5 พฤติกรรมต้องห้ามที่ไม่ควรทำกับแอร์รถยนต์เด็ดขาด
ระบบปรับอากาศในรถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งในบ้านเรา เพราะหากวันไหนเกิดแอร์เสียขึ้นมา คงไม่มีใครสามารถทนขับรถท่ามกลางสภาพอากาศร้อนๆ ไปได้อย่างแน่นอน การดูแลรักษาระบบปรับอากาศอย่างถูกวิธีจึงถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง
Sanook Auto จึงขอแนะนำ 5 พฤติกรรมต้องห้ามที่ไม่ควรทำกับระบบปรับอากาศในรถยนต์อย่างเด็ดขาด ดังนี้
1. นำการบูรหรือสารระเหยไว้ภายในรถ
แม้ว่ากลิ่นของการบูรจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นถูกใจใครหลายคน แต่การบูรจะมีการระเหิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะถูกหมุนเวียนเข้าไปสะสมอยู่ในตู้แอร์ เมื่อรวมเข้ากับสิ่งสกปรกและความชื้น ก็จะทำให้คอยล์เย็นเกิดการอุดตันในที่สุด แถมยังเป็นจุดสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรียชั้นดีอีกด้วย
2. ไม่เปลี่ยนไส้กรองแอร์เมื่อถึงเวลา
เจ้าของรถหลายคนละเลยที่จะเปลี่ยนไส้กรองแอร์ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็น แต่ไส้กรองแอร์มักเป็นแหล่งสะสมฝุ่นเอาไว้ ซึ่งล้วนแต่เป็นอากาศที่เราหายใจเข้าไปทั้งสิ้น แถมอาจเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นภายในรถได้อีกด้วย ทางที่ดีควรเปลี่ยนไส้กรองทุกครั้งเมื่อถึงเวลา
3. ปรับระดับอุณหภูมิเย็นเกินไป
การปรับอุณหภูมิของระบบแอร์ควรสัมพันธ์กับความแรงลมด้วย เพราะหลายคนเลือกที่จะปรับเฉพาะความแรงลมเท่านั้น แล้วปล่อยให้อุณหภูมิแอร์อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความชื้นสะสมอยู่ในตู้แอร์ แถมยังเป็นการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยใช้เหตุอีกด้วย
4. ปิดหน้ากากแอร์
การปิดหน้ากากแอร์จะช่วยลดความหนาวเย็นลงได้จริง แต่นั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะการปิดหน้ากากแอร์จะส่งผลแรงลมของช่องแอร์ช่องอื่นเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าปิดหน้ากากแอร์มากกว่า 1 ช่องขึ้นไป ก็อาจเป็นการเพิ่มความชื้นสะสมเข้าไปยังตู้แอร์ได้ ทางที่ดีควรใช้วิธีปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมแทนจะช่วยให้รู้สึกสบายตัวกว่า
5. เผลอกดรับอากาศภายนอกเข้ามา
อันที่จริงในประเทศทางแถบยุโรปที่มีสภาพอากาศดี คนใช้รถมักเปิดรับเอาอากาศภายนอกเข้ามายังห้องโดยสาร เพราะจะช่วยให้รู้สึกสดชื่น และลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ภายในรถลงได้ แต่สำหรับบ้านเรากลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะจะเป็นการรับสิ่งสกปรกทั้งฝุ่นควันเข้ามายังห้องโดยสาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ทางที่ดีควรเปิดรับอากาศภายนอกเพียงชั่วครั้งชั่วคราวในวันที่อากาศดีเท่านั้น
การเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานของระบบปรับอากาศในรถยนต์ได้ไม่มากก็น้อยครับ
>> น้ำหอมติดรถยนต์เสี่ยงทำให้ "แอร์พัง" จริงไหม?
>> ก่อนดับเครื่องยนต์ ต้องปิดแอร์จริงหรือไม่?