เปิดโผ 8 เส้นทางเตรียมเพิ่มเพดานขยายจำกัดความเร็วเป็น 120 กม./ชม.
กระทรวงคมนาคมจ่อเพิ่มเพดานจำกัดความเร็ว 120 กม./ชม. ในอีก 8 เส้นทาง โดยแบ่งเป็นเส้นทางของกรมทางหลวง 6 เส้นทาง และกรมทางหลวงชนบทอีก 2 เส้นทาง
กรมการขนส่งทางบก, กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้พิจารณาเส้นทางที่จะปรับความเร็วสูงสุดใหม่เพิ่มเติมจำนวน 8 เส้นทาง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน สำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นเส้นทางของกรมทางหลวง จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่
- เส้นทางที่ 1 ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหนองแค – หินกอง – ปากข้าวสาร – แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค กม. 79+000 – 105+000 ระยะทางรวมประมาณ 26.000 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 2 ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วงบางแค – คลองมหาสวัสดิ์ กม. 23+000 – 31+872 ระยะทางรวมประมาณ 8.872 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 3 ทางหลวงหมายเลข 347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี – ต่างระดับเชียงรากน้อย กม. 1+000 – 10+000 ระยะทางรวมประมาณ 10.000 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 4 ทางหลวงหมายเลข 35 ช่วงนาโคก – แพรกหนามแดง กม. 56+000 – 80+600 ระยะทางรวมประมาณ 24.600 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 5 ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง – สระพระ กม. 160+000 – 167+000 ระยะทางรวมประมาณ 7.000 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 6 ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง – สระพระ กม. 172+000 – 183+500 ระยะทางรวมประมาณ 11.500 กิโลเมตร
เส้นทางในความดูแลของกรมทางหลวงชนบท 2 เส้นทาง ได้แก่
- เส้นทางที่ 1 นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 51.700 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 2 นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 12.400 กิโลเมตร
ทั้งนี้ เส้นทางทั้ง 8 เส้นทางดังกล่าวจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย อุปกรณ์ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ เช่น ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรบนผิวทางติดป้ายจราจร, ป้ายเตือน, ป้ายจำกัดความเร็ว, ก่อสร้างกำแพงคอนกรีต ตลอดจนติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System) และระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลการใช้ความเร็วของผู้ใช้รถได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถแนะนำให้ใช้ความเร็วอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ได้
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ลดการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนและความรุนแรงของอุบัติเหตุบนถนนลง