ความประมาทและถนนที่ทรุดโทรม ทำให้คนไทยเสี่ยงชีวิตมากขึ้น
อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับท้องถนนถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมไทยทุกขณะ ซึ่งจำนวนของอุบัติเหตุในไทยนั้นสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลยหากคาดด้วยสายตาของเราเอง ซึ่งภาพชินตาที่เห็นกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ทางเท้าชำรุดไร้การซ่อมแซม ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค ขับรถโดยประมาทด้วยความเร็วเกินสมควร
สถิติจาก กรมอนามัยโลก (WHO) สำรวจปัจจัยของอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอัตราผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในไทยเมื่อเดือน พ.ค. 62 พบว่ามาจาก คน มากถึง 95.5 เปอร์เซ็น ยานพาหนะ 21.5 เปอร์เซ็น ถนน-สิ่งแวดล้อม 27.6 เปอร์เซ็น โดยมีปัจจัยที่รั้งอันดับหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิตคือ รถจักรยานยนต์ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประสบเหตุเฉลี่ยแล้วอยู่ในช่วงเด็กโตและวัยรุ่น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่ว่าจะรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ก็ตาม มักขับขี่กันด้วยความประมาทโดยเฉพาะการใช้ความเร็ว โดยจากผลสำรวจข้อมูลจากการรักษาผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาล(ผู้ป่วยใน) พบว่าในระยะเวลา 4 ปีระหว่าง 2558 – 2561 มีผู้บาดเจ็บ 265,243 ราย เสียชีวิต 13,861 ราย
นอกจากนี้ยังไม่รวมผู้บาดเจ็บจากการเดินเท้าบนทางเท้าตามถนน ซึ่งมีลักษณะไม่สมประกอบเพราะหลุมบ่อจากดินที่ทรุดลง กระเบื้องตัวหนอนที่ผุพังอันเนื่องจากน้ำเซาะดินทำให้ระนาบของกระเบื้องไม่เท่ากันผู้คนที่สัญจรทางเท้าได้รับบาดเจ็บหลายรายรายวัน นอกจากนั้นยังมีผลจากอุบัติเหตุยานยนต์ที่กระทบต่อคนเดินเท้ารวมถึงสิ่งก่อสร้างที่เป็นอันตรายอีกด้วย
เห็นได้ชัดเจนว่าความประมาทและการไม่ดูแลอย่างสม่ำเสมอของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนใช้รถใช้ถนนเกิดอันตรายได้อย่างมาก ซึ่งหากโชคร้ายน้อยหน่อยก็เพียงแค่บาดเจ็บเล็กน้อย แต่มีไม่น้อยที่บาดเจ็บถึงขั้นใช้ชีวิตปกติไม่ได้อีกเลย ทำให้มีส่วนเสียไปถึงทางด้านเศรษฐกิจทางด้านความสามารถของประชากรและค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มากขึ้น คำถามคือทั้งที่ภาครัฐและเอกชนต่างก็พยายามแก้ไขปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทั้งมาตรการทางกฎหมาย การรณรงค์ แต่ดูเหมือนว่าแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุยังไม่ลดลงเท่าที่ควร ความรัดกุมในการแก้ไขปัญหานั้นดีพอแล้วหรือรวมถึงจิตสำนึกของคนใช้รถใช้ถนนอีกด้วย