หลายคนสงสัย! ปุ่มแอร์แต่ละปุ่มมีหน้าที่อย่างไรบ้าง
ระบบปรับอากาศในรถยนต์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่การใช้งานอย่างถูกต้องจะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ห้องโดยสารมีอุณหภูมิที่เหมาะสม และช่วยยืดอายุการใช้งานของระบบปรับอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดยปกติแล้วระบบปรับอากาศในรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นระบบปรับอากาศธรรมดา หรือระบบปรับอากาศอัตโนมัติ จะมีฟังก์ชันการใช้งานพื้นฐานใกล้เคียงกัน ดังนี้
สวิตช์ปรับระดับแรงลม
ปุ่มปรับระดับแรงลมถือว่าเป็นปุ่มที่ถูกใช้งานมากที่สุดของระบบปรับอากาศในรถยนต์เลยก็ว่าได้ เนื่องจากส่วนมากมักรวมเอาตำแหน่งปิด หรือ OFF เข้าไว้ด้วยกัน โดยภายหลังจากขึ้นมาบนรถใหม่ๆ ควรเปิดพัดลมแอร์ให้แรงกว่าปกติ เพื่อให้ลมเย็นสามารถกระจายทั่วถึงได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้อุณหภูมิภายในห้องโดยสารลดลงถึงระดับที่ตั้งไว้ได้เร็วกว่า จะเป็นการช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองทางอ้อมได้อีกต่างหาก
กรณีใช้โหมด AUTO เซ็นเซอร์ภายในห้องโดยสารจะคอยตรวจวัดอุณหภูมิและปรับแรงลมให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ คุณจึงไม่สามารถปรับตั้งความแรงลมด้วยตัวเองได้ (โดยปกติแล้วโหมด AUTO จะปรับไปที่แรงลมสูงสุดก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับลดลงมาเมื่ออุณหภูมิภายในห้องโดยสารเริ่มลดลง)
ปุ่มปรับอุณหภูมิ
รถบางรุ่นอาจระบุเป็นตัวเลของศาเซลเซียส บางรุ่นอาจเป็นแถบสีน้ำเงิน-แดง แต่การปรับอุณหภูมิที่ถูกต้องไม่ควรปรับให้เย็นจนเกินไป (บางคนใช้วิธีปรับให้เย็นจัดแล้วหันหน้ากากแอร์ออกจากตัวแทน) เพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัวแล้ว ยังส่งผลให้คอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานมากเกินความจำเป็น ทำให้อัตราสิ้นเปลืองแย่ลงอีกต่างหาก หากเป็นรถรุ่นเก่าๆ อาจทำให้คอยล์เย็นจับตัวเป็นน้ำแข็ง จนทำให้ลมแอร์ไม่ออกเลยด้วยซ้ำไป
ปุ่ม DUAL
รถยนต์ที่มีระบบปรับอากาศแยกอุณหภูมิซ้าย-ขวาอาจมีปุ่ม DUAL มาให้ โดยหากอุณหภูมิทั้งสองฝั่งถูกปรับไว้ต่างกัน ปุ่ม DUAL ก็จะทำหน้าที่ปรับอุณหภูมิฝั่งผู้โดยสารให้เท่ากับอุณหภูมิฝั่งผู้ขับขี่ หากมีการเปลี่ยนอุณหภูมิฝั่งผู้ขับขี่ ตัวเลขฝั่งผู้โดยสารก็จะถูกเปลี่ยนให้เท่ากันเสมอ แต่หากต้องการปรับแยกออกจากกัน ก็สามารถเปลี่ยนอุณหภูมิฝั่งผู้โดยสารได้ทันที
ปุ่ม A/C
หากแอร์รถไม่เย็น จุดแรกที่ต้องตรวจสอบก็คือปุ่ม A/C เพราะเป็นปุ่มสำหรับตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์แอร์โดยสิ้นเชิง โดยปกติแล้วปุ่ม A/C จะต้องมีไฟติดอยู่เสมอเพื่อให้คอมแอร์ทำงานได้ตามปกติ แต่อาจปิดการทำงานได้ในกรณีต้องการเฉพาะพัดลมแอร์ หรือไล่ความชื้นออกจากตู้แอร์เพื่อลดกลิ่นอับชื้น เป็นต้น
ปุ่มปรับการไหลเวียนอากาศ
ปุ่มนี้ใช้สำหรับปิดกั้นหรือดึงอากาศจากภายนอกรถเข้ามา ซึ่งโดยปกติแล้วควรปิดให้อากาศไหลเวียนเฉพาะภายในห้องโดยสารเท่านั้น เพื่อให้มลพิษภายนอกเล็ดลอดเข้ามาได้น้อยที่สุด แต่หากวันไหนขับรถทางไกลหรืออยู่ต่างจังหวัดที่มีอากาศสดชื่น การดึงอากาศภายนอกเข้ามาจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ภายในห้องโดยสาร (ที่เกิดจากการหายใจของผู้โดยสารเอง) เพิ่มปริมาณออกซิเจน ช่วยลดอาการง่วงซึมขณะขับรถได้
กรณีมีสัญลักษณ์ A และ M อยู่บนปุ่มด้วยนั้น (พบได้ในรถยุโรป เช่น BMW และ Volvo) หากปรับไปที่ A ระบบจะเลือกปิดกั้นหรือดึงอากาศภายนอกโดยอัตโนมัติขึ้นอยู่กับคุณภาพของอากาศ ส่วน M จะหมายถึงการปิดกั้นไม่ให้ดึงอากาศจากภายนอกเข้ามา แต่หากไม่มีไฟติดที่สัญลักษณ์ใดเลยก็จะเป็นการดึงอากาศภายนอกเข้ามายังห้องโดยสาร
ปุ่มปรับทิศทางลม หรือ MODE
รถยนต์ส่วนมากสามารถเลือกปรับทิศทางลมเพื่อเป่าลมเย็นเข้าสู่ร่างกายหรือเท้า หรือทั้งสองอย่างควบคู่กันได้ แต่หากเลือกเป่าทั้งสองตำแหน่งพร้อมกันจะทำให้ความแรงลมลดลง นอกจากนี้ยังสามารถเลือกเป่าลมขึ้นกระจกบังลมหน้าเพื่อไล่ฝ้าได้ แต่จำเป็นต้องดึงอากาศจากภายเข้ามาด้วย เพื่อเป็นการปรับอุณหภูมิภายนอก-ภายในให้เท่ากัน จะช่วยให้ฝ้าเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว
ปุ่มไล่ฝ้าด้านหน้า
กรณีปุ่มไล่ฝ้าด้านหน้าถูกแยกออกมาเป็นสวิตช์ต่างหากนั้น ทันทีที่กดปุ่ม ระบบแอร์จะเพิ่มความแรงลมในระดับสูงสุด เปลี่ยนทิศทางลมขึ้นไปยังกระจกหน้า และดึงอากาศจากภายนอกเข้ามาโดยอัตโนมัติ จากนั้นฝ้าจะเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อฝ้าหมดจึงค่อยปิดการทำงานเพื่อรับลมเย็นเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง
ปุ่มไล่ฝ้าด้านหลัง
ปุ่มไล่ฝ้าด้านหลังจะแตกต่างจากด้านหน้าด้วยสัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ปุ่มไล่ฝ้าด้านหน้าจะใช้สัญลักษณ์คล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู) อีกทั้งมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เนื่องจากระบบไล่ฝ้าหลังจะใช้ลวดทองแดงที่ฝังอยู่ในเนื้อกระจกเพื่อสร้างความร้อนในการละลายฝ้า
ข้อควรระวังในการใช้ระบบไล่ฝ้าหลัง คือ เมื่อฝ้าเลือนหายไปจนหมดแล้ว ควรรีบปิดระบบไล่ฝ้าทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนสะสมมากจนเกินไป อันจะเสี่ยงทำให้กระจกแตกได้ (รถยนต์โดยส่วนมากจะมีระบบตัดการทำงานของไล่ฝ้าหลังภายใน 15-20 นาทีหลังจากเริ่มทำงาน)
ปุ่ม MAX A/C
รถยนต์บางรุ่นจะมีปุ่ม MAX A/C มาให้ ซึ่งจะตั้งอุณหภูมิต่ำสุดและเปิดพัดลมแรงสุดโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ห้องโดยสารเย็นลงได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งหมดนี้คือการใช้งานปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศต่างๆ ที่ถูกต้อง หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านเพื่อให้สามารถใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์และคุ้มค่าสูงสุดครับ