ผู้มาเยือนปริศนาในฤดูใบไม้ผลิ ที่ทำให้อุตสาหกรรมยางและอาหารเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

ผู้มาเยือนปริศนาในฤดูใบไม้ผลิ ที่ทำให้อุตสาหกรรมยางและอาหารเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

ผู้มาเยือนปริศนาในฤดูใบไม้ผลิ ที่ทำให้อุตสาหกรรมยางและอาหารเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เมื่อได้ยินคำว่า Michelin นึกถึงอะไร?"

บางคนอาจจะนึกถึงมาสคอตตัวอ้วนกลม สัญลักษณ์ของบริษัทยางรถยนต์ชื่อดัง บางคนอาจจะนึกถึงการจัดอันดับมอบดาวให้กับร้านอาหารที่ได้รับการยอมรับ ขึ้นชื่อว่าอร่อย มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ทั่วทุกมุมโลก แต่ไม่ว่าจะนึกถึงอะไรก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องราวทุกอย่างก็มาบรรจบลงในที่เดียวกัน

Michelin คือบริษัทมหาอำนาจแห่งอุตสาหกรรมยางรถยนต์ รวมถึงเป็นหนึ่งในตองอูเรื่องการจัดอันดับสุดยอดร้านอร่อย อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าไม่มีโชคชะตาแห่งฤดูใบไม้ผลิคอยดลบันดาล

เรื่องราวที่ผ่านกาลเวลามายาวนานจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ของ Michelin เป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand

ผู้มาเยือนปริศนา

หลังจากจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สาขาศิลปกรรมจาก École des Beaux-Arts ในปี 1886 "เอดูอาร์ด มิชลิน" เด็กหนุ่มจากเมืองแกลร์มง-แฟร็อง ก็เข้าทำงานเป็นจิตรกรภูมิทัศน์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่ อังเดร มิชลิน น้องชายที่จบการศึกษาจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ก็เข้าทำงานในโรงงานโลหะ ณ กรุงปารีส เช่นกัน


Photo : www.purepeople.com

อย่างไรก็ตามหลังจากที่พวกเขาเริ่มทำงานได้ไม่นาน เอดูอาร์ด ก็ได้รับจดหมายที่ส่งมาจากเมืองแกลร์มง-แฟร็อง ผู้ที่ส่งมาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ป้าแท้ๆ ของเขาเอง โดยเนื้อความระบุว่าขณะนี้บริษัทของเธอกำลังตกอยู่ในสภาวะลำบาก โดยบริษัทนี้คือบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดย อริสไทน์ บาร์เบีย (Aristide Barbier) ผู้มีศักดิ์เป็นตาของ เอดูอาร์ด ในปี 1832 เน้นการผลิตอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้ในการทำฟาร์มเป็นหลัก รวมไปถึงยางด้วย เธอจึงอยากให้คนที่มีความสามารถอย่าง เอดูอาร์ด เข้ามารับช่วงต่อ

ไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจยากเท่าไรนัก เนื่องจาก เอดูอาร์ด พื้นเพเป็นคนเมืองแกลร์มง-แฟร็องอยู่แล้ว เขาเกิดและเติบโตที่นั่น มีความผูกพัน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจตอบสนองคำชวนของป้า ก่อนที่จะชวน อังเดร น้องชายกลับไปด้วยกัน

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ... เรื่องราวของสองพี่น้องตระกูลมิชลินเองก็เช่นกัน หลังจากที่เข้ามารับช่วงต่อโรงงานของป้า พวกเขาก็เปลี่ยนชื่อโรงงานเป็น "Michelin et Cie" แต่ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของโรงงานจะยังไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก ในช่วงแรกพวกเขายังคงเน้นไปที่การผลิตอุปกรณ์การเกษตร รวมถึงลูกยางแบบวัลคาไนซ์ที่ใช้ในแวดวงอุตสาหกรรม

...จนกระทั่งวันหนึ่ง...

เป็นช่วงบ่ายในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1889 ทุกอย่างดูเหมือนจะปกติ สองพี่น้องตระกูลมิชลินก็ยังคงนั่งแกร่วอยู่ในโรงงานเช่นเคย แต่แล้วอยู่ๆ ก็มีแขกผู้มาเยือนปริศนามาหาพวกเขาถึงหน้าโรงงาน

ถึงจะบอกว่าเป็นแขกปริศนา อาจจะฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วผู้มาเยือนคนดังกล่าวก็เป็นแค่ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง (ไม่ได้มีการระบุชื่อไว้) ที่บังเอิญขี่จักรยานผ่านมาแถวนี้ และบังเอิญยางจักรยานของเขาก็มาเสียพอดี ประจวบเหมาะกับที่ Michelin et Cie เป็นโรงงานผลิตยาง เขาจึงคิดว่าที่นี่น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้

พี่น้องตระกูลมิชลินเต็มใจช่วยเหลือชายคนดังกล่าว แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคสำคัญ กว่าที่จะถอดยางออกจากตัวจักรยานได้ก็ต้องใช้เวลานับชั่วโมง เนื่องจากในสมัยนั้นยังต้องทากาวที่บริเวณรอบฝาครอบยาง เพื่อให้ยางติดแน่นสนิทไปกับล้อ ในระหว่างที่ง่วนอยู่กับการซ่อมแซม เอดูอาร์ด ก็เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า

"จะเป็นอย่างไรถ้ามียางที่สามารถถอดใส่ได้สะดวกสบายโดยไม่ต้องทากาว?"

เป็นชนวนความคิดที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ใครจะรู้ว่า นี่แหละคือไอเดียที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยางไปตลอดกาล 

หลังจากที่ผู้มาจากไปแล้ว สองพี่น้องตระกูลมิชลินก็มุ่งมั่นอย่างที่จะผลิตยางในอุดมคติของพวกเขาขึ้นมาให้สำเร็จ พวกเขาใช้เวลาค้นคว้าศึกษากว่า 2 ปี ก่อนที่จะสำเร็จในปี 1891


Photo : commons.wikimedia.org

สำเร็จแล้วยังไงต่อ ... ในยุคที่เทคโนโลยีสื่อสารยังไม่ก้าวไกล พวกเขาจะทำยังไงให้ยางที่พวกเขาผลิตขึ้นมาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง?

สองพี่น้องเลือกใช้วิธีที่ง่ายที่สุด ประหยัดที่สุด และท้าทายที่สุด ด้วยการส่งตัวแทนเข้าแข่งขันชิงแชมป์จักรยานรายการ Paris-Brest-Paris โดยได้ ชาร์ลส์ เทอรอนต์ มาเป็นนักปั่นให้ และแน่นอนว่ายางที่ใช้สวมเข้ากับล้อจักรยานคือยางของสองพี่น้องตระกูลมิชลิน


Photo : commons.wikimedia.org

Paris-Brest-Paris เป็นรายการแข่งขันสุดโหดที่กินระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตร แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ชาร์ลส์ สามารถคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ ยาง Michelin ได้ประกาศศักดาให้ทุกคนรับรู้ และหลังจากนั้นชื่อเสียงของยาง Michelin ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างเพิ่มขึ้นตามลำดับ

หลังจากนั้นในปี 1895 Michelin ก็ผลิตยางแบบถอดได้สำหรับรถยนต์ออกมาได้สำเร็จ ในชื่อ "Éclair" ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ก่อนที่ในปี 1989 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญสำหรับ Michelin เพราะมันคือปีที่แบรนด์จากเมืองแกลร์มง-แฟร็อง ให้กำเนิดสัญลักษณ์ของแบรนด์ที่ทุกคนน่าจะรู้จักค้นเคยเป็นอย่างดี เจ้ามนุษย์ยางสีขาวรูปร่างน่ารัก นามว่า Bibendum หรือ Michelin Man นั่นเอง 

Michelin Man มีแรงบันดาลใจมาจากตัวละครของ มาริอัส โรสซิลลง นักวาดการ์ตูนเจ้าของนามปากกา O’Galop โดยในตอนแรกเขาวาดมันขึ้นมาเพื่อนำไปเสนอให้กับบริษัทเบียร์แห่งหนึ่ง ในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน แต่ก็โดนปฏิเสธกลับมา จนสุดท้ายผลงานของเขาก็โคจรมาเจอกับสองพี่น้องมิชลิน และปรากฏว่าทั้งคู่ชื่นชอบการออกแบบนี้อย่างมาก จึงไม่รอช้าที่จะใช้มันเป็นมาสคอตของแบรนด์นับตั้งแต่นั้นมา

เรียกได้ว่า Michelin ใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้นในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแนวหน้าของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ได้สำเร็จ และยังมีการพัฒนาต่อยอดความสำเร็จนั้นต่อไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 20 ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมยางเท่านั้นที่พวกมุ่งมั่น เพราะใครจะเชื่อว่าแบรนด์นี้จะเข้าไปข้องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารด้วย

  จากพื้นถนนสู่โต๊ะอาหาร

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยสงสัย หรือแม้กระทั่งตอนนี้ก็อาจจะยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมแบรนด์ยางรถยนต์ระดับโลกอย่าง Michelin ถึงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารในฐานะ "Michelin Guide คู่มือร้านอาหารดัง" ได้ ... การจะหาคำตอบนี้คงต้องย้อนกลับไปไกลกว่า 120 ปี 


Photo : guide.michelin.com

หลังจากที่ก้าวเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยางได้สำเร็จแล้ว ในปี 1900 ทาง Michelin ก็ได้ผลิต Michelin Guide เล่มแรกออกมาแจกฟรีให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ตามท้องถนน โดยเนื้อหาภายในก็เป็นการแนะนำร้านอาหารและโรงแรมที่พักทั่วประเทศฝรั่งเศส

นอกจากจะเป็นการโฆษณาแบรนด์ Michelin ให้ผู้ที่สัญจรไปมาได้รู้จักแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่แฝงอยู่ในการแจก Michelin Guide นั้นช่างแสนเรียบง่าย ซื่อตรง และคงขัดกับหลักการตลาดในสมัยนี้โดยสิ้นเชิง

"Michelin Guide คือคู่มือแนะนำสถานที่ต่างๆ ทั้งร้านอาหารรสเลิศ รวมถึงที่พักชั้นดี เป้าหมายของมันคือการสร้างแรงจูงใจให้คนอยากเดินทางไปท่องเที่ยวมากขึ้น และเมื่อคนเดินทางมากขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนยางรถยนต์บ่อยขึ้น นี่แหละจุดประสงค์ตั้งต้นของ Michelin Guide" ศาสตราจารย์ แพททริก ยัง (Patrick Young) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 และ 20 จาก University of Massachusetts-Lowel กล่าว

หลังจากนั้นก็เหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แทบทุกปี ทาง Michelin จะทำ Michelin Guide โดยมีการอัปเดตข้อมูลเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ และค่อยๆ ขยายวงให้กว้างขึ้นทีละนิด โดยเริ่มต้นจากประเทศฝรั่งเศส ต่อด้วยประเทศใกล้เคียงในทวีปยุโรป ขยายเข้าสู่สหรัฐอเมริกาและเอเชีย

จนกระทั่งปัจจุบันก็อย่างที่เห็น ข้อมูลใน Michelin Guide ครอบคลุมมากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก (แน่นอน ประเทศไทย คือหนึ่งในนั้น) และถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการจัดอันดับร้านอาหาร ร้านไหนที่ได้รับมอบดาวจาก Michelin Guide ไปก็การันตีความสำเร็จที่จะตามมาในอนาคตได้เลย 


Photo : www.scmp.com

"ดาวมิชลินสำคัญเหมือนการแต่งงานเลยล่ะ" แอนดรูว์ หว่อง (Andrew Wong) เชฟมิชลินสตาร์จากกรุงลอนดอนกล่าว

สาเหตุที่ Michelin Guide ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะคู่มือแนะนำร้านอาหาร มาจากประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ที่ผ่านกาลเวลามานับศตวรรษ ข้อมูลทุกอย่างที่ถูกบันทึกลงไปจึงผ่านสายตาของเหล่านักวิจารณ์มาหลายชั่วอายุคน ดังนั้นสำหรับสายตาของคนทั่วไป มันจึงน่าเชื่อถือ มีมนต์ขลัง ต่อให้บริษัทผู้ให้กำเนิดจะไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารเลยก็ตาม

"Michelin คือกลไกสำคัญในการผลักดันการท่องเที่ยวแห่งศตวรรษที่ 20" แพททริก ยัง กล่าว

 

ก้าวสู่มอเตอร์สปอร์ต

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชื่อของ Michelin กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป คือบทบาทในวงการมอเตอร์สปอร์ต ... แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า Michelin นั้นคร่ำหวอดอยู่ในวงการอาหารมาก่อนโลกความเร็วยานยนต์เสียอีก เพราะกว่าที่เส้นทางของ Michelin จะเวียนมาบรรจบกับมอเตอร์สปอร์ตก็ปาเข้าไปในปี 1923 แล้ว


Photo : www.mirebalais.net

ในปีนั้น Michelin เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้สนับสนุนยางให้กับทีมที่เข้าแข่งขัน 24 Hours of Le Mans หนึ่งในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่โหดหินที่สุดในโลก จำนวน 9 ทีมจากจำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 33 ทีม และปรากฏว่าทีม Chenard-Walcker แชมป์จากการแข่งขันครั้งดังกล่าวก็ใช้ยางของ Michelin นี่แหละ

หลังจากนั้น Michelin ก็มีบทบาทในการแข่งขัน 24 Hours of Le Mans เรื่อยมา โดยในปี 2009 คือปีที่มีทีมเข้าแข่งขันใช้ยางของ Michelin มากที่สุด ถึง 41 ทีม จากทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 55 ทีม

ขยับมาที่การแข่งขันรถสูตรหนึ่งหรือ Formula 1 กันบ้าง Michelin เองก็ได้เข้ามามีบทบาทกับเขาเช่นกัน โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1977 พร้อมกับเทคโนโลยียางเรเดียล ทำให้ได้รับความสนใจจากค่ายรถมากมาย ก่อนจะคว้าแชมป์แรกได้สำเร็จในปี 1978 กับค่าย Ferrari และอีก 3 ครั้งกับ Brabham และ McLaren จนกระทั่งในปี 1984 พวกเขาก็ถอนตัวออกไป

Michelin กลับเข้าสู่โลกของรถสูตรหนึ่งอีกครั้งในปี 2001 โดยให้สนับสนุนค่าย Renault, Prost, Minardi, Toyota, และ McLaren ซึ่งแชมป์โลกครั้งสุดท้ายของ Michelin กับการแข่งขันรถสูตรหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2006 ด้วยฝีมือการขับของ เฟร์นานโด อลอนโซ่ จากค่าย Renault ก่อนที่หลังจากนั้นทางผู้จัดการแข่งขันจะเปลี่ยนผู้สนับสนุนยาง ให้รถทุกคันต้องใช้ยางแบรนด์เดียวกันทั้งหมด ซึ่งเป็นแบรนด์อื่นจนกระทั่งปัจจุบัน


Photo : pendect.com

นอกจากวงการมอเตอร์สปอร์ตสี่ล้อแล้ว ในส่วนของมอเตอร์สปอร์ตสองล้อหรือ MotoGP ที่ทุกคนรู้จัก Michelin ก็ไม่พลาดที่จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี 1972 ยาวนานติดต่อกันมาจนถึงปี 2008 โดยตลอดระยะเวลา 36 ปี มอเตอร์ไซค์ที่ใส่ยาง Michelin สามารถคว้าแชมป์ได้มากถึง 360 สนามเลยทีเดียว 

และหลังจากแบรนด์อื่นได้สิทธิ์ขาดเป็นผู้สนับสนุนยางมาหลายปี ที่สุดแล้ว Michelin ก็ได้หวนคืนสู่ MotoGP อีกครั้งในฐานะผู้สนับสนุนยางเพียงหนึ่งเดียว ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน

 ก้าวสู่อนาคต

จากเรื่องราวเล็กๆ ในฤดูใบไม้ผลิ สองพี่น้องตระกูลมิชลินได้หยิบมาสานต่อจนกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกถึงขั้นพลิกโฉมอุตสาหกรรมยางรถยนต์และอาหารไปตลอดกาล รวมถึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการมอเตอร์สปอร์ต


Photo : www.firstorderhistorians.com

ถึงแม้สองพี่น้องผู้ให้กำเนิดจะลาจากโลกนี้ไปแสนนานแล้ว แต่จิตวิญญาณของ Michelin ยังคงอยู่ ครั้งหนึ่ง Michelin เคยเปลี่ยนโลกด้วยการสร้างยางรถยนต์แบบถอดได้ ไม่ต้องง้อกาวให้ติดแน่น ตัดกลับมาในปัจจุบัน พวกเขาก็ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในโลกใบนี้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจะเป็น BAZ Technology ดอกยางรูปแบบใหม่ที่ใช้แถบไนล่อนพันเป็นเกลียว เพื่อต่อต้านแรงสู่ศูนย์กลางซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุบนท้องถนน

EverGrip™ Technology ดอกยางที่ออกแบบมาเพื่อการวิ่งบนถนนที่เต็มไปด้วยหิมะและเกล็ดน้ำแข็งโดยเฉพาะ 

Zero Pressure Technology เทคโนโลยียางที่ช่วยให้รถสามารถวิ่งต่อไปในความเร็ว 50-55 ไมล์/ชั่วโมง ได้ในระยะหนึ่งถึงแม้เครื่องยนต์จะดับลงไปแล้วก็ตาม

ล่าสุดในปี 2019 กับ UPTIS เทคโนโลยีที่จะทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องกลัวเรื่องยางแตกจากการขับเหยียบวัตถุแหลมคมอีกต่อไป โดยพวกเขาได้นำมาเปิดตัวในงาน Movin'On 2019 ซึ่งเป็นการหารือกันระหว่างผู้ประกอบการเพื่อหาแนวทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม 


Photo : www.timeslive.co.za

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้เราคงได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ จากพวกเขาอีกมากมาย เพราะนี่คือแบรนด์ที่ไม่เคยหยุดในการพัฒนา สมกับสโลแกนของแบรนด์ที่ทาง อังเดร มิชลิน ได้กล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งได้ไม่นาน

"ยาง Michelin พร้อมลุยข้ามฝ่าทุกอุปสรรค!"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook