บทสรุปแนวโน้มและการปรับตัวอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หลังวิกฤตโควิด-19
อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) จัดกิจกรรม เสวนาออนไลน์ ครั้งที่ 3 เตรียมรับงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2020 งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านพลังงานทดแทน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2563 ณ ไบเทค บางนา ร่วมกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) หัวเรือใหญ่ในการร่วมจัดงาน Electric Vehicle Asia และ iEVTech 2020 (Thailand’s Only Specialized International Electric Vehicle Technology Conference and Exhibition) หรืองานแสดงเทคโนโลยีการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้างานเดียวของประเทศ ซึ่งเป็นงานจัดคู่ขนานไปกับงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASE) 2020
ประเด็นการเสวนาครั้งนี้ เพื่อเตรียมรับมือหลังวิกฤตโควิด-19 ในหัวข้อ “แนวโน้มและการปรับตัวอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หลังวิกฤตโควิด-19” โดยมีผู้บริหารและผู้ผลิตจากค่ายรถยนต์ชั้นนำร่วมแสดงมุมมองเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อาทิ ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ นำทัพ ร่วมด้วย คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) คุณสรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ รองประธานสายงานวางแผนองค์กร และกลยุทธ์การตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย โดยมี ดร. นุวงศ์ ชลคุป หัวหน้าทีมวิจัยพลังงานทดแทน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เป็นผู้ดำเนินรายการ
โควิด-19 ผลกระทบและโอกาสของยานยนต์ไฟฟ้า
คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ให้คำตอบได้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในตอนนี้คือ ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก (worldwide demand) ชะลอตัวลง ทำให้ในภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกนั้น บางโรงงานหยุดผลิตเพราะขาดแคลนชิ้นส่วนทำให้ไม่มีชิ้นส่วนป้อนสู่ไลน์การผลิต อีกทั้งบางโรงงานก็มีการปิดสายการผลิตชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของพนักงานในประเทศนั้นๆ ซึ่งโดยปกติผู้ผลิตรถยนต์จะมีการลงทุนในโรงงานอยู่หลายแห่งทั่วโลก แต่ปัญหาการชะลอตัวของตลาด ทำให้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องลดการผลิตทั้งเพื่อการจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออกลง โดยในประเทศไทย ยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ชะลอตัวมากกว่าร้อยละ 65 ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จากสถิติของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะส่งผลในส่วนของสภาพคล่องสำหรับทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะมีผลกระทบทำให้เกิดการตัดสินใจเลื่อนการลงทุนเพิ่มในโครงการใหม่ๆ ในช่วงนี้
เมื่อดูทิศทางกลับกันของ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คุณกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า โควิด-19 น่าจะมีส่วนเป็นตัวเร่งให้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดได้เร็วขึ้น เพราะเดิมแต่ละบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีนโยบายเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า และเตรียมจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่อยู่แล้ว ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูมองว่าตลาดในกลุ่มรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดต้องขับเคลื่อนต่อ แม้ความต้องการของผู้บริโภครถยนต์ในภาพรวมจะลดลงในช่วงนี้ แต่เชื่อว่าการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังเป็นที่ต้องการของตลาด ที่จะมาพร้อมกับราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่ายานยนต์ไฟฟ้าอาจจะมาเร็วกว่าแผนที่วางไว้ด้วยซ้ำ ด้านแผนการเปิดตัวรถยนต์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังคงเดินหน้าตามแผนการณ์ที่วางไว้ เช่นการเตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในต่างประเทศช่วงปลายปีนี้ BMW iX3 ที่มีฐานการผลิตที่ประเทศจีน และหลังจากนี้ก็จะมีอีกหลายรุ่นที่จะตามมาเรื่อยๆ
มุมมองของฟากผู้คร่ำหวอดในวงการพลังงานสะอาด คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า โควิด-19 อาจจะเป็นวิกฤตที่ช่วยสร้างโอกาสให้ประเทศไทย เพราะผู้ผลิตรถยนต์มีแนวโน้มปิดโรงงานบางแห่ง และอาจจะเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต เพราะมีตลาดในประเทศที่ใหญ่และมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ ส่วนโควิด-19 มีผลกับยานยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างไรนั้น ในระยะสั้นมองว่าราคาน้ำมันที่ลดลงตอนนี้มีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้า และอาจจะกระทบกับยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเดิมทีได้เปรียบกว่าเพราะประหยัด แต่ในระยะยาวในช่วงที่เกิดโควิด-19 จะเห็นได้ชัดว่า PM2.5 มันหายไป ทำให้เชื่อมั่นและเห็นความสำคัญว่ายานยนต์ไฟฟ้าเองจะเป็นตัวเร่งให้คนอยากใช้ยานยนต์ที่เป็นพลังงานสะอาดในระยะยาวที่เร็วขึ้น
คุณสมโภชน์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะของ EA มีการติดตั้งมากกว่า 500 จุด รองรับทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพัทยา หัวหิน เขาใหญ่ อยุธยา อีกทั้งภาครัฐได้สนับสนุนราคาสำหรับการขายไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการที่ค่อนข้างถูก
ผู้ผลิตรถยนต์ฟากเอเชีย บิ๊กบอสของค่ายนิสสัน คุณสรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ รองประธานสายงานวางแผนองค์กรและกลยุทธ์การตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้ตลาดรถยนต์ทั่วโลกชะลอตัว และนิสสันก็มีการปรับตัว ด้วยการประกาศแผนได้ปิดโรงงานหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นที่อินโดนีเซีย หรือสเปน แต่กลับกันสิ่งที่ดีกับประเทศไทยคือโรงงานในไทยได้กลายเป็นฐานการผลิตในเอเชีย-โอเชียเนีย ขณะที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ทั่วโลกก็ไม่ได้แย่มากเท่าไร เพราะภาครัฐฯในแต่ละประเทศทั่วโลกก็พยุงตลาดกันอยู่ แต่ในเมืองไทยคาดว่า 6 เดือนข้างหน้าจะเห็นถึงภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะตอนนี้มีการพักชำระหนี้ แต่พอผ่านพ้นจากมาตรการต่างๆ ไปแล้วนั้น คงต้องมาดูว่าประชาชนจะยังมีกำลังซื้ออยู่หรือเปล่า น่าจะได้เห็นอะไรที่ชัดเจนขึ้น
คุณสรรเพชญ กล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า อย่างไรก็ตามนิสสันยังคงมั่นใจว่า เทรนด์ของโลกยานยนต์ในอนาคตอันใกล้ก็ต้องวิ่งไปหายานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนิสสันก็มีการลงทุนไม่ว่าจะเป็น รถอีวี อีพาวเวอร์ โดยภายใน 2-3 ปี ในระดับโลกก็จะมีรถอีวีออกมาเพิ่มมากขึ้นและมีอีพาวเวอร์เป็นตัวเชื่อมไปสู่อีวี ถ้าประเทศไหนโครงสร้างพื้นฐานอีวีพร้อม นิสสันก็จะไป แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็จะเน้นเป็นอีพาวเวอร์ ส่วนการลงทุนในไทยขึ้นอยู่กับโอกาส แต่ก็ต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจต้องดูความคุ้มทุนและต้องประเมินว่าแนวโน้มเป็นอย่างไร จะผลิตหรือประกอบอะไรบ้าง คงต้องมาดูเรื่องนโยบายต่างๆ
การสนับสนุนจากภาครัฐที่มีต่อยานยนต์ไฟฟ้า
ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า เมื่อดูจากนโยบายของรัฐเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า จะเห็นได้ว่ามีการส่งเสริมมาโดยตลอด อย่างนโยบายให้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย รวมไปถึงแนวโน้มที่จะประกาศว่าภายในปี 2030 จะผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 30% ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี และก็เชื่อว่าในปี 2025-2030 น่าจะเป็นช่วงยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างมากเป็นไปตามกระแสโลก
คุณกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของภาครัฐมีส่วนในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงความต้องการของตลาดยังไม่นิ่งมากนัก ถ้ามาช่วยกระตุ้นความต้องการของตลาดก็จะช่วยอุตสาหกรรมทั้งหมด สำหรับในช่วงที่ผ่านมา ในนามของสมาคมฯได้เสนอว่า ให้มีสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ในด้านต่างๆอาทิ การพิจารณาลดภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นขณะที่จำนวนของสถานีชาร์จนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยมีมากกว่า 700 หัวจ่าย จาก 500 สถานี และในอนาคตก็จะมีเพิ่มขึ้น
คุณสรรเพชญ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดการนำรถเก่าอายุมากกว่า 20 ปีมาเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนก็จะเป็นการกระตุ้นอย่างหนึ่ง รวมไปถึงข้อเสนอจากสมาคมฯ 8 ข้อว่าจะมีความชัดเจนอะไรบ้าง และที่สำคัญคือการกระตุ้นเรื่องความต้องการของผู้บริโภค
คุณสมโภชน์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีแผน-นโยบายชัดเจน อย่างการกระตุ้นให้เกิดความต้องการผ่านการมอบผลตอบแทนให้กับผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การลดราคาค่าทางด่วน การลดภาษี ฯลฯ ก็เชื่อว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนรถ ส่วนค่ายผู้ผลิตเอง หากทางรัฐมีแผนสนับสนุนที่สามารถตอบโจทย์การหาตลาดให้แก่ผู้ผลิต ตรงนี้ก็มองว่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงาน และไทยจะยังคงความเป็นดีทรอยส์ของเอเชียต่อไป
การปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยหลังโควิด-19
คุณสรรเพชญ กล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบายหรือเทรนด์ระยะยาวของยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่แน่นอน เพราะทางโออีเอ็มหรือผู้ผลิตและอุตสาหกรรม ก็สนับสนุนนโยบายนี้มาตลอด ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะเดินไปยังไง เพื่อให้คุ้มทุนกับการลงทุนและฝ่ายผู้ผลิตเองก็พยายามป้อนสินค้าออกมาสู่ตลาด
คุณสมโภชน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วิกฤตตอนนี้พระเอกตัวจริงคือภาครัฐ เพราะทุกประเทศตอนนี้ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถกระตุ้นได้ทั้งเศรษฐกิจและการลงทุน สิ่งนี้เองที่จะเห็นแนวทางว่าประเทศไทยจะเดินซ้าย หรือ เดินขวา ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ ก็คงต้องดูต่อไปว่าจะใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสอย่างไร จะกระตุ้นเศรษฐกิจนี้อย่างไร ใช้จุดแข็งของไทยที่มีซัพพลายเชนของระบบการประกอบรถยนต์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ถ้าไทยทำสำเร็จ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง วิกฤติก็จะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าก็จะเป็นเรื่องใหม่ในอุตสาหกรรมเช่นกัน
คุณกฤษฎา กล่าวทิ้งท้ายว่า ค่ายรถตระหนักกันดีว่าเป็นช่วงปฏิรูปอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่ ที่จะมาแทนเครื่องยนต์สันดาปทั่วไป และในกลุ่มรถยนต์จะมีคำที่ใช้ประจำคือ A C E S Autonomous, Connected, Electric, and Shared Services ทุกค่ายพยายามเดินหน้าพัฒนารถยนต์ของตัวเองภายใต้แพลทฟอร์มดังกล่าว หากมองลึกๆจะเห็นว่ามีบางองค์ประกอบที่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ ยกตัวอย่างเช่นระบบ Autonomous ระบบรถยนต์ไร้คนขับ หากรถแท็กซี่ไม่มีคนขับก็จะช่วยลดความเสี่ยงสำหรับทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้ เป็นต้น เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ จึงมีบทบาทต่อไลฟ์สไตล์ในอนาคตและเชื่อว่าจะมีให้ใช้เป็นมาตรฐานได้ในเวลาอันใกล้นี้
ดร.ยศพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่มีทั้งคนที่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และจะเกิดขึ้นได้ช้า แต่ทั้งหมดนี้มันจะเกิดเร็วหรือช้าก็อย่ามองแต่รัฐบาลหรือผู้ประกอบการ แต่ประชาชนก็มีส่วนสำคัญ เหมือนกรณีการเกิดโควิด-19 ทำให้เห็นว่าหากไทยร่วมกันก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
ทั้งนี้ “ปัญหาเรื่องมลพิษ PM2.5 ยังอยู่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และจะลามไปสู่เมืองใหญ่ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาล หรือผู้ประกอบการ แต่คือพวกเราทุกคน ถ้าทุกคนสามารถช่วยสนับสนุน หรือมีโอกาสก็อยากให้ทุกคนเลือกรถยนต์ไฟฟ้า" เป็นลำดับแรก
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ