“โตโยต้า” เปิดตัวโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ของขวัญชิ้นใหญ่แก่ธุรกิจชุมชนไทย
ด้วยความตั้งใจจริงในการผลักดันธุรกิจชุมชนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นำโดยนายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย ประภาศ บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเปิดตัวนวัตกรรมสังคมรูปแบบใหม่ขององค์กร โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” พร้อมทั้งเสวนาในหัวข้อ "นวัตกรรมสังคม ปฏิรูปเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ?” โดยมีนายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย ผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ร่วมเสวนา
หัวใจสำคัญของโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” คือการที่โตโยต้าเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในแต่ละชุมชน อันเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละชุมชนของไทย เพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาด ช่วยต่อยอดในการเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจระดับเล็กและระดับกลางนั้น คิดเป็นกว่าร้อยละ 25 ของจีดีพีทั้งหมดในประเทศไทย จึงนับว่าเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
สิ่งสำคัญที่โตโยต้าเล็งเห็น นั่นคือปัญหาของธุรกิจชุมชนที่มีอัตราการอยู่รอดเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ อันเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจและการขาย โตโยต้าจึงได้นำองค์ความรู้สำคัญของบริษัทเอง นั่นก็คือ “วิถีโตโยต้า” (Toyota Way) และ “ระบบการผลิตแบบโตโยต้า” (Toyota Production System) เข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจชุมชนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการผลิต, การส่งมอบงาน, การควบคุมคุณภาพ และอื่นๆ โดยอาศัยบุคลากรเข้าไปร่วมดำเนินงานในธุรกิจชุมชน เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพธุรกิจของตนอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวถูกดำเนินการไปแล้วกว่า 3 แห่ง ได้แก่ กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอท็อป จ. กาญจนบุรี, หัตถกรรมพื้นบ้านเตยปาหนัน บ้านวังหิน จ. กระบี่ และ แกงไตปลาแม่บ้านเกษตรกรท่าข้ามสัมพันธ์ จ. ตรัง พร้อมกันนี้โตโยต้า มีแผนที่จะขยายผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2557 กับธุรกิจชุมชนอีก 3 แห่ง ในภาคกลางตอนล่าง ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้มีโครงการนำร่องในทุกภูมิภาค โดยคาดว่าจะดำเนินงานแล้วเสร็จในปี 2558
โดยในงานแถลงเปิดโครงการนี้ นักวิชาการ ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการว่า “ปัจจุบัน การช่วยเหลือยังเป็นไปในลักษณะจำกัดเฉพาะประเภทธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักขององค์กรที่เข้าไปช่วยเหลือ เช่น การรับซื้อวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตสินค้าต่อไป โดยการช่วยเหลือดังกล่าว สามารถสร้างผลตอบแทนในเชิงธุรกิจ หรือ Creating Shared Value (CSV) ซึ่งมีข้อจำกัดการช่วยเหลือได้เพียงแค่ในบางสายงาน อันเป็นจุดที่แตกต่างกับโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่นำความรู้การจัดการในกระบวนการผลิตรถยนต์ มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจชุมชนของไทยที่มีความหลากหลายได้”
กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอท็อป
“โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ถือเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ให้กับภาคธุรกิจไทย จากการดำเนินงานของโตโยต้า ประเทศไทย ที่ตั้งใจส่งมอบความรู้อันมีค่าผ่านบุคคลากรขององค์กรสู่ธุรกิจชุมชนอย่างแท้จริง
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ