ขั้นตอนการตรวจสภาพรถที่ ตรอ. เพื่อต่อภาษีประจำปีทำอย่างไรบ้าง?
รถยนต์ที่ผ่านการใช้งานตั้งแต่ 7 ปี และรถจักรยานยนต์ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากสถานตรวจสภาพรถ หรือ ตรอ. จึงจะสามารถต่อภาษีประจำปีได้ แล้วรู้หรือไม่ว่ามาตรฐานการตรวจสภาพรถยนต์และจักรยานยนต์ของ ตรอ. เขามีวิธีการอย่างไร? เรามีคำตอบมาฝากกันครับ
สถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
- สถานตรวจสภาพรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ทุกประเภทและทุกขนาดน้ำหนัก
- สถานตรวจสภาพรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ขนาดน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม และรถจักรยานยนต์
- สถานตรวจสภาพรถจักรยานยนต์
ประเภทของรถที่เข้าข่ายเข้ารับการตรวจสภาพรถ (ตรอ.)
1. รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
- รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก
- รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ เว้นแต่รถที่ใช้ในการบรรทุกวัสดุอันตราย และรถพ่วง หรือรถกึ่งพ่วง ที่ติดตั้งถังบรรทุกวัสดุอันตราย
2. รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
- รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ได้แก่
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1)
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รย.2)
- รถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กก. (รย.3) ยกเว้นรถที่ได้รับความเห็นชอบการจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (รย.12) ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก
3. รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ค้างชำระภาษีประจำปีเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี
ขั้นตอนการตรวจสภาพรถของสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.)
1.ตรวจสอบความถูกต้องของรถเบื้องต้น
ตรวจสอบความถูกต้องของรถเทียบกับสมุดคู่มือจดทะเบียน (หรือสำเนา) ทั้งหมายเลขทะเบียนรถ, ประเภทรถ, ลักษณะรถ, ชนิดรถ, แบบรถ, รุ่นรถ, สีรถ หมายเลขตัวรถหรือหมายเลขโครงคัสซี, ชนิดเครื่องยนต์, เลขเครื่องยนต์ และชนิดเชื้อเพลิง
สถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) จะระงับการตรวจสภาพหากพบข้อขัดข้องดังต่อไปนี้
- แผ่นป้ายทะเบียนสูญหาย, ชำรุด หรือลบเลือนสาระสำคัญ
- หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวรถ หรือหมายเลขโครงคัสซีมีร่องรอยการแก้ไข ขูดลบ หรือลบเลือนจนไม่สามารถตรวจสอบได้
- มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดไปจากสาระสำคัญในคู่มือจดทะเบียนรถ (กรณีติดตั้ง LPG/NGV จะต้องมีหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ด้วย)
2.การตรวจภายนอกและอุปกรณ์ความปลอดภัย
การตรวจพินิจรถยนต์
- การตรวจพินิจภายในรถ
- ระบบบังคับเลี้ยว พวงมาลัย
- มาตรวัด ไฟสัญญาณ
- สวิตช์ควบคุมไฟสัญญาณ แตรสัญญาณ
- อุปกรณ์ปัดและฉีดทำความสะอาดกระจกกันลมหน้า
- กระจกกันลมหน้า-หลัง
- กระจกเงาสำหรับมองหลัง
- ที่นั่งผู้ขับ ที่นั่งผู้โดยสาร
- เข็มขัดนิรภัย
- การตรวจพินิจภายนอกรถ
- โคมไฟพุ่งไกล โคมไฟพุ่งต่ำ
- โคมไฟเลี้ยว
- โคมไฟหรี่ ไฟอื่นๆ
- กันชน
- กงล้อและยาง
- บังโคลน
- โครงสร้างและตัวถัง
- สี
- ประตู
- กระจกด้านข้าง
- กระจกเงาสำหรับมองหลัง
- โคมไฟท้าย
- โคมไฟหยุด
- อุปกรณ์สะท้อนแสง
- โคมไฟถอยหลัง
- โคมไฟส่องป้ายทะเบียน
- โคมไฟแสดงความกว้าง ความสูง ไฟอื่นๆ
- กันชนท้าย
- การตรวจพินิจใต้ท้องรถ
- ระบบบังคับเลี้ยว กลไกบังคับเลี้ยว
- ระบบรองรับน้ำหนัก สปริง แหนบ โช๊คอัพ
- เพลาล้อ กงล้อและยาง
- โครงสร้างตัวถัง โครงคัสซี
- ระบบส่งกำลัง คลัทช์ เกียร์ เพลากลาง เฟืองท้าย
- ระบบไอเสีย เครื่องระงับเสียง
- แท่นเครื่อง ยางแท่นเครื่อง
- อุปกรณ์ขจัดมลพิษ Catalytic Converter
- ระบบเชื้อเพลิง ท่อส่งเชื้อเพลิง ท่อส่งก๊าซ
3.การทดสอบศูนย์ล้อหน้า
ขับรถวิ่งในแนวตรงผ่านเครื่องทดสอบ ด้วยความเร็วประมาณ 3-5 กม./ชม. ขณะล้อหน้าผ่านเครื่องทดสอบ ประคองพวงมาลัยหรือปล่อยมือจากพวงมาลัย ค่าเบี่ยงเบนของศูนย์ล้อหน้าจะต้องไม่เกิน +-5 เมตรต่อกิโลเมตร
4.การทดสอบระบบเบรก
นำรถเข้าเครื่องทดสอบ และดำเนินการตามคู่มือของบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือ โดยค่อยๆ เหยียบเบรกจนแรงเหยียบสูงสุด (ไม่เหยียบเบรกอย่างรวดเร็ว)
- เบรกมือ - แรงห้ามล้อทุกล้อรวมกันต้องไม่น้อยกว่า 20% ของน้ำหนักรถ
- เบรกเท้า - แรงห้ามล้อทุกล้อรวมกันต้องไม่น้อยกว่า 50% ของน้ำหนักรถ
- ผลต่างของแรงเบรก - ผลต่างแรงห้ามล้อซ้าย-ขวาต้องไม่เกิน 25% ของแรงห้ามล้อสูงสุดในเพลานั้น
5.การตรวจวัดโคมไฟหน้า
ตรวจวัดโคมไฟแสงพุ่งไกล (ไฟสูง) และโคมไฟแสงพุ่งต่ำ (ไฟต่ำ) โดยรถที่นำมาตรวจสภาพควรเป็นรถเปล่าที่ไม่มีน้ำหนักบรรทุก
6.ตรวจวัดคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และไฮโดรคาร์บอน (HC)
ตรวจวัดขณะเครื่องยนต์เดินเบาในขณะเกียร์ว่าง ปิดระบบปรับอากาศ โดยวัดปริมาณ CO และ HC จากปลายท่อไอเสียจำนวน 2 ครั้ง แล้วจึงนำค่ามาหาเฉลี่ยเป็นเกณฑ์
เกณฑ์วัดค่าก๊าซ CO และ HC
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ลักษณะเก๋ง
- จดทะเบียนก่อน 1 พ.ย. 2536
- CO ต้องไม่เกินร้อยละ 4.5
- HC ต้องไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน
- จดทะเบียน 1 พ.ย. 2536 - 31 ธ.ค. 2549
- CO ไม่เกินร้อยละ 1.5
- HC ไม่เกินร้อยละ 200 ส่วนในล้านส่วน
รถยนต์อื่นนอกจากข้อ 1 ที่จดทะเบียนก่อน 1 ม.ค. 2550
- CO ต้องไม่เกินร้อยละ 4.5
- HC ต้องไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน
รถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2550
- CO ต้องไม่เกินร้อยละ 0.5
- HC ต้องไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน
7.ตรวจวัดค่าควันดำ
ตรวจวัดขณะเร่งเครื่องอย่างเร็วจนสุดคันเร่งในเกียร์ว่างและปิดระบบปรับอากาศ เก็บค่าควันดำจำนวน 2 ครั้ง โดยใช้ค่าที่วัดได้สูงสุด เครื่องมือวัดระบบกระดาษกรอง (Filter) ค่าควันดำต้องไม่เกิน 50% และเครื่องมือวัดระบบวัดความทึบแสง (Opacity) ค่าควันดำต้องไม่เกิน 45%
8.ตรวจวัดระดับเสียงจากท่อไอเสีย
กรณีเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ให้เร่งเครื่องยนต์จนสุดคันเร่ง ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน ให้เร่งเครื่องยนต์ให้มีความเร็วรอบประมาณ 3 ใน 4 ของรอบที่ให้กำลังม้าสูงสุดจนกระทั่งเครื่องยนต์ทำงานด้วยความเร็วรอบคงที่ ค่าระดับเสียงสูงสุดต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ
การรายงานผลการตรวจสภาพรถ
รถที่ผ่านการตรวจสภาพรถ เจ้าหน้าที่จะจัดพิมพ์รายงานผลการตรวจสภาพรถจากระบบสารสนเทศของกรมการขนส่งทางบก โดย ตรอ.จะจัดเก็บเอกสารส่วนที่ 1 และมอบเอกสารส่วนที่ 2 ให้กับผู้ที่นำรถเข้ารับการตรวจสภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยถือเป็นใบรับรองการตรวจสภาพและให้มีอายุ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผ่านการตรวจสภาพรถ
กรณีไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการตรวจสภาพและข้อบกพร่องให้ผู้ที่นำรถเข้ารับการตรวจสภาพรับทราบ พร้อมทั้งมอบเอกสารส่วนที่ 2 ให้เจ้าของรถเพื่อให้เป็นหลักฐานในการตรวจสภาพรถอีกครั้งภายหลังจากแก้ไขข้อบกพร่องแล้ว โดยมีรายละเอียดการตรวจสภาพรถใหม่ ดังนี้
- กรณีตรวจสภาพรถใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพครั้งแรก ให้ตรวจเฉพาะรายการข้อบกพร่องที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพ
- กรณีตรวจสภาพรถใหม่เกิน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพครั้งแรก ให้ตรวจสภาพใหม่ทุกรายการ
ค่าบริการการตรวจสภาพรถ
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กก. ค่าบริการ 150 บาท/คัน
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กก. ค่าบริการ 250 บาท/คัน
- รถจักรยานยนต์ ค่าบริการ 60 บาท/คัน