จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายหรือไม่?
ปัญหาการจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ถือเป็นปัญหาโลกแตกที่พบเจอได้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านเล็กหรือหมู่บ้านใหญ่ และอาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาทรุนแรงจนได้รับอันตรายถึงชีวิตก็เคยมีมาแล้วเช่นกัน
อันที่จริงแล้วกฎหมายไทยได้กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการจอดรถเอาไว้ชัดเจน ว่าผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกบ้านผู้อื่น ไม่ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่เอกชนหรือทางสาธารณะก็ตาม โดย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 55 (6) บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ
(1) ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง
(2) บนทางเท้า
(3) บนสะพานหรือในอุโมงค์
(4) ในทางร่วมทางแยก
(5) ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
(6) ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
(7) ในเขตปลอดภัย
นอกจากนี้ การจอดรถกีดขวางหน้าบ้านผู้อื่น ยังถือเป็นความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเจ้าของบ้านที่ถูกรถจอดกีดขวางสามารถแจ้งความเพื่อเอาผิดได้
ทั้งนี้ ปัญหาการจอดรถกีดขวางหน้าบ้าน เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้าน ทางที่ดีควรหาทางออกโดยวิธีประนีประนอมกันแต่โดยดี จะได้รักษาสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ ส่วนการตั้งวางกรวยจราจร, เก้าอี้ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาจอดรถกีดขวางหน้าบ้านนั้น กรณีเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลจะไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายกำหนดเอาไว้ แต่อาจเป็นเรื่องของกฎในหมู่บ้านที่มีมติบังคับใช้กันเอง
แต่หากเป็นการตั้งวางสิ่งของบนพื้นที่สาธารณะแล้วล่ะก็ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจร แต่เจ้าพนักงานจราจรจะอนุญาตได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น" มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 500 บาท
ดังนั้น การจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่น นอกจากจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับเพื่อนบ้านแล้วนั้น ยังถือเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา มีโทษปรับและอาจเข้าข่ายจำคุกได้อีกด้วย