อไป
กระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) ในบ้านเรา กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหลังจากค่ายรถ "เอ็มจี" เปิดตัว New ZS EV รถไฟฟ้าที่ให้กำลังระดับ 150 แรงม้า ในราคาหนึ่งล้านต้นๆ ส่งผลให้เรื่องของการชาร์จไฟ และความประหยัดถูกจับตาอีกครั้ง ว่ารถ EV อาจไม่ใช่ของเล่นเศรษฐีอีกต่อไป
รถ EV ประหยัดแค่ไหน
แน่นอนว่านอกจากเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ประเด็นสำคัญของรถ EV คือค่าใช้จ่ายที่จะถูกลงหลายเท่าตัวจากการใช้รถยนต์ในรูปแบบเดิม โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปกติรถยนต์โดยทั่วไป เติมน้ำมันเต็มถังจะอยู่ราว 1,000-1,500 บาท ซึ่งวิ่งได้ประมาณ 400-600 กิโลเมตร
แต่หากเป็นรถ EV มีการคำนวนคร่าวๆถึงการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ราวๆ 180-200 บาท และรถวิ่งได้ในระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร นั่นเท่ากับว่า จะประหยัดค่าพลังงานจากเดิมเกือบ 3 เท่าตัวเลยทีเดียว
นอกจากนี้ เมื่อรถ EV ไม่มีเครื่องยนต์แล้ว นั่นเท่ากับว่า ในการนำรถเข้าบำรุงรักษาตามระยะทาง เราจะไม่ต้องเสียค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอีกต่อไป รวมถึงส่วนที่เป็นของเหลวและอะไหล่ทั้งหมด อาทิ หัวเทียน น้ำมันเกียร์ กรองเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งมีการประเมินกันว่า รถ EV จะเสียค่าบำรุงรักษาไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตลอดหนึ่งแสนกี่โลเมตรแรกเท่านั้น
ต้องชาร์จไฟอย่างไร
รูปแบบของการชาร์จไฟนั้น หลักๆจะมี 3 รูปแบบ คือ 1.การชาร์จแบบเร็ว (Quick Charger) ด้วยไฟฟ้ากระแสตรงใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที ส่วนใหญ่จะอยู่ตามสถานีบริการ 2.การชาร์จฯแบบ Double speed charge ผ่านเครื่องชาร์จ Wall Box (อุปกรณ์ที่ติดตั้งเป็นพิเศษเพื่อชาร์จโดยการเสียบปลั๊กจากไฟบ้าน มีความปลอดภัยสูง) ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง
และรูปแบบสุดท้ายคือ 3. การชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge) โดยใช้สายชาร์จที่มักจะแถมมากับตัวรถ ซึ่งวิธีดังกล่าวผู้ใช้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากกระแสไฟค่อนข้างสูง และมีโอกาสเกิดไฟช็อตเหมือนกรณีที่รถสปอร์ตแบรนด์หรูยี่ห้อหนึ่งเคยถูกไฟไหม้ขณะจอดชาร์จไฟที่บ้านมาแล้ว
ต้องชาร์จไฟที่ไหน
จากพฤติกรรมการใช้รถยนต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องขับรถเข้าไปเติมน้ำมันตามสถานีบริการน้ำมัน หากเปลี่ยนมาเป็นรถ EV รูปแบบการเติมพลังงานก็จะต้องเปลี่ยนไป จากเติมน้ำมัน เป็นชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งในปัจจุบัน เริ่มมีจุดบริการชาร์จไฟกระจายอยู่เกือบ 1,000 แห่งทั่วไปประเทศ
โดยขั้วสำหรับชาร์จรถประเภทนี้ จะเป็นรูปแบบเดียวกันกับรถยนต์ ปลั๊กอิน-ไฮบริด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถแบรนด์ยุโรป ที่ใช้งานกันอยู่ในบ้านเรานั่นเอง นอกจากนี้ปัจจุบัน ยังมีแอพพลิเคชั่น MEA EV ของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเป็นแอพที่รวบรวมพิกัดของผู้ให้บริการจุดชาร์จไฟ ทั้งรัฐบาล และเอกชน เอาไว้อำนวยความสะดวกอีกด้วย
ราคารถ EV ในเมืองไทย
หลังจาก Nissan Leaf เปิดตัวในเมืองไทยในราคา 1.99 ล้านบาทเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ณ ตอนนั้น กระแสรถ EV ดูจะอยู่ในวงแคบ เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าราคายังสูงเกินไป แต่เมื่อล่าสุด ค่าย MG เปิดตัว ZS EV ใหม่ในราคา 1.19 ล้านบาท ส่งผลให้รถประเภทนี้ถูกจับตามองอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี แม้ราคาจะโดนใจ และเป็นราคาที่ผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไปสามารถจับต้องได้ รวมถึงอาจไม่ใช่รถที่เป็นแค่ของเล่นของคนรวยอีกต่อไป แต่คงต้องจับตาดูกันต่อว่า เมื่อถึงเวลาจริงๆแล้ว ยอดจองและยอดขายจะเข้าเป้าหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่ารถ EV อาจจะได้รับความนิยมในเมืองไทยเร็วกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้