ต้องรู้! ขับรถลงเขาอย่างไรไม่ให้ "เบรกแตก" แบบที่ปรากฏในข่าว
ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของทุกปี มักจะมีข่าวรถเบรกแตกประสบอุบัติเหตุขณะลงเขาอยู่เสมอ ซึ่งอันที่จริงการขับรถลงเขายาวๆ ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก ซึ่งผู้ขับขี่ทุกคนควรศึกษาวิธีการขับขี่ที่ถูกต้องและนำไปปฏิบัติจริงทุกครั้ง
รถเบรกแตกเกิดขึ้นได้อย่างไร?
อันที่จริงควรเรียกว่าเบรกเฟด (Brake Fade) จะถูกต้องกว่า ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการเหยียบเบรกซ้ำๆ หรือเหยียบแช่เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะลงทางลาดชันด้วยความเร็วสูง ส่งผลให้ผ้าเบรกและจานเบรกร้อนจัดจนไม่สามารถสร้างแรงเสียดทานได้อีกต่อไป ตัวรถจึงพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงและยากต่อการบังคับทิศทาง จนเกิดเป็นอุบัติเหตุในที่สุด
วิธีป้องกันเบรกเฟดทำอย่างไร?
ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าการขับรถลงเขาทำได้โดยการเหยียบเบรกเพียงอย่างเดียวเพื่อประคองความเร็ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ เพราะจะนำไปสู่อาการเบรกเฟดได้โดยง่าย วิธีการขับรถลงเขาที่ถูกต้อง คือ
- กรณีเกียร์อัตโนมัติ ให้ผลักคันเกียร์ไปยังตำแหน่ง 2 หรือ L แต่หากเป็นเกียร์ที่มีตำแหน่งบวกลบ ให้ผลักไปยังตำแหน่งลบ (-) เพื่อลดอัตราทดลงมาประมาณเกียร์ 2 หรือ 3 พยายามรักษารอบเครื่องยนต์ให้ค้างอยู่ที่ประมาณ 3,000 - 5,000 รอบต่อนาทีในเครื่องยนต์เบนซิน หรือประมาณ 2,000 - 4,000 รอบต่อนาทีในเครื่องยนต์ดีเซล (ขึ้นอยู่กับความเร็วและความชัน)
ทั้งนี้ ระหว่างที่ใช้เกียร์ต่ำจะมีเสียงเครื่องยนต์ค่อนข้างดังซึ่งถือเป็นอาการปกติ โดยในระหว่างนี้เครื่องยนต์จะแทบไม่มีการอัดฉีดเชื้อเพลิงเลย เนื่องจากอาศัยแรงเฉื่อยของตัวรถในการขับเคลื่อน
- กรณีเกียร์ธรรมดา ให้ลดตำแหน่งเกียร์ลงมาเหลือ 2 หรือ 3 (หรือลดลงเหลือเกียร์ 1 หากทางชันมาก) โดยรักษารอบเครื่องยนต์ให้สูงไว้เสมอขณะลงทางชัน วิธีการเช่นนี้จะช่วยให้เครื่องยนต์มีเอนจิ้นเบรก (Engine Brake) ที่ช่วยประคองความเร็วรถอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการเหยียบเบรกเพียงอย่างเดียว
สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด คือ การใส่เกียร์ว่างเพื่อให้รถลงเขามาเอง เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระระบบเบรกอย่างร้ายแรง เนื่องจากเครื่องยนต์ไม่มีเอนจิ้นเบรกเข้าช่วย แถมยังทำให้อายุการใช้งานเกียร์อัตโนมัติสั้นลงอีกด้วย อีกทั้งยังไม่ช่วยให้รถประหยัดน้ำมันแต่อย่างใด