เรื่องปวดหัวเมื่อถึงวันต้อง “ซ่อมรถ”
หากรถยนต์ของคุณมีปัญหา เจ้าของรถทุกคนคงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการนำรถเข้าไปซ่อมที่อู่ แม้กระทั่งการนำรถเข้าเช็กระยะตามปกติที่ศูนย์บริการ แต่เคยรู้สึกกันบ้างไหมว่าบางครั้งทำไมราคาซ่อมถึงแพงผิดปกติ และเป็นไปได้ไหมที่คนใช้รถอย่างเราๆ จะเสียรู้ให้กับอู่หรือศูนย์บริการเหล่านี้
น้ำมันในถังหายไปไหน?
หากเป็นการซ่อมที่เกี่ยวกับเรื่องเครื่องยนต์รวมถึงอัตราเร่ง แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นอู่รถยนต์เอกชนทั่วไปรวมถึงศูนย์บริการมาตรฐานของแต่ละยี่ห้อ เมื่อมีการซ่อมรถเสร็จแล้วจะต้องมีการนำรถออกไปเทสต์ ซึ่งในช่วงของการนำรถไปเทสต์นี้เองช่างบางคนอาจจะเหยียบคันเร่งชนิดที่รอบเครื่องพุ่งปรี๊ดกว่าการใช้งานปกติ และหากสังเกตกันให้ดี เมื่อถึงกำหนดรับรถ ระดับน้ำมันเชื้อเพลิงจะในถังของคุณจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขึ้นอยู่กับว่าจะลดมากหรือลดน้อย ซึ่งตามปกติแล้วไม่มีการรับผิดชอบจากอู่แต่อย่างใด เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการซ่อมนั่นเอง
เช็คฟรี 20 รายการ ระวังให้ดี!
อู่ซ่อมทั่วไป รวมถึงศูนย์บริการ มักจะมีโปรโมชั่นพิเศษตรวจเช็กฟรีในช่วงเทศกาล จะตรวจเช็กกี่รายการก็ว่ากันไป ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 20-30 รายการ ซึ่งเมื่อเห็นคำว่า “ฟรี” แล้ว แน่นอนว่าดึงดูดใจลูกค้าทุกคน แต่หารู้ไม่ว่าบางทีเมื่อเรานำรถเข้าไปตรวจเช็กแล้ว อะไหล่บางอย่างที่อาจจะยังไม่หมดสภาพ ก็อาจได้ถูกเหมารวมว่าเสีย จนต้องเสียเงินเปลี่ยนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
อู่ซ่อมรถเลี้ยงไข้มีจริงหรือ?
ในวงการแพทย์มีคำว่า “เลี้ยงไข้” วงการซ่อมรถยนต์ก็เช่นกัน อาทิ เมื่อนำรถเข้าไปซ่อมแล้วอาการยังไม่หาย ลูกค้าบางคนก็อยากที่จะนำรถกลับไปให้อู่เดิมซ่อมต่อ เพราะมองว่าช่างได้เคยรู้อาการและประวัติของรถมาแล้ว น่าจะซ่อมให้หายได้ โดยที่อาจจะไม่ทราบว่ากำลังถูกหลอกอยู่หรือไม่ ฉะนั้นหากเห็นท่าไม่ดี ซ่อมแล้วไม่หาย ซ่อมแล้วราคาแพงไป ก็เป็นสิทธิ์ของคุณว่าจะกลับไปอู่เดิมหรือมองหาที่ใหม่อันน่าทำให้เราไม่ต้องปวดหัวได้
ศูนย์บริการทำไมซ่อมแล้วไม่หาย?
เทคโนโลยีรถยนต์มีการพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และกำลังพัฒนากันอย่างต่อเนื่องไปสู่อนาคต ทำให้เทคโนโลยีในรถยนต์ยุคนี้ส่วนใหญ่จะถูกควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นบางทีก็ทำให้ช่างตามศูนย์บริการหาสาเหตุไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าสิ่งของทุกอย่างที่ถูกผลิตขึ้นมาไม่แม้กระทั่งรถยนต์ ล้วนต้องมีข้อบกพร่อง (Defect) ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่ามันจะเกิดขึ้นกับคุณหรือไม่ ฉะนั้นหากต้องถึงขั้นเปลี่ยนอะไหล่ก็ควรเช็กระยะเวลารับประกันอะไหล่ของรถคันนั้นๆ ให้ดี
รื้อจนรถขับไม่ได้ แล้วบังคับซ่อม
ในบางครั้งเมื่อเรานำรถเข้าไปให้อู่หรือศูนย์ดูอาการ ช่างอาจจำเป็นต้องรื้อห้องเครื่องเพื่อเข้าไปหาอะไหล่ชิ้นนั้นๆ ถึงจะสามารถบอกเราได้ว่าอาการเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีบางอู่ที่เมื่อรื้อเครื่องของเราแล้ว และตีราคาออกมาสูงจนต้องกุมขมับ แต่เจ้าของรถหมดทางเลือก เพราะช่างเล่นรื้อจนขับไม่ได้ขนาดนี้ จะยกเลิกการซ่อมก็ต้องเสียค่าแรงประกอบเข้า-ออก รวมถึงเสียเวลาอีก ได้แต่ให้ช่างจัดการซ่อมไปอย่างเสียไม่ได้ ซึ่งทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วราคาอาจจะไม่สูงถึงขั้นนั้นก็เป็นได้
ตกลงราคานี้ แต่มีโทรแจ้งเพิ่มเติม
อีกหนึ่งกลยุทธ์ทำกำไรของทั้งอู่และศูนย์บริการ คือเมื่อตกลงรับรถเข้าซ่อมหรือเช็กระยะในประมาณราคาหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นไม่นานจะมีการโทรศัพท์กลับมาว่า ไปเจออะไหล่ชิ้นนั้นเสียหรือหมดสภาพ ควรต้องเปลี่ยน! และถามเราว่าจะให้ดำเนินการเปลี่ยนเลยหรือไม่ ซึ่งบางทีเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าอะไหล่ที่ว่านั้นหมดสภาพจริงหรือไม่ ฉะนั้นทางที่ดีในฐานะเจ้าของรถควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นว่าอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยของอะไหล่แต่ละชิ้นมีระยะเวลาเท่าไหร่บ้าง เพื่อจะได้ไม่เสียเงินเกินความจำเป็น
ป.ล. บทความนี้ทั้งหมดเกิดจากประสบการณ์ตรงของทีมงานที่เคยประสบมา และไม่ได้มีอคติกับอู่ซ่อมรถและศูนย์บริการค่ายไหนแต่อย่างใด