อย่าหาทำ! "ถอดแคตแลกท่อซิ่ง" ได้ไม่คุ้มเสียเพราะมูลค่ากลับยิ่งกว่าทอง

อย่าหาทำ! "ถอดแคตแลกท่อซิ่ง" ได้ไม่คุ้มเสียเพราะมูลค่ากลับยิ่งกว่าทอง

อย่าหาทำ! "ถอดแคตแลกท่อซิ่ง" ได้ไม่คุ้มเสียเพราะมูลค่ากลับยิ่งกว่าทอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      ท่ามกลางความนิยมของคนไทย "บางกลุ่ม" ที่ชอบแต่งรถกระบะแบบผิดกฎหมาย คอยพ่นควันดำปี๋สร้างความเดือดร้อนไปทั่วนั้น ก็มีธุรกิจการรับซื้อ "ท่อแคต" เกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอันใดหาก "ท่อแคต" เหล่านี้เสื่อมสภาพจนไม่อาจนำมาใช้งานได้ หรือถูกถอดมาจากรถที่แจ้งยกเลิกการใช้งานและไม่นำมาวิ่งบนท้องถนนอีกต่อไป

ท่อแคต คืออะไร?

      "ท่อแคต" หรือ "คาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์" (Catalytic Converter) มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่า "เครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา" เป็นชิ้นส่วนหนึ่งในระบบท่อไอเสียสำหรับกำจัดและลดปริมาณมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ก่อนจะถูกปล่อยออกสู่อากาศภายนอกที่เราใช้สูดหายใจกันอยู่ทั่วไป

      ด้านในของท่อแคตจะประกอบไปด้วยกลุ่มโลหะมีค่า (Precious Metal) ที่มีมูลค่าสูงและหาได้ยาก เช่น ทองคำขาว (Platinum) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารเชิงเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ที่ดีที่สุดและถูกนำมาใช้เป็นวงกว้างในการกำจัดมลพิษที่หลงเหลือจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ รวมไปถึงแพลเลเดียม (Palladium) และโรเดียม (Rhodium) ก็ถือเป็นโลหะมีค่าที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน

catalytic_01

วัตถุดิบราคายิ่งกว่าทอง

      ใครจะเชื่อว่าโลหะที่ใช้กำจัดมลพิษเหล่านี้กลับมีค่าดั่งทอง แถมบางตัวมีค่ามากกว่าทองด้วยซ้ำไป หากอ้างอิงตามเว็บไวต์ Goldandsilver.org จะพบว่าราคาทองคำปัจจุบัน (20 พ.ค.) ป้วนเปี้ยนอยู่ประมาณ 1,874 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ออนซ์ หรือคิดเป็นตัวเลขกลมๆ อยู่ที่ราว 59,000 บาท

      ส่วนทองคำขาว (Platinum) ที่ถูกใช้เป็นโลหะกำจัดควันพิษก็มีมูลค่าสูงถึง 1,216 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ออนซ์ หรือประมาณ 38,000 บาททีเดียว ขณะที่แพลเลเดียม (Palladium) ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีราคาสูงเสียดฟ้ายิ่งกว่าทองอยู่ที่ 2,917 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ออนซ์ หรือคิดเป็นเงินไทยตกประมาณ 91,500 บาท

      ด้วยมูลค่าวัตถุดิบมหาศาลเหล่านี้ การกำจัด Catalytic Converter ที่หมดอายุแล้ว จึงต้องมีการสกัดนำเอาโลหะมีค่าเหล่านี้ออกมาเสียก่อนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ก็ลองคิดดูแล้วกันครับว่าการนำของที่มีมูลค่าขนาดนี้ ไปแลกกับท่อไอเสียราคาไม่กี่พันบาทมันคุ้มกันไหม? นั่นยังไม่นับรวมคนบางกลุ่มที่จู่ๆ ดันเกิดขัดสนเงินทอง ก็รีบพุ่งตัวไปหาพ่อค้าเหล่านี้เพื่อแลกท่อแคตมาเป็นเงินสดแทน ทั้งๆ ที่จะเพิ่งถอยรถป้ายแดงออกมาสดๆ ร้อนๆ ก็ตาม

catalytic03

อยากแรงต้องถอดแคต?

      ปัจจุบันมีนักซิ่งกระบะจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้บริการ "ถอดแคตแลกท่อซิ่ง" ที่หาได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัสบนหน้าจอมือถือ ด้วยความเชื่อที่ว่าการถอดแคตออกจะทำให้รถวิ่งดีขึ้น แรงขึ้น แถมยังได้ท่อแต่งเสียงดังกระหึ่มมาทั้งเส้นฟรีๆ โดยไม่ต้องเงินสักบาท

      จริงอยู่ที่การถอดแคตออกนั้น หากว่ากันตามทฤษฎีจะทำให้รถแรงขึ้นได้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากเครื่องยนต์สามารถระบายไอเสียได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ตามมาชัดเจน คือ รถเหม็นควันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมลพิษถูกออกจากปลายท่อไอเสียแบบเต็มๆ ทั้งสารประกอบไฮโดรคาร์บอน, คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อระบบหายใจของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตร่วมโลก แถมยังซ้ำเติมปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบไร้ซึ่งเยื่อใยใดๆ ทั้งสิ้น

      และหากว่ากันตามจริง รถกระบะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันก็มีพละกำลังในระดับที่ "เกินพอ" สำหรับการใช้งานเพื่อ "ทำมาหากินปกติ" ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ด้วยแรงบิดจากโรงงานต่ำๆ ก็เกือบ 400 นิวตัน-เมตรแทบจะทุกยี่ห้อ ดังนั้นการปรับจูนเครื่องยนต์ให้แรงขึ้นด้วยวิธีที่ไร้ความรับผิดชอบเช่นนี้ แลกกับความเท่ในสายตาของคนบางกลุ่มที่มีความคิดใกล้เคียงกันจึงไม่ควรเกิดขึ้นเลย เพราะมันยังถูกต่อยอดไปถึงพฤติกรรมการขับรถแบบไร้วินัย ไม่คำนึงถึงกฎจราจร และการกระทำผิดกฎหมายมากมายอีกนับไม่ถ้วน

catalytic02

สรุปแล้วถอดแคตผิดกฎหมายหรือไม่?

      ในด้านกฎหมายนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ระบุถึงความผิดในด้านการถอดอุปกรณ์คาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ออกโดยตรง แต่ พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ก็กำหนดไว้ว่าจะรถทุกคันที่ปล่อยไอเสียได้นั้น จะต้องมีระบบไอเสียติดตั้งไว้เสมอ จึงอาจเข้าข่ายความผิดข้อหาอุปกรณ์ส่วนควบไม่สมบูรณ์หรือติดตั้งผิดกฎหมาย เนื่องจากคาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ผลิตรถยนต์ถูกบังคับให้ติดตั้งเข้ากับรถทุกคันจากโรงงานอยู่แล้ว นอกจากนี้ การเปลี่ยนไปใช้ท่อซิ่ง อาจก่อให้เกิดเสียงดังเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีมลพิษพุ่งเกินค่ามาตรฐาน จนไม่อาจการผ่านการตรวจสภาพเพื่อต่อภาษีประจำปีได้

      แต่ในเมื่อคนบางกลุ่มยังคิดถึงความเท่มากกว่าความถูกต้อง ประกอบกับผู้บังคับใช้กฎหมายไม่สามารถกวดขันวินัยได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น "คนส่วนใหญ่" คงต้องก้มหน้ารับ "ผลทางอ้อม" จากการกระทำของคนเหล่านี้ต่อไปอีกนานแสนนาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook