เช็คให้ดี! 15 จุดในรถเสี่ยงสะสมเชื้อ COVID-19 มีตรงไหนบ้าง?
หลายคนอาจสงสัยว่า เอ... รถของเราจะไปมีเชื้อโควิด-19 ได้อย่างไร ในเมื่อเราก็ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี แถมยังไม่เคยให้ใครยืมรถไปใช้อีกต่างหาก แต่ในความเป็นจริงนั้น เพียงแค่คุณขับรถไปจ่ายตลาด หรือแหล่งชุมชนใดๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค คุณก็อาจเผลอนำเชื้อมาสะสมไว้ในรถโดยไม่รู้ตัวแล้วเช่นกัน
คุณจึงควรหมั่นทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคภายในรถอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคไม่เพียงเฉพาะไวรัสโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเชื้อโรคอื่นๆ ที่ต้องพบเจอในชีวิตประจำวันอีกด้วย
วิธีการทำความสะอาดภายในรถยนต์ที่ถูกต้องและเหมาะสม ทำได้โดยใช้ผ้าอ่อนนุ่มหรือผ้าไมโครไฟเบอร์ ควบคู่กับการใช้ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol) เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณชิ้นส่วนภายในรถที่ต้องสัมผัสอยู่บ่อยๆ ได้แก่
- พวงมาลัย
- กุญแจและรีโมท
- มือเปิดประตูภายนอกทุกตำแหน่ง
- ปุ่มเปิดฝากระโปรงท้ายและบริเวณที่จับ
- มือเปิดประตูภายใน
- ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์
- กระจกมองหลัง (รวมถึงกรอบและฝาปิดด้านหลัง)
- ช่องแอร์ทุกตำแหน่ง
- คันเกียร์
- ก้านไฟเลี้ยว
- ก้านที่ปัดน้ำฝน
- ปุ่มควบคุมต่างๆ บริเวณคอนโซลหน้า และแผงประตู
- ปุ่มควบคุมบริเวณคอนโซลกลางระหว่างเบาะนั่งคู่หน้า
- หัวเสียบเข็มขัดนิรภัยและปุ่มปลดล็อก (หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดสายเข็มขัดนิรภัยด้วยแอลกอฮอล์)
- ก้านหรือปุ่มเบรกมือ
นอกจากนี้ เบาะนั่งยังเป็นอีกชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่ควรใช้น้ำยาที่ออกแบบมาสำหรับการทำความสะอาดเบาะหนังโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้ผิววัสดุได้รับความเสียหาย หรืออาจใช้น้ำสบู่อ่อนๆ เพื่อทำความสะอาด จากนั้นใช้น้ำยาเคลือบบำรุงหนังทาทับลงไปก็ได้
ส่วนรถที่ติดตั้งหน้าจอแบบสัมผัส ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย เพราะอาจทำให้ผิวเคลือบสำหรับป้องกันการสะท้อนแสงและรอยนิ้วมือหลุดออกได้ ทางที่ดีควรใช้ผ้าอ่อนนุ่มชุบน้ำในการทำความสะอาด จากนั้นเช็ดให้แห้งก็เพียงพอแล้ว หากรู้สึกว่าไม่สะอาดพอจะเช็ดซ้ำอีก 2-3 ครั้งก็ย่อมได้
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ห้ามใช้สารฟอกขาว, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, น้ำมันเบนซิน, ทินเนอร์ หรือน้ำยาที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรงโดยเด็ดขาด เพราะจะทำความเสียหายต่อชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในรถได้นั่นเองครับ