ทำไม? "Tesla" ถึงเป็นบริษัทยานยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกทั้งที่เพิ่งก่อตั้งได้ 17 ปี

ทำไม? "Tesla" ถึงเป็นบริษัทยานยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกทั้งที่เพิ่งก่อตั้งได้ 17 ปี

ทำไม? "Tesla" ถึงเป็นบริษัทยานยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกทั้งที่เพิ่งก่อตั้งได้ 17 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถือเป็นข่าวในแวดวงยานยนต์ที่ฮือฮาและสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนในวงกว้างได้ไม่น้อย สำหรับเรื่องราวของบริษัทยานยนต์แห่งโลกอนาคต "Tesla" ที่มี "อีลอน มัสก์" นักธุรกิจสมองอัจฉริยะ เจ้าของฉายา "โทนี่ สตาร์ก แห่งโลกความจริง" นั่งบังเหียนบริหารอยู่

เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2020 ที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นในตลาดของ Tesla พุ่งขึ้นสูงถึงหุ้นละ 1,134 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีมูลค่าหุ้นรวมทั้งหมด 209,740 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง Toyota ค่ายรถขวัญใจมหาชนจากประเทศญี่ปุ่นไปประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นไม่นาน Toyota จะกลับมาทวงบัลลังก์คืนได้อย่างทันท่วงทีก็ตาม

ถึงจะเป็นแชมป์ชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ โดยในปัจจุบันพวกเขายังคงรั้งอันดับ 2 ได้อย่างเหนียวแน่น แต่เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ ... ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะ Tesla ถือเป็นบริษัทน้องใหม่ป้ายแดงที่เพิ่งถือกำเนิดมาได้เพียง 17 ปีเท่านั้น ในขณะที่บริษัทคู่แข่งอื่นๆ ถือเป็น "เสือเฒ่า" ที่อยู่ในวงการนี้มาอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Toyota (82 ปี), Honda (71 ปี), Mercedes-Benz (94 ปี), BMW (104 ปี) และอีกมากมาย

คำถามคือ ทำไมบริษัทน้องใหม่ที่เพิ่งลงมาลุยในตลาดยานยนต์ได้เพียง 17 ปี ถึงก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าในอุตสาหกรรมนี้ได้ และถึงขั้นขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 แบบชั่วคราวได้เลยทีเดียว ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันที่ Main Stand

นักล่าฝันแห่งซิลิคอนวัลเลย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของ อีลอน มัสก์ นั้นช่างโดดเด่น มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และที่สำคัญคือเขามีพรสวรรค์อย่างมากในการทำให้สปอตไลท์สาดส่องลงมาที่ตัวเองตลอดเวลา จนทำให้หลายคนอาจจะเข้าใจไปว่าเขานี่แหละคือผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัท Tesla มาตั้งแต่วันแรก แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น

เรื่องราวของ Tesla เริ่มต้นจาก มาร์ติน อีเบอร์ฮาร์ด และ มาร์ค ทาร์เพนนิง สองวิศวกรหนุ่มที่เข้ามาทำงานในซิลิคอนวัลเลย์ตั้งแต่ช่วงยุค 90s พวกเขาได้รู้จักกันตอนที่ทำงานในบริษัท NuvoMedia ก่อนที่จะเริ่มสนิทสนมกันเนื่องจากมีความสนใจหลายอย่างตรงกัน และหนึ่งในนั้นคือความฝันในการมีบริษัทยานยนต์เป็นของตัวเอง


Photo : www.nytimes.com

"พวกเราเชื่อและอยากพิสูจน์ให้โลกเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นดีกว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันเบนซิน" ปณิธานตั้งตนของทั้งคู่ ที่ในตอนนั้นไม่มีใครเชื่อ นอกจากตัวพวกเขาเองที่เชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม

อีเบอร์ฮาร์ด และ ทาร์เพนนิง เริ่มต้นก่อตั้ง Tesla ขึ้นอย่างเรียบง่ายในปี 2003 ก่อนที่ในปีต่อมาพวกเขาจะรวบรวมความกล้าขอเข้าพบ อีลอน มัสก์ ซึ่งในตอนนั้นถือว่าเป็นนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงหลังจากที่เพิ่งขาย Paypal แพลตฟอร์มจ่ายเงินออนไลน์ระดับโลกให้กับ eBay ไปในปี 2002

สาเหตุที่ต้องเป็น มัสก์ ก็เพราะย้อนกลับไปในปี 2001 ทั้งคู่เคยเข้าร่วมฟังการบรรยายของ มัสก์ ในงาน Mars Society และรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ... มัสก์ยังหนุ่มแน่น แต่กลับเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ที่ล้ำอนาคตเกินใคร ด้วยเหตุนี้ทั้งคู่จึงแอบมีความเชื่อมั่นลึกๆ ว่า มัสก์ น่าจะต้องเข้าใจความฝันและสิ่งที่พวกเขากำลังทำอย่างแน่นอน

ปรากฏว่าความเชื่อมั่นของ อีเบอร์ฮาร์ด และ ทาร์เพนนิง นั้นถูกต้อง มัสก์ รู้สึกสนใจการสร้างรถพลังไฟฟ้า ลดการปล่อยมลพิษแห่งโลกอนาคตเป็นอย่างมาก เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วม Tesla ในปี 2004 ควบคู่ไปกับการเป็นผู้บริหาร SpaceX บริษัทสำรวจอวกาศที่เขานำเงินที่ได้จากการขาย Paypal มาเป็นทุน


Photo : evannex.com

"จริงๆ แล้วผมเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายเสมอ เกี่ยวกับ Tesla ก็ด้วย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นผมคิดว่ามันมีโอกาสประสบความสำเร็จเพียง 10% เท่านั้น"

"และในระหว่างทางเราก็เข้าใกล้ความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้นผมไม่เคยคิดเลยว่ามันจะประสบความสำเร็จ ในตอนนั้นผู้คนคิดว่าการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าคือความโง่แบบยกกำลังสอง" มัสก์ เผยผ่าน Ride the Lightning: Tesla Motors Unofficial Podcast

สิ่งที่ มัสก์ พูดนั้นไม่เกินความจริงเลย เนื่องจาก Tesla คือหนึ่งในบริษัทที่ผ่านการล้มลุกคลุกคลานมามากที่สุด โดยอุปสรรคสำคัญที่พวกเขาต้องเผชิญคือ "ไม่รู้ว่า Tesla กำลังขายอะไร" เนื่องจากเหล่าผู้ก่อตั้งล้วนแต่เป็นหัวกะทิแห่งซิลิคอนวัลเลย์ การจะอธิบายวิสัยทัศน์อันซับซ้อนของพวกเขาให้คนทั่วไปได้เข้าใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และกว่าที่ Tesla จะมีรถยนต์ของตัวเองออกมาวางจำหน่ายให้คนทั่วไปได้จับจองเป็นเจ้าของก็ปาเข้าในปี 2008 หรือ 5 ปีหลังจากก่อตั้ง

รถรุ่นดังกล่าวคือ "Roadster" รถสปอร์ต 2 ประตู รูปทรงโฉบเฉี่ยว ที่ใช้พื้นฐานจากรถสปอร์ต Lotus Elise ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แต่ก็ไม่ทิ้งเรื่องประสิทธิภาพความแรงของเครื่องยนต์ เนื่องจาก Roadster นั้นสามารถเร่งความเร็วได้เกิน 60 ไมล์/ชั่วโมง ภายในเวลาแค่ 3.9 วินาที


Photo : www.roadandtrack.com

"มันไม่ใช่แค่รถยนต์ แต่มันคือยานยนต์ที่แข็งแกร่งที่สุดบนท้องถนน" นิตยสาร Car and Driver แสดงความเห็นต่อ Roadster 

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมรถคันแรกของบริษัทจึงเป็นรถสปอร์ตหรู เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้จำกัด ไม่ใช่รถที่สามารถตีตลาดได้ในวงกว้าง คำถามนี้ อีลอน มัสก์ ได้ไขให้กระจ่างว่า

"เริ่มต้นจากการขายรถยนต์ที่เจาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง และจะนำเงินที่ได้จากตรงนั้นมาวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตรถยนต์ที่ราคาถูกลงและเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ได้มากขึ้น"

แผนเรียบง่ายแต่กลับได้ผล เพราะหลังจากนั้นก็เป็นไปตามที่ มัสก์ กล่าวจริงๆ Tesla เริ่มทยอยผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ราคาถูกลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Model S, X, Y หรือ 3 ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของ Tesla ค่อยๆ ขยับเข้าใกล้คนทั่วไปลงเรื่อยๆ ไม่เหมือนในช่วงแรกที่ผู้คนยังมองว่าแนวคิดรถยนต์โลกอนาคตเป็นเรื่องไกลตัว

แต่อย่างที่บอก Tesla คือบริษัทแห่งการล้มลุกคลุกคลาน การที่สินค้าในรูปรถยนต์ของพวกเขาเริ่มขายดีขึ้น มีปริมาณในท้องตลาดมากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะได้ลิ้มรสชาติแห่งความสำเร็จแบบทันทีทันใด ตรงกันข้าม Tesla ยังคงประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันยาวนานนับ 10 ปี 


Photo : www.businessinsider.com

"ผมจำเป็นต้องตรวจสอบรายการใช้จ่ายของ Tesla ทุกแผ่น ทุกรายการบัญชีด้วยตัวเอง มันอาจจะเป็นวิธีที่ฮาร์ดคอร์ แต่มันเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ Tesla สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ประสบปัญหาทางการเงิน"

"Tesla จะตายไม่ได้ เพราะนี่คือบริษัทที่จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการขนส่งและพลังงานในอนาคต" มัสก์ กล่าวกับ Swisher ถึงความยากลำบากในการบริหารให้ Tesla สามารถอยู่รอดผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้

พระเจ้ามอบรางวัลให้คนอดทนเสมอ ... Tesla ก็เช่นกัน หลังจากที่ผ่านช่วงเวลาแห่งการลองถูกลองผิดมาได้สำเร็จ ในปี 2019 ก็เป็นปีแรกที่เลขงบประมาณประจำปีของบริษัทกลายเป็นสีเขียว เข้ามาอยู่ในแดนบวกได้เสียที ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงกลางปี 2020 มูลค่าในตลาดหุ้นของพวกเขาก็ทะยานแซงคู่แข่งคนอื่นๆ ครองบัลลังก์ราชาโลกยานยนต์ได้ชั่วระยะหนึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น 

รถของ Tesla มันขายดีขนาดนั้นเลยเหรอ?


Photo : www.techrepublic.com

หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่ารถ Tesla อาจจะขายดีมากๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นสาเหตุให้มูลค่าของ Tesla พุ่งสูงขึ้น แต่เมื่อนำยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2019 มากางดู ก็จะพบกับความจริงที่น่าตกใจ 

ถึงแม้ปี 2019 จะเป็นปีที่ Tesla มียอดขายสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา แต่มันก็แค่ 367,200 คันเท่านั้น เทียบไม่ได้เลยสักนิดกับพี่ใหญ่ Toyota ที่กวาดยอดขายกระจายไปถึง 10.46 ล้านคัน 

ยอดขายต่างกันถึง 30 เท่า แต่ทำไมมูลค่าของ Tesla ถึงพุ่งเอาๆ จนมาทัดเทียมกันได้ล่ะ?

 

แบตเตอรี่ล้านไมล์

ย้อนกลับไปในปี 2019 เมื่อ CATL บริษัทผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนได้ออกมาประกาศว่าพวกเขากำลังผลิต "แบตเตอรี่รถยนต์ที่สามารถวิ่งได้มากกว่า 1.2 ล้านไมล์" ซึ่งถือว่าเป็นวัตกรรมที่ล้ำสมัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาแบตเตอรี่รถยนต์มีอายุขัยการใช้งานแค่ประมาณ 200,000 ไมล์ หรือราว 320,000 กิโลเมตร เท่านั้นเอง

Photo : www.buyacar.co.uk

ในตอนแรกยังไม่ปรากฏว่า CATL ผลิตขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อะไร หรือมีใครเป็นลูกค้า ก่อนที่ในภายหลังความจริงจะค่อยๆ กระจ่างว่า ลูกค้าของพวกเขาคือ Tesla นั่นเอง

จากข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่ดังกล่าวที่มีการเปิดเผยออกมา ไม่ใช่เรื่องแแปลกที่มันจะตกเป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนวงการยานยนต์ เพราะนอกจากแบตเตอรี่รุ่นนี้จะสามารถวิ่งได้กว่า 1.2 ล้านไมล์ หรือประมาณ 1.93 ล้านกิโลเมตร แล้ว มันยังสามารถชาร์จได้มากถึง 4,000-5,000 รอบ ในขณะที่แบตเตอรี่ปกตินั้นชาร์จได้แค่ประมาณ 1,300 รอบเท่านั้น และที่สำคัญคือมีราคาถูกลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ 

"โคบอลต์" คือชื่อแร่ธาตุที่เป็นวัตถุสำคัญในการนำมาสร้างเป็นแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นแร่ธาตุที่ค่อนข้างหายาก โดยแหล่งใหญ่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทวีปแอฟริกา สวนทางกับความต้องการในตลาดที่มีค่อนข้างสูง ดังนั้น โคบอลต์ จึงเป็นแร่ธาตุที่มีราคาค่อนข้างแพง ส่งผลโดยตรงต่อราคาแบตเตอรี่ 


Photo : fossbytes.com

อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่รุ่นใหม่จาก Tesla นี้ตัดปัญหาเรื่องนี้ไปโดยสิ้นเชิง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแร่โคบอลต์อีกต่อไป เปลี่ยนมาเป็น "ลิเธียมไอออนฟอสเฟต" ซึ่งมีราคาต่ำกว่าแทน แต่ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีของ มัสก์ ร่วมกับ CATL สามารถทำให้มันกลายเป็นแบตเตอรี่ล้านไมล์แห่งโลกอนาคตได้สำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ ถ้าการวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ล้านไมล์นี้ประสบความสำเร็จ และสามารถวางขายแก่คนทั่วไปได้ ผลลัพธ์ที่ผู้ใช้จะได้คือการประหยัดเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ เลยทีเดียว ซึ่งจะถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ของแบตเตอรี่ในโลกอนาคตไปในทันที

 

ภาพฝันที่เริ่มชัดเจน

นอกจากเรื่องของแบตเตอรี่ล้านไมล์ที่เป็นเรื่องของอนาคตแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าของ Tesla พุ่งสูงชนิดฉุดไม่อยู่ก็เพราะ "ภาพฝันที่เคยดูเพ้อเจ้อ ตอนนี้เริ่มชัดเจนในความเป็นจริงแล้ว"


Photo : www.bosanski.com

อย่างที่ อีลอน มัสก์ เคยบอกว่าย้อนกลับไปในปี 2004 เขาคิดว่าโอกาสที่ Tesla จะประสบความสำเร็จมีเพียง 10% เท่านั้น ผู้คนต่างหากันหัวเราะเยาะราวกับเป็นเรื่องเหลวไหลเมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า แต่ในตอนนี้ปี 2020 คนที่เคยหัวเราะในตอนนั้นอาจจะหัวเราะไม่ออกแล้ว เพราะเรื่องที่เคยดูเพ้อเจ้อกลับชัดเจนในความจริงขึ้นเรื่อยๆ 

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ Tesla เริ่มมีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก การันตีด้วยยอดขาย 367,200 คันในปี 2019 และอาจมากถึง 500,000 คันในปี 2020 (ความจริงแล้วยอดสั่งซื้อมีมากกว่ายอดจำหน่ายด้วยซ้ำ เพียงแต่กำลังการผลิตของ Tesla ยังไม่มากพอ) 

ส่วนเรื่องที่เคยเป็นปัญหาอย่างเรื่องของการชาร์จแบตเตอรี่ ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถติดตั้งเครื่องชาร์จเข้ากับกำแพงบ้านได้ โดยเฉพาะคนที่อาศัยในคอนโดหรืออาพาร์ทเม้นท์ ก็มีระบบ Supercharger Network เข้ามารองรับ นอกจากนั้น Tesla ก็ได้มีการขยายเขตของสถานีชาร์จไฟ (คล้ายกับปั๊มน้ำมันขนาดจิ๋ว) ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้ครอบคลุมถนนสำคัญแทบทุกสายแล้ว

รวมถึงเรื่องการเป็น "รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง" หรือ Full Self-Driving ที่อาจจะเคยมีแค่ในภาพยนตร์ Tesla ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถทำได้จริง (ลองคิดดูว่า มีการสร้างภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ที่เล่นกับฟังก์ชั่นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองของ Tesla ออกมาแล้ว) ถึงแม้ว่าสำหรับการนำมาวิ่งในเมืองใหญ่อาจจะต้องพัฒนากันไปอีกสักระยะก็ตาม


Photo : time.com

นอกจากนั้น Tesla ยังได้แสดงแสนยานุภาพด้วยการสร้างโรงงาน Shanghai Gigafactory ขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 864,885 ตารางเมตร ซึ่งจะช่วยยกระดับกำลังการผลิตที่มีปัญหามาโดยตลอดขึ้นไปอีกขั้น 

"ในยุคที่จีนกับสหรัฐอเมริกากำลังเปิดสงครามการค้ากันแบบบ้าคลั่ง ถามหน่อยว่ามีบริษัทอเมริกันเข้าไปเปิดโรงงานที่จีนหรือเปล่า ... ผมหมายถึงเปิดโรงงานของตัวเอง บริหารเอง จัดการทุกอย่างเอง 100% มันไม่มีหรอก Tesla ได้ทำสิ่งที่บ้าและไม่น่าเชื่อให้เกิดขึ้น" เจมส์ มอริส นักเขียนจาก Forbes แสดงความเห็น

ดังนั้นเมื่อย้อนกลับไปที่คำถามตั้งต้นของบทความนี้ "ทำไม Tesla ถึงเป็นบริษัทยานยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกทั้งที่เพิ่งก่อตั้งได้ 17 ปี?" 

คำตอบของมันซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องราวเทคโนโลยีแสนซับซ้อน ... เป็นคำตอบที่แสนเรียบง่ายและครอบคลุมใจความทั้งหมด

ถึงแม้ในตอนนี้ยอดขายของ Tesla อาจจะยังเทียบค่ายรถยนต์อื่นๆ ไม่ติดฝุ่น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ พวกเขาสำเร็จแล้วในการทำให้คนทั้งโลกเห็นภาพเดียวกัน มองเห็นอนาคตแบบเดียวกัน 


Photo : www.caranddriver.com

ครั้งหนึ่งเรื่องราวของรถยนต์แห่งโลกอนาคตอาจจะเคยเป็นแค่ความฝันของ มาร์ติน อีเบอร์ฮาร์ด, มาร์ค ทาร์เพนนิง, อีลอน มัสก์, และผู้ก่อตั้ง Tesla คนอื่นๆ แต่ตอนนี้มันคือความฝันของคนทั้งโลกแล้ว

และพวกเขาก็พร้อมจะลงทุนเพื่อซื้อความฝันนั้น เชื่อมั่นว่า Tesla จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ถึงแม้ว่าในตอนนี้มันจะยังมาไม่ถึงก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook