ค้นหาคำตอบ เหตุใดแท็กซี่ญี่ปุ่นจึงไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร?

ค้นหาคำตอบ เหตุใดแท็กซี่ญี่ปุ่นจึงไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร?

ค้นหาคำตอบ เหตุใดแท็กซี่ญี่ปุ่นจึงไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของคนขับแท็กซี่ญี่ปุ่น ที่ใส่สูทสุภาพเรียบร้อย สวมถุงมือถือสีขาว แถมยังเชี่ยวชาญเส้นทางเป็นอย่างดีนั้น เป็นหนึ่งในคุณสมบัติทำให้คนขับแท็กซี่ของญี่ปุ่นนั้นแตกแต่งจากคนขับแท็กซี่ที่เราเคยเจอในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้โดยสารมั่นใจที่จะเรียกแท็กซี่ในการเดินทางก็คือ “คนขับที่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร” 

ต้องยอมรับกันตามตรงว่า การเรียกแท็กซี่ตามย่านธุรกิจอย่างแถวมาบุญครองและเซ็นทรัลเวิลด์นั้น เป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยใจพอสมควร เนื่องจากคนขับมักปฏิเสธผู้โดยสาร และเลือกไปในเส้นทางที่ตัวเองคิดว่าคุ้มค่าเท่านั้น

เหตุผลหลักๆ ที่ให้แท็กซี่ญี่ปุ่นไม่ปฏิเสธผู้โดยสารก็คือ ระบบการจัดการที่ดี และ การอบรมบุคลากรที่พร้อมให้บริการจริงๆ ในญี่ปุ่นจะมีคนขับแท็กซี่อยู่ 2 แบบคือ แบบสังกัดบริษัทและแบบอิสระ โดยในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงแค่รายละเอียดของคนขับแท็กซี่แบบสังกัดบริษัท

ข้อดีในการขับแท็กซี่ในสังกัดของบริษัทคือ บริษัทจะเป็นคนรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการสอบใบขับขี่ประเภทที่ 2 ค่าเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงทั้งหมด แต่ในขณะเดียวนั้น คนขับก็ต้องทำรายงานส่งบริษัทด้วย เช่น รับผู้โดยสารจากที่ไหน ไปที่ไหน เวลาประมาณกี่โมง ค่าโดยสารรับมาเท่าไหร่ เพื่อป้องกันการโกงมิเตอร์ของคนขับนั่นเอง ในขณะที่แท็กซี่ตามจุดจอดต่างๆ เช่น หน้าโรงแรม บริษัทแท็กซี่จะมีการทำสัญญาในการส่งต่อลูกค้าแบบคิดค่าเหมาบริการในสถานที่ที่กำหนด เช่น จากโรงแรมไปสนามบิน

การจะมาเป็นคนขับแท็กซี่ในญี่ปุ่นนั้น แน่นอนว่าไม่ง่าย ไม่ใช่แค่ขับรถเป็นและมีใบขับขี่ก็สามารถมาทำอาชีพนี้ได้ บริษัทแท็กซี่ในญี่ปุ่นค่อนข้างจุกจิกกับเรื่องนี้พอสมควร บางบริษัทถึงขั้นมีการกำหนดคุณสมบัติเอาไว้เลยว่าคนแบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะที่มาเป็นคนขับแท็กซี่

คุณสมบัติที่ 1 : มีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ ประเภทที่ 2

คนที่จะมาเป็นคนขับรถแท็กซี่ในญี่ปุ่นได้ จะต้องสอบใบขับขี่ผ่านทั้งหมด 2 ประเภท คือใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล และใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถสาธารณะ เช่น แท็กซี่ รถบัส หรือแม้แต่คนขับรถให้กับทัวร์ท่องเที่ยวแบบส่วนตัวก็จำเป็นที่จะต้องถือใบขับขี่ประเภทที่ 2

คนขับรถโดยสาร ไม่ใช่เพียงอาชีพที่มีหน้าที่ขับรถรับส่งผู้โดยสารให้ถึงจุดหมายปลายทางเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารด้วย ดังนั้นหากคนขับรถเพิ่งจะสอบใบขับขี่แบบรถยนต์ส่วนบุคคลประเภทที่ 1  ผ่านมาหมาดๆ จะยังไม่สามารถสอบใบขับขี่สำหรับรถสาธารณะประเภทที่ 2 ได้ จนกว่าจะครบ 3 ปี และใน 3 ปีนั้นต้องไม่เคยเกิดอุบัติเหตุด้วย เพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่า คุณพร้อมแล้วที่จะมาดูแลผู้โดยสารจริงๆ

คุณสมบัติที่ 2 : สอบผ่านวิชาเฉพาะที่กำหนด

นอกจากขับรถเป็นแล้ว คนขับแท็กซี่นั้นจำเป็นจะต้องสอบผ่านวิชาเฉพาะอีก 2 วิชาคือ กฎหมายธุรกิจแท็กซี่ ความปลอดภัย และการต้อนรับ เพื่อการรับมือในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และวิชาภูมิศาสตร์ เพราะคนขับแท็กซี่ที่ดีนั้นจำเป็นจะต้องรู้จักเส้นในพื้นที่ของตัวเองให้เป็นอย่างดีด้วย ไม่ใช่ผู้โดยสารขึ้นรถมา แล้วถามกลับผู้โดยสารว่าให้ไปทางไหน สำหรับรถรุ่นใหม่ที่มีระบบ Car Navigation นั้น เราสามารถบอกพิกัดของสถานที่ปลายทางได้ด้วยการกรอกข้อมูลที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ได้ แต่หากเป็นรถรุ่นเก่าล่ะ? แน่นอนว่าความรู้ด้านภูมิศาสตร์ของคนขับก็มีความจำเป็น

เนื้อหาของการสอบค่อนข้างโหดเลย เช่น ต้องตอบให้ได้ว่าถนนที่ตัดผ่าน แยก A มีถนนสายอะไรบ้าง หรือแม้แต่การต้องอธิบายเส้นทางโดยละเอียดจาก จุด  A ไปสนามบินต้องใช้เส้นทางไหนถึงจะไปถึงเร็วที่สุด ซึ่งผู้สอบจะต้องตอบให้ได้ 80% ขึ้นไปจึงจะถือว่าผ่าน

คุณสมบัติที่ 3 : มีหัวใจบริการ

นอกจากการสอบใบขับขี่จะยากเย็นแล้ว หลังจากเข้ามาเป็นพนักงานบริษัทแท็กซี่ คุณจะยังไม่สามารถออกรับผู้โดยสารได้โดยทันที จนกว่าจะผ่านการอบรมมารยาทพื้นฐานในการให้บริการลูกค้าแบบญี่ปุ่นซะก่อน โดยมีข้อจำกัดด้านการสนทนากำหนดไว้คือ จะต้องไม่พูดคุยเรื่องศาสนา การเมือง และเรื่องส่วนตัวของลูกค้า เพื่อไม่ให้ลูกค้าเกิดความอึดอัดใจระหว่างโดยสาร อีกทั้งการสนทนาในระหว่างที่ขับรถยังทำให้สมาธิของคนขับที่จดจ่ออยู่กับถนนนั้นลดลงอีกด้วย

การมีคุณสมบัติ 3 ข้อข้างต้นนั้นมากพอที่จะทำให้ให้แท็กซี่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร เพราะพวกเขารู้จักเส้นทางทุกเส้นทางในท้องที่ของตนเองเป็นอย่างดี ไม่ว่าผู้โดยสารจะต้องการให้ขับไปที่ใดก็ไม่ใช่ปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ร้องขอให้นายจ้างลดข้อจำกัดที่เคร่งครัดบางอย่าง เพื่อรักษาสิทธิของลูกจ้างเองด้วย หลายๆ บริษัทจึงอนุญาตให้คนขับรถนั้นสามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้ในบางกรณี เช่น สามารถปฏิเสธลูกค้าที่ทำตัวไม่สุภาพได้

นอกจากนี้ บริษัทแท็กซี่หลายบริษัทยังไม่มีข้อจำกัดในการรับพนักงานขับรถที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นด้วย ยกตัวอย่างบริษัท H ที่มีพนักงานขับรถชาวต่างชาติในสังกัดมากมาย ไม่ว่าเป็น จีน เกาหลี ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ฝรั่งเศส รวมถึงมีพนักงานขับรถชาวไทย ที่นอกจากจะสามารถสื่อสารกับผู้โดยสารเป็นภาษาญี่ปุ่นได้แล้ว ยังสามารถใช้ภาษาแม่ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารอีกด้วย

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ค้นหาคำตอบ เหตุใดแท็กซี่ญี่ปุ่นจึงไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook