รีวิว ORA Good Cat ใหม่ รถไฟฟ้าดีไซน์น่ารัก สมรรถนะน่าคบ ส่วนราคาต้องรอลุ้น

รีวิว ORA Good Cat ใหม่ รถไฟฟ้าดีไซน์น่ารัก สมรรถนะน่าคบ ส่วนราคาต้องรอลุ้น

รีวิว ORA Good Cat ใหม่ รถไฟฟ้าดีไซน์น่ารัก สมรรถนะน่าคบ ส่วนราคาต้องรอลุ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ORA Good Cat ถือเป็นรถยนต์ที่มีผู้ให้ความสนใจมากที่สุดแห่งปี 2564 เลยก็ว่าได้ เพราะจากที่มีการเผยโฉมครั้งแรกในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2021 ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นรถที่มีผู้คนห้อมล้อมมากที่สุดในงาน จนกระทั่งเมื่อเกรทวอลล์มอเตอร์ได้เปิดรับจองสิทธิ์ซื้อเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็กลายเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลอย่างล้นหลาม และสามารถทำยอดจองสิทธิ์มากกว่า 4,200 คัน ภายในระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น

ora_good_cat_11

     ORA Good Cat เป็นรถยนต์รุ่นที่ 2 ของค่าย Great Wall Motor ประเทศไทยที่จะทำตลาดต่อจาก Haval H6 ก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบันเปิดรับจองทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ประกอบด้วย

  • 400 TECH
  • 400 PRO
  • 500 ULTRA

     ซึ่งตัวเลข 400 และ 500 ก็หมายถึงระยะทางขับขี่ของแต่ละรุ่น เนื่องจากใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นไปตามตลาดแม่ในประเทศจีนที่มีแบตเตอรี่ให้เลือก 2 ขนาดเช่นกัน เนื่องจาก ORA Good Cat ที่วางขายในบ้านเรา เป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจากประเทศจีนนั่นเอง ส่วนอนาคตจะมีรุ่นประกอบไทยหรือไม่นั้น คงต้องดูกันอีกยาวๆ

ora_good_cat_16

     สำหรับ ORA Good Cat ที่เราได้มีโอกาสทดสอบในครั้งนี้เป็นรุ่น “400 PRO” หรือเป็นตัวรองท็อปนั่นเอง ซึ่งก็น่าเสียดายอยู่บ้างเนื่องจากรุ่นที่มีผู้สนใจจองสิทธิ์มากที่สุดเป็นรุ่น 500 ULTRA หรือรุ่นท็อป ที่ไม่เพียงแต่ได้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น แต่ยังมีอุปกรณ์มาตรฐานหลายอย่างเพิ่มขึ้นมาให้ด้วย

     ดีไซน์ภายนอกของ ORA Good Cat คงแทบไม่ต้องบรรยายกันอีกแล้ว เพราะหลายคนเห็นจนตาแฉะมาตั้งแต่ช่วงงานมอเตอร์โชว์ โดย GWM ระบุว่ารถรุ่นนี้ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด “Retro Futuristic” ที่ผสมผสานเอาความล้ำยุคกับกลิ่นอายสไตล์เรโทรเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีทีเดียว

ora_good_cat_31

     จุดหนึ่งที่หลายคนไม่ทราบมาก่อน คือ หัวหน้าทีมออกแบบ ORA Good Cat ชื่อว่า Emon Delta แท้จริงแล้วเคยมีส่วนร่วมในการออกแบบรถสปอร์ต Porsche 911 มาก่อนด้วย จึงไม่น่าแปลกที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้จะมีเส้นสายบางอย่างที่ดูคุ้นตา ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าดีไซน์กลมโต แนวฝากระโปรงด้านหน้า รวมถึงเส้นสายตัวถังที่ดูลงตัวกว่ารถร่วมสัญชาติหลายยี่ห้อ

     อุปกรณ์มาตรฐานในรุ่น 400 PRO ได้แก่ ระบบไฟหน้าแบบ Intelligent LED พร้อมระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ, ระบบปรับไฟหน้าสูง-ต่ำอัตโนมัติ, ไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED ที่ดูโดดเด่นเมื่ออยู่บนท้องถนน, ระบบไฟส่องนำทางหลังดับเครื่องยนต์, กระจังหน้าแบบ Active Air Intake, กระจกมองข้างปรับ-พับไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยว, ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ และล้ออัลลอยแบบ 5 ก้าน ขนาด 18 นิ้ว หุ้มด้วยยางขนาด 215/50 R18 จาก Giti

ora_good_cat_24

     ห้องโดยสารของ ORA Good Cat รุ่น 400 PRO ถูกตกแต่งด้วยโทนสีดำ ไม่ว่าจะเลือกตัวถังภายนอกสีอะไรก็ตาม มาพร้อมเบาะนั่งหุ้มหนังที่สามารถปรับไฟฟ้าฝั่งผู้ขับขี่ได้ 6 ทิศทาง ส่วนฝั่งผู้โดยสารยังคงเป็นแบบปรับมือ 4 ทิศทาง ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นไปจนถึงรุ่นท็อปสุด ขณะที่เบาะนั่งด้านหลังสามารถปรับพับแยกแบบ 60:40 เพื่อเพิ่มความอเนกประสงค์ได้ รวมถึงที่มีที่วางแก้วน้ำแบบพับได้มากให้ด้วย

     ซึ่งพื้นที่ภายในห้องโดยสารด้านหลังของ ORA Good Cat ถือว่าทำได้ดีจนน่าประหลาดใจ เพราะแม้ว่าตัวถังภายนอกจะดูไม่ได้มีขนาดใหญ่โตนัก แต่ภายในกลับกว้างขวางกว่าที่คิด เบาะนั่งแถวหลังมีพื้นที่วางขาแบบเหลือๆ จนสามารถนั่งไขว้ห้างชนิดที่ปลายเท้าไม่แตะด้านหน้าด้วยซ้ำไป ขณะที่ความกว้างก็เพียงพอที่จะบรรทุกผู้โดยสารแถวหลังได้ 3 คนแบบสบายๆ เรียกได้ว่าสามารถใช้งานเป็นรถครอบครัวได้เลย

ora_good_cat_34

     ภายในห้องโดยสารก็ถูกตกแต่งให้ดูโดดเด่นไม่แพ้กัน ด้วยการติดตั้งหน้าจอมาตรวัดความเร็วที่เชื่อมเข้ากับหน้าจออินโฟเทนเมนท์แบบสัมผัส โดยมาตรวัดความเร็วมีขนาด 7 นิ้ว สามารถปรับการแสดงผลได้หลากหลาย รวมถึงแสดงข้อมูลการใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ส่วนหน้าจออินโฟเทนเมนท์มีขนาด 10.25 นิ้ว ที่รวบรวมเอาระบบความบันเทิงและเมนูการตั้งค่าต่างๆ ของตัวรถมาไว้ที่หน้าจอทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่ระบบปรับอากาศ

     ขณะที่ปุ่มบริเวณกลางคอนโซลจำนวน 5 ปุ่ม มีการออกแบบชวนให้นึกถึงปุ่มของรถ MINI ราวกับยกกันมา โดยสองปุ่มฝั่งซ้ายใช้ระบบเปิด-ปิดระบบปรับอากาศ และสวิตช์ A/C ส่วนสองปุ่มฝั่งขวาใช้สำหรับระบบไล่ฝ้าหน้า-หลัง พร้อมด้วยสวิตช์เปิด-ปิดไฟฉุกเฉินตรงกลาง ซึ่งตรงนี้เองแม้ว่าทีมวิศวกรของ ORA จะพยายามเน้นความมินิมอลในห้องโดยสาร แต่การรวมเอาทุกฟังก์ชันไปไว้บนหน้าจอสัมผัสก็อาจสร้างความไม่สะดวกในการใช้งานอยู่บ้าง คงต้องอาศัยความคุ้นชินกันอยู่พอสมควรทีเดียว

     ไล่ลงมาบริเวณคอนโซลกลางจะพบกับปุ่มสีเงินทรงกลม ซึ่งไม่ใช้ระบบ iDrive ของ BMW แต่อย่างใด หากแต่เป็นปุ่มควบคุมตำแหน่ง R N และ D รวมถึงปุ่มควบคุมระบบเบรกมือไฟฟ้า และฟังก์ชัน Auto Brake Hold อยู่ใกล้กัน

ora_good_cat_39

     หากใครได้ไปลองจับหรือสัมผัส ORA Good Cat กันมาบ้างแล้ว อาจสงสัยว่าทำไมรถคันนี้ไม่มีตำแหน่งเกียร์ P หรือ Park อย่างที่เราคุ้นเคยกัน ใช่แล้วครับ รถคันนี้ไม่มีตำแหน่งเกียร์ P จริงๆ เนื่องจากการจอดรถโดยปกติจะเป็นการเข้าเกียร์ว่างที่ตำแหน่ง N และใส่เบรกมือเพื่อป้องกันรถไหลเท่านั้น เนื่องจากรถคันนี้เป็นรถไฟฟ้าที่ไม่มีสลักเกียร์เหมือนกับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติทั่วไปนั่นเอง

     และถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่ามีอีกหนึ่งปุ่มที่หายไป นั่นก็คือ “ปุ่มสตาร์ท” เพราะขั้นตอนการสตาร์ทรถคันนี้มีเพียงแค่ “ขึ้นรถ >> เหยียบเบรก” เพียงชั่วอึดใจสัญญาณไฟคำว่า READY ก็จะปรากฏขึ้นบนหน้าจอและพร้อมขับออกไปทันที เพียงแต่ต้องพกกุญแจไว้กับตัวหรือวางไว้บริเวณช่องวางของเท่านั้น ส่วนการดับรถจะมีปุ่มอยู่บริเวณฝั่งขวามือของคนขับ เมื่อจอดรถเรียบร้อยแล้วก็เพียงแค่กดปุ่มแล้วลงจากรถ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี (อันที่จริงขั้นตอนการดับรถก็เหมือนกับรถที่มีระบบ Push Start ทั่วไปนั่นแหละ)

ora_good_cat_38

     สิ่งหนึ่งที่วิศวกรของ ORA คิดเผื่อเอาไว้ เนื่องจากรถคันนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีเสียงเครื่องยนต์เหมือนกับรถปกติ หลายคนจึงอาจเผลอลืมกดปุ่มดับรถ (จะพิมพ์ว่าดับเครื่องยนต์ก็ไม่ถูกนัก เพราะมันไม่มีเครื่องยนต์นี่นา) แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไป เพราะทันทีที่ก้าวลงจากรถและล็อกประตู ระบบไฟฟ้าก็จะตัดการทำงานในทันทีเสมือนการกดปุ่มดับรถปกติ จึงไม่มีการเผลอเปิดระบบค้างคืนเอาไว้อย่างแน่นอน

     พวงมาลัยของ ORA Good Cat เป็นแบบ 2 ก้านดีไซน์แปลกตา ประกอบไปด้วยปุ่มควบคุมที่เรียกได้ว่าเยอะมากๆ จนแทบจะจำไม่ได้ว่าเป็นปุ่มอะไรต่อมิอะไรบ้าง แต่เอาง่ายๆ คือ ปุ่มควบคุมทางฝั่งซ้ายจะใช้ควบคุมระบบเครื่องเสียงและกล้องมองภาพรอบทิศทาง ส่วนปุ่มควบคุมฝั่งขวาจะใช้เกี่ยวกับระบบควบคุมการขับขี่ต่างๆ รวมถึงระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผันอัตโนมัติ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดของตัวรถที่ต้องอาศัยความเคยชินในการใช้งานอยู่พอสมควร

ora_good_cat_35

     ไฮไลท์เด่นอีกอย่างของ ORA Good Cat ก็คือหลังคาแบบ Panoramic Sunroof เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งแม้ว่าจะไม่ถึงกับใหญ่โตเท่ากับคู่แข่ง แต่ก็พอช่วยให้ห้องโดยสารด้านหลังดูสว่างโล่งขึ้นมาได้บ้าง โดยมีฟังก์ชันกระดกกระจกขึ้นเพื่อช่วยระบายอากาศ หรือจะเปิด-ปิดเฉพาะแผงบังแดดก็ทำได้

     ระบบเครื่องเสียงของ ORA Good Cat อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าทำงานผ่านหน้าจอสัมผัสขนาด 10.25 นิ้ว สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบ Apple CarPlay หรือ Android Auto ได้ แต่น่าเสียดายที่ยังไม่รองรับการเชื่อมต่อแบบ Wireless ในขณะนี้ เนื่องจากมีแป้นชาร์จมือถือแบบไร้สาย (Wireless Charger) มาให้เรียบร้อยแล้ว โดยในรุ่น 400 PRO มีช่อง USB ด้านหน้ามาให้ 2 จุด (ช่องเชื่อมต่อ 1 จุด และช่องชาร์จไฟ 1 จุด) ส่วนด้านหลังมีให้อีก 1 จุด รวมเป็นทั้งหมด 3 จุด พร้อมทั้งลำโพงรอบห้องโดยสาร 4 ตำแหน่ง

ora_good_cat_33

     อีกหนึ่งจุดเด่นของ ORA Good Cat รุ่น 400 PRO ก็คือ ระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ ที่มีมาให้มากมายเกินหน้าเกินตาเจ้าตลาดจากฝั่งญี่ปุ่นไปมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบช่วยเบรกฉุกเฉินทั้งทางตรงและทางแยก (AEBI), ระบบช่วยเตือนการชนด้านหน้า (FCW), ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินที่ความเร็วต่ำ (LSEB), ระบบช่วยเลี่ยงเข้าใกล้รถใหญ่จากทางด้านข้าง (WDS), ระบบช่วยเตือนรถออกนอกเลน (LDW), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA) และระบบช่วยรักษาระยะให้อยู่กลางเลน (LKA)

     ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะรุ่น 400 PRO ยังมีระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันตามคันหน้าพร้อมช่วยเข้าโค้งอัจฉริยะ และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ (TJA) มาให้ จึงครอบคลุมการทำงานได้ตั้งแต่ 0 กม./ชม. ขึ้นไป

     ขณะที่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานมีให้แบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมการทรงตัว (ESC), ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและลื่นไถล (TCS), ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน (HSA) ระบบเบรก ABS/EBD, เซนเซอร์กะระยะท้าย 4 จุด, ระบบเตือนความเร็วสูงเกินกำหนด, ระบบตรวจวัดแรงดันลมยาง (TPMS), จุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX, เสียงเตือนคนภายนอกขณะขับขี่, ถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัย เป็นต้น

 ora_good_cat_27_2

     ระบบขับเคลื่อนของ ORA Good Cat ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลังสูงสุด 143 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร ซึ่งแน่นอนว่าสามารถเรียกแรงบิดทั้งหมดได้ทันทีที่กดคันเร่ง หรือที่รู้จักกันว่า Instant Torque ทำความเร็วสูงสุดตามสเปกได้ 152 กม./ชม. แม้ว่าจะดูไม่เยอะนัก แต่ในชีวิตจริงก็คงแทบไม่มีโอกาสขับเร็วขนาดนั้นอยู่แล้ว เพราะอย่าลืมว่ายิ่งขับเร็วมากเท่าไหร่ ระยะทางขับขี่ก็จะหายไปมากขึ้นเท่านั้น

     ขณะที่แบตเตอรี่ของรุ่น 400 TECH และ 400 PRO จะเป็นแบบลิเธียมไอออนฟอสเฟตขนาด 47.788 kWh สามารถขับขี่ได้เป็นระยะทางสูงสุด 400 กิโลเมตรตามมาตรฐาน NEDC ขณะที่แบตเตอรี่ของรุ่น 500 ULTRA จะเป็นแบบลิเธียม Ternary ความจุ 63.139 kWh สามารถขับขี่ได้เป็นระยะทางสูงสุด 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จแต่ละครั้ง

     โดยในรุ่น 400 สามารถชาร์จไฟบ้าน (AC) จากระดับ 0-100% ได้ในเวลาราว 8 ชั่วโมง แต่หากมีแบตเตอรี่คงเหลืออยู่ก็จะชาร์จเต็มเร็วขึ้นกว่านั้น (ไม่ต่างอะไรกับการชาร์จมือถือนั่นแหละครับ) ขณะที่รุ่น 500 จะใช้เวลาชาร์จจากระดับ 0-100% นานกว่าเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 10 ชั่วโมง

ora_good_cat_01

     ขณะที่การชาร์จด่วนแบบ DC ในรุ่น 400 สามารถชาร์จจากระดับ 30-80% ได้ในเวลาราว 32 นาที หรือหากแบตหมดเกลี้ยง 0% ก็สามารถชาร์จจนถึงระดับ 80% ในเวลาราว 45 นาที ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมการชาร์จด่วนของรถยนต์ไฟฟ้าจึงพูดกันที่ระดับ 80% เท่านั้น ไม่ชาร์จให้เต็ม 100% กันไปเลยล่ะ นั่นเป็นเพราะภายหลังจากที่ระดับแบตเตอรี่สูงกว่า 80% ขึ้นไป ระบบจะตัดการชาร์จด่วนเป็นชาร์จปกติเพื่อเซฟแบตเตอรี่นั่นเอง ดังนั้นระยะเวลาการชาร์จจากระดับ 80-100% ไม่ว่าจะเป็นการชาร์จแบบ AC หรือ DC ก็จะไล่เลี่ยกันอยู่ดี

     เอาล่ะครับ คราวนี้เรามาถึงการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า ORA Good Cat กันดูบ้าง โดยครั้งนี้เป็นการทดสอบขับจากเมืองทองธานี มุ่งไปยัง จ.ราชบุรี (ซึ่งอันที่จริงก็เลย จ.นครปฐม ไปนิดเดียว) รวมระยะทางไปกลับประมาณ 190 กิโลเมตร เรียกว่าได้ลองขับกันพอหอมปากหอมคอทีเดียว

ora_good_cat_08

     สิ่งแรกที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจกับ ORA Good Cat ก็คืออัตราเร่งที่ฉับไวตามฉบับรถยนต์ไฟฟ้าแท้ๆ เพราะมันสามารถตอบสนองตามฝีเท้าได้ชนิดที่เรียกว่าตามใจสั่ง กดเมื่อไหร่เป็นมาเมื่อนั้น ไร้อาการรอรอบเหมือนกับเครื่องยนต์สันดาปทั่วไป ในช่วงจังหวะออกจากสัญญาณไฟแดง อาจทำรถที่อยู่ด้านหลังเกิดอาการเหวอได้ เพราะไม่คิดว่ารถที่ดูภายนอกแสนจะน่ารัก กลับสามารถพุ่งออกตัวไปได้รวดเร็วขนาดนี้

     เราได้ลองจับอัตราเร่งของ ORA Good Cat จำนวน 2 ครั้ง ทั้งในโหมด ECO และ POWER โดยทั้งคู่ให้ตัวเลขเท่ากันอยู่ที่ 9.1 วินาที ซึ่งเราเชื่อเหลือเกินว่าใครบางคนอาจคาดหวังจะได้เห็นตัวเลขลงมาป้วนเปี้ยนสัก 8 วินาทีหรือต่ำกว่านั้น แต่เชื่อเถอะว่าแค่นี้ก็เพียงพอกับการใช้งานในชีวิตประจำวันมากแล้ว เพราะแม้ตัวเลขอาจผิดคาดไปนิด (แบบนิดเดียวจริงๆ) แต่อย่าลืมว่ารถคันนี้สามารถตอบสนองในแบบ “Instant Torque” อย่างที่รถสันดาปทั่วไปไม่สามารถทำได้

     ขณะที่ช่วงล่างของ ORA Good Cat สามารถทำได้ดีเกินคาดเช่นกัน เนื่องจากถูกเซ็ตมาอยู่กึ่งกลางระหว่างความนุ่มและแข็งได้อย่างพอดิบพอดี ยามที่ต้องผ่านหลุมบ่อหรือลูกระนาดก็พอซับแรงสะเทือนได้อยู่ และเมื่อใช้ความเร็วสูงก็ยังสามารถควบคุมพวงมาลัยได้อย่างมั่นคง ไม่มีอาการย้วยให้เห็น ต่อให้เราใช้ความเร็วแตะ 130 กม./ชม. มันก็ยังเป็นรถที่ขับสบายเกินไซส์ไปเยอะจริงๆ

ora_good_cat_15

     อีกจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า ORA Good Cat ทำออกมาได้ดีเกินคาด ก็คือการเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นเสียงลมที่ไหลผ่านด้านข้าง, เสียงยางบดถนน และเสียงตึงตังของช่วงล่าง ล้วนแต่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่คิดเอาไว้ เรายังสามารถพูดคุยสนทนากับเพื่อนร่วมทริปได้โดยไม่ต้องเพิ่มระดับเสียง แม้ว่าจะเริ่มมีเสียงจากพื้นถนนเข้ามาได้บ้างตั้งแต่ความเร็ว 120 กม./ชม. ขึ้นไป และจะค่อยๆ ดังขึ้นตามความเร็วที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่รับได้สบายๆ จนเรียกได้ว่าเป็นห้องโดยสารที่น่าอภิรมย์มากที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดเชียวล่ะ

     มาถึงตรงนี้เราเชื่อว่ามีคุณผู้อ่านหลายท่านทำการจองรถยนต์ไฟฟ้าแมวดี ORA Good Cat เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บ้างก็กำลังลังเลอยู่ว่าจะจองดีหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันรถรุ่นนี้จะยังไม่ประกาศราคาจำหน่ายออกมา แต่ในแง่ของความน่าใช้หรือไม่นั้น ก็บอกได้เต็มปากว่ามันเป็นรถที่ดีเกินคาดคิดไว้ เพียงแต่คุณจะรับกับข้อจำกัดของมันได้หรือไม่เท่านั้นเอง

ora_good_cat_13

     ข้อจำกัดในที่นี้หมายถึง สถานีชาร์จแบตเตอรี่ที่ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร แม้ว่าปัจจุบัน GWM ประเทศไทยกำลังเดินหน้าขยายเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าเรียกว่า “GWM Supercharging Station” ซึ่งจะเริ่มเปิดแห่งแรกที่สยามสแควร์ แต่ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าที่จะครอบคลุมในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ นั่นแปลว่าที่ชาร์จบ้านก็ยังคงเป็นแหล่งจ่ายไฟหลักเพื่อป้อนให้กับรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ การเดินทางท่องเที่ยวทั่วไทยด้วยรถไฟฟ้าจึงยังไม่ใช่เรื่องสะดวกนัก

     หากว่าที่บ้านมีรถคันหนึ่งอยู่แล้ว และต้องการซื้อ ORA Good Cat มาเป็นรถคันที่สอง นั่นถือเป็นทางเลือกที่ดีมาก เพราะคุณจะได้รถยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะดีมาครอบครองไว้อีกคัน เน้นขับขี่ใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่หากจะใช้งานเป็นรถคันเดียวของบ้านแล้วล่ะก็ แม้ว่าระยะทางของแบตเตอรี่จะสามารถใช้งานได้ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดของคุณเองรวมถึงจังหวัดรอบๆ อยู่แล้ว แต่หากต้องขับขี่ข้ามจังหวัดไกลๆ ก็อาจเป็นอุปสรรคอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่าการมาของ ORA Good Cat จะเป็นตัวกระตุ้นอย่างดีให้ประเทศไทยมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ora_good_cat_17

     ส่วนราคาจำหน่ายต้องอดใจรอวันที่ 29 ตุลาคมนี้ จะเป็นไปตามที่หลายคนคิดหรือไม่ก็คงต้องลุ้นกันอีกที

อัลบั้มภาพ 37 ภาพ

อัลบั้มภาพ 37 ภาพ ของ รีวิว ORA Good Cat ใหม่ รถไฟฟ้าดีไซน์น่ารัก สมรรถนะน่าคบ ส่วนราคาต้องรอลุ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook