ไม่รู้ไม่ได้! 5 กฎหมายจราจรที่ควรระวังในการขับขี่ยามวิกาล

ไม่รู้ไม่ได้! 5 กฎหมายจราจรที่ควรระวังในการขับขี่ยามวิกาล

ไม่รู้ไม่ได้! 5 กฎหมายจราจรที่ควรระวังในการขับขี่ยามวิกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย ไร้ค่าปรับ วันนี้เรามาอัปเดตกันว่า พ.ร.บ. การจราจรทางบก ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2562 ที่เพิ่งประกาศใช้จริงออกไปนั้น มีข้อไหนที่ควรต้องระวังไว้บ้าง ซึ่งบางข้อก็ยังคงใช้เหมือนเดิม และบางข้อก็ถูกบัญญัติขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของใบอนุญาตขับขี่ที่คุณไม่รู้ไม่ได้!

1

1. ใบขับขี่ ยึดไม่ได้ แต่ห้ามชะล่าใจ

เฮกันดังๆ ไปเลย เพราะต่อจากนี้เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรไม่สามารถยึดใบอนุญาตขับขี่ของคุณได้อีกแล้ว แต่... พี่ตำรวจยังคงสามารถเรียกตรวจใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นปกตินะ ซึ่งเราสามารถแสดงใบอนุญาตขับรถรูปแบบที่มี QR Code หรือที่เรียกว่าใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ต่อเจ้าหน้าที่ได้ (เปิดผ่านแอปพลิเคชั่น DLT QR License จากกรมการขนส่งทางบก) อย่างไรก็ดีเพื่อความสบายใจ ควรพกใบจริงไว้ด้วย หรือจะเป็นสำเนาภาพถ่ายตามแบบฟอร์มจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งในกรณีที่เราทำความผิดและโดนเปรียบเทียบปรับ จะมีการบันทึกความผิดลงในใบสั่งและส่งไปที่สถานีตำรวจเพื่อทำการตัดแต้ม ผู้ขับขี่แต่ละคนจะมีแต้มประจำตัว เริ่มต้นที่ 12 แต้ม หากถูกตัดครบ 12 แต้ม จะถูกพักใบอนุญาตขับขี่ 90 วันทันที แต่ในกรณีที่ไม่พกบัตรไปด้วย โดนปรับทันทีไม่เกิน 1,000 บาท ใครที่ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่หรือยังขับรถไม่คล่อง ก่อนจะออกตะลุยราตรีช่วงนี้ รีบไปเรียนขับรถกันให้ถูกกฎจราจร จะได้ทำใบอนุญาตขับขี่ให้พร้อม

2

2. รถยนต์ใหม่ ต้องระวังเป็นพิเศษ

ใครที่เพิ่งจะถอยรถใหม่ป้ายแดง จะไปงานเลี้ยงส่งปาร์ตี้ที่ไหน ควรจะต้องดูเวลาไว้ด้วยนะ เพราะตามกฎหมายมีการระบุไว้ชัดเจนว่า รถป้ายแดง สามารถวิ่งบนท้องถนนได้เฉพาะช่วงเวลา 06.00-18.00 น. เท่านั้น แต่ยังดีหน่อยที่มีการอนุโลมให้ใช้งานได้ถึง 20.00 น. ตามสภาพการจราจรในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีหากถูกจับและไม่มีเหตุผลเพียงพอ จะถูกปรับสูงสุด 10,000 บาท บอกให้ หลายๆ คนก็สงสัยว่า แล้วทำไมป้ายแดงอย่างเราถึงต้องถูกจำกัดเวลาแบบนี้ด้วย เหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจคือ รถยนต์ป้ายแดงนั้นเสี่ยงต่อการเกิดโจรกรรม เพราะเป็นรถยนต์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ดังนั้น... ถ้าคุณมีความจำเป็นที่จะต้องไปในที่ลับตาหรือไม่ค่อยมีผู้คนสัญจร ก็พยายามหาอุปกรณ์ป้องกันโจรกรรมต่างๆ มาใช้ก็น่าจะดี

3

3. ภาษีรถยนต์ต่อเรียบร้อยหรือยัง?

เวลาเจอด่านไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนมักจะโดนจับง่ายๆ คือ “ยังไม่ได้ต่อทะเบียน” ซึ่งปัจจุบันนี้คนที่ยังไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งจราจรยังสามารถต่อทะเบียนและชำระภาษีประจำปีได้ แต่จะยังไม่ได้ป้ายวงกลมตัวจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะออกเป็นสำเนาเอกสารชั่วคราวให้ แต่ถ้าไม่มีเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี หรือป้ายวงกลม ก็เตรียมค่าปรับไว้ได้เลยไม่เกิน 2,000 บาท เสียดายเงินไหมล่ะ ถ้าไม่มีเวลาไปต่อทะเบียนจริงๆ ลองหาพวกบริการรับต่อทะเบียนที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อความสะดวกของคุณดีไหม

4

4. เมาแล้วขับ โดนปรับแน่นอน

รณรงค์กันมาอย่างเนิ่นนาน แต่ก็ไม่เกิดผลสักที คราวนี้มีมาตรการเอาจริงแน่นอนสำหรับใครก็ตามที่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น มีโอกาสถูกจำคุก 1 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา เรียกได้ว่าเข้มข้นมากทีเดียว ดังนั้น ถ้ามีแพลนจะ “เมาสุดเหวี่ยง” แล้ว หาคนขับรถส่วนตัวไว้ล่วงหน้าน่าจะดีกว่าเอาตัวเองไปสุ่มเสี่ยงกับค่าปรับและอุบัติเหตุทั้งกับตัวคุณเองและผู้อื่น

5

5. ขับเร็วเกินกำหนด โทษปรับไม่ (เคย) ลด

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืนคงจะหนีไม่พ้นเรื่อง การขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด ซึ่งไม่ว่ามันจะเกิดจากความคึกคะนองหรือความเร็วแบบ “เมียตาม” ถ้าคุณใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. ในเขตเทศบาลหรือทางพิเศษ (ทางด่วน) และใช้ความเร็วเกิน 90 กม./ชม. นอกเขตเทศบาลไม่เกิน 90 กม./ชม. ระวังจะโดนจับและปรับแน่นอน ยกเว้นถนนบางเส้นที่มีการผ่อนปรนให้ใช้ความเร็วสูงกว่านั้นได้ เช่น เส้นทางมอเตอร์เวย์ไม่เกิน 120 กม./ชม.

เอาเข้าจริงๆ แล้ว สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าการโดนตำรวจจับคือชีวิตของคุณเองต่างหาก ลองหาพระเครื่อง เกจิอาจารย์ดังๆ มาบูชาไว้ในรถดีไหม ไม่ใช่ว่าจะหวังปาฏิหารย์นะ แต่เอาไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้คุณลดความเร็วลงต่างหาก

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ไม่รู้ไม่ได้! 5 กฎหมายจราจรที่ควรระวังในการขับขี่ยามวิกาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook