รีวิว Haval Jolion Hybrid 2022 ใหม่ บอดี้ใหญ่ออปชันเยอะในงบไม่ถึงล้าน
Haval Jolion Hybrid 2022 ใหม่ เป็นรถยนต์รุ่นที่ 3 จากเครือ GWM Thailand ที่ถูกส่งมาร่วมชิงส่วนแบ่งการตลาดในบ้านเรา แม้ว่ากระแสอาจจะดูไม่ดังเปรี้ยงปร้างเหมือนกับสมัยที่เปิดตัว Haval H6 Hybrid และ ORA Good Cat ใหม่ๆ แต่ก็น่าจะถูกอกถูกใจผู้ที่กำลังมองหาความคุ้มค่าไม่น้อยทีเดียว
วันนี้ Sanook Auto จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักเอสยูวีรุ่นใหม่ล่าสุดคันนี้กัน ไว้เป็นทางเลือกในการพิจารณาซื้อรถคันใหม่ของคุณเองครับ
Haval Jolion Hybrid ใหม่ เป็นเอสยูวีรุ่นที่ 2 ต่อจาก Haval H6 Hybrid ที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน และถือเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ไฮบริดมาให้ เนื่องจากตลาดบ้านเกิดที่ประเทศจีนจะมีให้เลือกเฉพาะเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 1.5 ลิตรเท่านั้น ซึ่งเครื่องยนต์ไฮบริดที่วางอยู่ใน Jolion ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเป็นเครื่องยนต์บล็อกเดียวกับที่ประจำการอยู่ใน H6 Hybrid นั่นแหละ เพียงแต่ตัดเทอร์โบออกไปเท่านั้น
สำหรับบ้านเรามีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ได้แก่ TECH, PRO และ ULTRA ที่มีราคาจำหน่ายเริ่มต้นตั้งแต่ 879,000 บาท ไปจนถึง 999,000 บาท ซึ่งถือว่าคร่อมอยู่ระหว่างคู่แข่งร่วมสัญชาติอย่าง MG ZS ที่มีราคารุ่นท็อปสุดอยู่ที่ 799,000 บาท และ MG HS ที่มีราคาเริ่มต้น 919,000 บาท แต่ก็ไปจบรุ่นท็อปอยู่ที่ 1,119,000 บาท
สำหรับรถคันที่เราได้ทดสอบในครั้งนี้เป็นรุ่น ULTRA ซึ่งเป็นรุ่นท็อปที่มีอุปกรณ์มาตรฐานครบครันที่สุด แลกกับราคาค่าตัว 999,000 บาทพอดิบพอดี (แถมยังเป็นราคาแบบ One Price ที่ไม่มีส่วนลดใดๆ อีกทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะซื้อผ่านช่องทางใดก็ตาม)
Haval Jolion ถูกพัฒนาขึ้นบนแพล็ตฟอร์ม GWM LEMON ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับผลเลมอนหรอกนะครับ หากแต่ย่อมาจากคำว่า Lightweight, Electrification, Multi-purpose และ Omni-protection Network นั่นเอง ซึ่งแพล็ตฟอร์มนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การรองรับเครื่องยนต์ได้หลากหลายทั้งสันดาปล้วนและที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบ รวมถึงมีน้ำหนักเบา และสามารถติดตั้งระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ ได้
ภายนอก
ดีไซน์ภายนอกของ Haval Jolion (ซึ่งเกรทวอลล์ย้ำนักย้ำหนาว่าต้องออกเสียง “โจ-ไล-อ้อน” ไม่ใช่ “โจ-เลี่ยน”) มีเส้นสายที่ดูคล้ายคลึงกับรุ่นพี่อย่าง H6 แต่เติมความโฉบเฉี่ยวเข้าไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าแบบ Intelligent LED Headlamp ที่ออกแบบให้เป็นรูปตัวแอล พร้อมไฟเลี้ยว LED ขนาดมหึมา โดยไฟหน้าชุดนี้มีระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ, ระบบไฟ Welcome Light และระบบส่องนำทางหลังดับเครื่องยนต์มาให้ด้วย ซึ่งเมื่อวิ่งอยู่บนถนนแล้วค่อนข้างโดดเด่นสะดุดตา
ขณะที่ไฟท้ายจะมีลักษณะเป็นรูปตัว T ที่มีดีไซน์สอดคล้องกับไฟหน้า ซึ่งความสวยงามก็สุดแท้แต่มุมมองของแต่ละคน แต่โดยรวมก็ถือว่าให้ความโดดเด่นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมื่อขับขี่ในเวลากลางคืน โดยที่รอบคันยังเพิ่มความหรูหราด้วยการตกแต่งแบบโครเมียม ไม่ว่าจะเป็นขอบหน้าต่างประตู, ชายประตู และกันชนหน้า-หลัง โดยที่รุ่น ULTRA จะได้ล้ออัลลอยสีทูโทนขนาด 18 นิ้ว ขณะที่รุ่น TECH และ PRO จะเป็นล้อขนาด 17 นิ้วลายเดียวกันทั้งคู่
ไฮไลท์สำคัญของรุ่น ULTRA อยู่ที่หลังคาซันรูฟแบบ Panoramic ขนาดใหญ่เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า ถูกใจคนรุ่นใหม่เป็นอย่างดี หากใครอยากได้ต้องเลือกรุ่น ULTRA เท่านั้น เพราะในรุ่น TECH และ PRO ไม่มีมาให้ ส่วนประตูท้ายแบบไฟฟ้านั้นไม่มีมาให้เลยแม้แต่รุ่นเดียว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับรถในกลุ่ม B-SUV ที่มีราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท
ภายใน
ภายในห้องโดยสารเต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของ H6 Hybrid เช่นเดียวกัน โดยรุ่น ULTRA จะถูกตกแต่งด้วยสีทูโทนดูสว่างตา เสริมด้วยการตกแต่งขอบชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยสีโรสโกลด์เพิ่มความหรูหราขึ้นไปอีกขั้น ขณะที่เบาะนั่งจะถูกหุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ สามารถปรับระดับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทางฝั่งผู้ขับขี่ พร้อมด้วยระบบระบายความร้อนในตัวเบาะผู้ขับ ส่วนเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าเป็นแบบปรับมือ 4 ทิศทาง
ส่วนเบาะนั่งด้านหลังสามารถปรับพับแยกแบบ 60:40 ได้ พร้อมทั้งมีพนักพิงศีรษะมาให้ทั้ง 3 ตำแหน่ง รวมถึงมีที่พักแขนแบบพับได้ตอนกลางพร้อมช่องวางแก้วน้ำ เพิ่มความสะดวกสบายด้วยช่องชาร์จไฟแบบ USB สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ขณะที่ช่องแอร์ด้านหลังต้องเป็นรุ่น PRO ขึ้นมาเท่านั้นจึงจะติดตั้งมาให้
สำหรับรุ่น ULTRA จะได้หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาด 7 นิ้ว (ซึ่งมีให้ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น) พร้อมหน้าจออินโฟเทนเมนท์ขนาด 12.3 นิ้ว (รุ่น TECH และ PRO เป็นขนาด 10.25 นิ้ว) โดยการควบคุมระดับเสียงและระบบปรับอากาศจะขึ้นอยู่กับหน้าจอสัมผัสที่ว่านี้ทั้งหมด ซึ่งอาจไม่สะดวกนักสำหรับผู้ขับขี่ คงต้องอาศัยความเคยชินกันอยู่สักหน่อย ส่วน Interface ของระบบก็แทบไม่ต่างไปจาก H6 Hybrid สักเท่าไหร่ ออกแนวคล้ายๆ กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อย่างไรอย่างนั้น
หน้าจอชุดดังกล่าวยังมาพร้อมระบบนำทางในตัว, ระบบ Wi-Fi, ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Command), ระบบอัปเกรดผ่านออนไลน์ (FOTA) และยังสามารถรองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay ได้ พร้อมทั้งขับกำลังเสียงผ่านลำโพง 6 จุดรอบคัน ซึ่งคุณภาพเสียงที่ได้ถือว่าดีเกินคาด ให้เสียงค่อนข้างใสและกังวาน ขณะที่เสียงเบสก็มีให้ได้ยินพอประมาณ เอาเป็นว่าคนส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหากับเครื่องเสียงชุดนี้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ Haval Jolion รุ่น ULTRA ยังมีแอปพลิเคชันอัจฉริยะ (Intelligent Application) ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนได้ โดยสามารถควบคุมการล็อก-ปลดล็อกประตู, เปิด-ปิดระบบปรับอากาศ, ตรวจสอบสถานะหน้าต่างและหลังคาซันรูฟ, ตรวจสอบแรงดันลมยาง, ระดับน้ำมันเชื้อเพลิง, ค้นหาตำแหน่งรถยนต์ รวมถึงระบบขอบเขตอิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมการใช้งานรถได้จากมือถือ ซึ่งฟังก์ชันเหล่านี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานสำหรับรถยนต์จีนไปแล้วก็ว่าได้
ขณะที่อุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ก็มีให้แบบไม่กั๊ก ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกมือไฟฟ้า พร้อมฟังก์ชันเหยียบเบรกค้างอัตโนมัติ, กุญแจ Smart Key พร้อมระบบ Keyless Access ทำงานคู่กับปุ่ม Push Start, พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันแบบ 3 ก้านหุ้มหนัง, กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ, ช่อง USB บริเวณกระจกมองหลังสำหรับกล้องบันทึกภาพ, กระจกไฟฟ้าอัตโนมัติทั้ง 4 บาน, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแยกปรับอุณหภูมิซ้าย-ขวา พร้อมไส้กรองฝุ่น PM 2.5 และจอแสดงข้อมูลการขับขี่บนกระจกบังลมหน้า (Head-up Display) ก็มีมาให้เช่นกัน
Haval Jolion ยังคงชูจุดเด่นในเรื่องเทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะแบบเดียวกับ H6 Hybrid และ ORA Good Cat โดยมีระบบความปลอดภัยขั้นสูงมาให้ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น เช่น ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติทั้งทางตรงและทางแยก (AEBI), ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนด้านหน้า (FCW), ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA), ระบบช่วยเตือนเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน (LCA), ระบบเตือนมุมอับสายตา (BSD) และระบบช่วยชะลอความรุนแรงของการชนครั้งที่ 2 (SCM)
ขณะที่รุ่น PRO จะถูกเพิ่มเติมด้วยระบบควบคุมความเร็วแปรผันอัตโนมัติ (ACC), ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ (TJA), ระบบตรวจวัดแรงดันลมยาง (TPMS), ระบบช่วยเตือนสัญญาณไฟจราจร (TSR) และระบบช่วยเตือนเมื่อความเร็วสูงเกินกำหนด
ยังไม่พอครับ เพราะรุ่น ULTRA ยังเพิ่มเติมด้วยระบบช่วยจอดอัจฉริยะ 3 รูปแบบ (IIP), กล้องแสดงภาพรอบทิศทาง 360 องศา, ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินที่ความเร็วต่ำ (LSEB), ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากทางด้านข้าง (WDS), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลนในภาวะฉุกเฉิน (ELK), ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการถูกชนด้านหลัง (RCW) ระบบช่วยเตือนและเบรกเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA/RCTB), ระบบช่วยเตือนการเปิดประตู (DOW) และเซ็นเซอร์กะระยะหน้า 6 จุด และหลังอีก 6 จุด
ส่วนระบบความปลอดภัยมาตรฐานอื่นๆ ก็มีให้แน่นเอี๊ยดตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ได้แก่ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (VSS), ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและลื่นไถล (TCS), ระบบป้องกันความเสี่ยงที่จะพลิกคว่ำ (ARS), ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน และควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน (HSA/HDC), ระบบเตือนความเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (DFM), สัญญาณไฟกะพริบฉุกเฉินขณะเบรกกะทันหัน (ESS), ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านถุงลม เป็นต้น
เครื่องยนต์และช่วงล่าง
ขุมพลังของ Haval Jolion เป็นเครื่องยนต์ไฮบริดที่ทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร บล็อกเดียวกับ H6 Hybrid แต่ถูกตัดเทอร์โบออกไป โดยให้กำลังสูงสุดรวมทั้งระบบอยู่ที่ 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 375 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์ DHT (Dedicated Hybrid Transmission) ที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องยนต์ไฮบริดโดยเฉพาะ พร้อมทั้งเคลมอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยเอาไว้ที่ 23.8 กม./ลิตร
ขณะที่ช่วงล่างของ Jolion ด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท (McPherson Strut) พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม (Torsion Beam) พร้อมเหล็กกันโคลง ติดตั้งระบบดิสก์เบรกมาให้ทั้ง 4 ล้อ
การขับขี่
ก่อนที่เราจะได้ออกไปขับทดสอบบนถนนจริงนั้น ทางเกรทวอลล์ได้เตรียมสนามให้ได้ทดสอบฟังก์ชันต่างๆ ของตัวรถ โดยไฮไลท์อยู่ที่การทดสอบระบบช่วยจอดรถอัจฉริยะ 3 รูปแบบ (IIP) ซึ่งเป็นฟังก์ชันเดียวกับที่พบในรุ่นใหญ่อย่าง H6 Hybrid โดยการทำงานของ Jolion ก็ไม่แตกต่างกัน เพราะมันสามารถนำรถเข้าจอดอัตโนมัติได้ทั้งแบบขนานฟุตบาท, แบบเข้าซอง และแบบทแยง
ซึ่งตัวรถสามารถควบคุมการทำงานทุกอย่างที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเร่ง, การเบรก, ทิศทางพวงมาลัย และการเปลี่ยนเกียร์ ล้วนแต่ทำงานโดยอัตโนมัติทั้งหมด ผู้ขับขี่มีหน้าที่เพียงแค่ประคองเท้าไว้ที่แป้นเบรกเผื่อกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เมื่อจอดเสร็จปุ๊ประบบก็จะเข้าเกียร์ P ให้เสร็จสรรพ จากนั้นเมื่อต้องการออกจากช่องจอด ก็สามารถสั่งระบบให้ช่วยขยับหันหน้าออกได้เช่นกัน
คราวนี้มาเรื่องของสมรรถนะการขับขี่บนถนนจริงบ้าง อันดับแรกเรื่องของอัตราเร่งจากขุมพลังไฮบริด 1.5 ลิตร ที่เคลมแรงบิดไว้สูงถึง 375 นิวตัน-เมตร สามารถออกตัวจาก 0-100 กม./ชม. ได้ในเวลาราว 10.5 วินาที จากการจับความเร็วตามที่แสดงผลบนหน้าปัด ซึ่งถือว่าว่องไวใช้ได้เมื่อเทียบกับความเป็นรถเอสยูวียกสูง แม้ว่าตัวเลขแรงบิดอาจจะดูสูงเกินจริงไปสักหน่อย แต่ก็ถือว่าเหลือเฟือแล้วกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน
อันที่จริงแม้ว่าความเร็วเกินกว่า 100 กม./ชม. ขึ้นไป ก็ยังสามารถตอบสนองฝีเท้าได้ทันใจอยู่ อันเป็นผลจากการที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยเสริมพละกำลัง จนกระทั่งแตะความเร็ว 140 กม./ชม. จึงจะรู้สึกว่าเครื่องยนต์เริ่มตอบสนองช้าลง ก่อนจะไปสุดท็อปสปีดอยู่ที่ประมาณ 155 กม./ชม. และอาจไหลไปถึง 160 กม./ชม. ได้ถ้าเป็นทางลาดลง ดังนั้นการตอบสนองในย่านความเร็วตามกฎหมายกำหนดก็ถือว่าทำได้ดีเกินพอแล้ว
ขณะที่ช่วงล่างก็ถือว่าทำได้ดีเกินคาดเช่นกัน ให้ความหนึบแน่นพองาม ติดไปทางแข็งอยู่นิดๆ สำหรับการเดินทางที่มีผู้โดยสาร 2 คน แต่ก็แลกมาด้วยความมั่นใจในขณะขับขี่ที่ความเร็วสูง ยิ่งถ้าเป็นทางเรียบๆ แล้วล่ะก็ ยิ่งเป็นรถที่ขับได้อย่างมั่นใจ จนเรียกได้ว่า Jolion เป็นรถที่มีจุดเด่นด้านช่วงล่างเหนือกว่าค่ายจากฝั่งญี่ปุ่นอยู่นิดๆ ด้วยซ้ำไป
อีกสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างประทับใจก็คือความกว้างขวางภายในห้องโดยสาร เนื่องจากมิติตัวถังของ Jolion มีขนาดเกือบจะเท่ารถในกลุ่ม C-SUV อยู่แล้ว จึงมีพื้นที่ภายในค่อนข้างกว้างขวาง หากโดยสารพร้อมกับเพื่อนๆ รวมทั้งหมด 5 คน ก็ทำได้อย่างสบาย ไม่อึดอัด หรือจะใช้งานเป็นรถครอบครัวที่มีผู้สูงอายุเดินทางไปด้วยก็ย่อมได้ ยิ่งถ้ามองว่าค่าตัวรุ่นท็อปไม่ถึงล้านแล้วล่ะก็ ถือว่าคุ้มค่าน่าใช้ทีเดียว
แต่จุดที่น่าสังเกตของ Haval Jolion ก็คือระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ ที่ต้องยอมรับว่ารู้สึกรำคาญในการใช้งานพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลนในภาวะฉุกเฉิน (ELK) ที่พยายามแทรกแซงการบังคับพวงมาลัยของผู้ขับขี่แทบตลอดเวลา จนกลายเป็นว่าพวงมาลัยจะขืนมืออยู่ตลอด ซึ่งอาการดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นแม้ว่าจะตั้งค่าความไวของระบบให้อยู่ในระดับต่ำสุดแล้วก็ตาม จนสุดท้ายต้องยอมกดปิดระบบไปเพื่อตัดความรำคาญ
สรุป
Haval Jolion Hybrid เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่กำลังมองหารถเอสยูวี หรือต้องการขยับขยายจากรถอีโคคาร์ หรือ B-Segment มาเป็นรถที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ตอบสนองการใช้งานในครอบครัวได้อย่างครบเครื่องมากขึ้น ด้วยห้องโดยสารที่กว้างขวางเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับราคาใกล้เคียงกัน พร้อมสมรรถนะที่ไม่น้อยหน้าใคร (แม้ว่าตัวเลขกำลังสูงสุดจะดูเกินจริงไปเสียหน่อย) เหมาะสำหรับการใช้งานทั้งในเมืองและนอกเมือง
ขณะที่อุปกรณ์มาตรฐานหลายอย่างก็ให้มาแบบเกินคาดจนแทบจะใช้ไม่หมด เพียงแต่การทำงานของระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ อาจต้องปรับตัวให้ชินอยู่บ้าง มิเช่นนั้นก็จะเกิดความรำคาญแบบที่ผู้เขียนพบเจอได้ ถึงกระนั้น Haval Jolion ก็ถือได้ว่าเป็นรถที่ให้ความคุ้มค่ามากที่สุดรุ่นหนึ่งแล้วล่ะครับ
ราคาจำหน่าย Haval Jolion Hybrid 2022 ใหม่
- รุ่น TECH ราคา 879,000 บาท
- รุ่น PRO ราคา 939,000 บาท
- รุ่น ULTRA ราคา 999,000 บาท
อัลบั้มภาพ 42 ภาพ