“เช็กรถ-เช็กคน” ขับรถทางไกลช่วงปีใหม่ 2565

“เช็กรถ-เช็กคน” ขับรถทางไกลช่วงปีใหม่ 2565

“เช็กรถ-เช็กคน” ขับรถทางไกลช่วงปีใหม่ 2565
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     เข้าสู่ช่วงเทศกาลแห่งความสุข “ปีใหม่ 2565” คาดว่าจะเป็นปีที่พี่น้องคนไทยใช้โอกาสนี้เดินทางกลับบ้าน หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดกันอีกครั้ง หลังจากเมื่อ 1 ปีก่อนการเดินทางต้องหยุดชะงักจากสถานการณ์ “โควิด-19” แน่นอนว่าหลายครอบครัวเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวขับออกต่างจังหวัด การเตรียมความพร้อมให้รถของคุณ รวมถึงความพร้อมของผู้ขับขี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ยางรถยนต์

     ยางรถยนต์จึงเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ควรตรวจเช็กให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เพราะอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนมีสาเหตุมาจากยางระเบิด ยางรั่ว ยางแตกด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรตรวจสภาพยางให้พร้อมใช้งานว่ามีการรั่ว ซึมหรือไม่ และควรเติมลมยางให้เหมาะสมกับสภาพของยางที่ใช้งานด้วย

     หากพบว่ายางเสื่อมสภาพ แตกลายงา ดอกยางหายเกลี้ยง หรือมีความลึกน้อยกว่า 1.6 มม. ก็ไม่ควรเสี่ยงนำไปขับทางไกล แต่ให้รีบเปลี่ยนยางใหม่ทันที เพื่อเพิ่มการขับขี่ให้มั่นใจยิ่งขึ้น และลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิด

car_check_02

แบตเตอรี่

     หลายคนมักละเลยการตรวจเช็กแบตเตอรี่ โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่ใช้แบตเตอรี่แบบแห้ง ซึ่งไม่ต้องเติมน้ำกลั่น หรือแบบกึ่งแห้งที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อย ๆ ทำให้อาจลืมไปว่าถึงกำหนดที่ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่แล้วหรือยัง

     ปกติแล้วแบตฯ แบบกึ่งแห้ง ควรตรวจเช็กเป็นประจำทุก 6 เดือน หรือ 1 ปีว่าระดับน้ำกลั่นพร่องไปมากน้อยแค่ไหน ส่วนแบตฯ ที่ต้องเติมน้ำกลั่นควรตรวจเช็กเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 1 ปีครึ่ง-2 ปี หรือประมาณ 50,000- 70,000 กม. แต่สูงสุดไม่เกิน 3 ปี ขณะที่แบตฯ ชนิดแห้งซึ่งมีราคาแพงกว่านั้นต้องคอยสังเกตระดับประจุไฟที่เหลืออยู่ด้วยว่าได้เวลาเปลี่ยนแล้วหรือยัง ถ้าไม่อยากเสี่ยงรถดับกลางทางแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว!

น้ำมันเครื่อง

     อย่าลืมตรวจเช็กระดับน้ำมันเครื่องก่อนออกเดินทางด้วยว่ายังอยู่ในระดับ Max หรือไม่ และให้สังเกตด้วยว่าสีของน้ำมันเครื่องเป็นอย่างไร ข้นดำจนเกินไปหรือไม่ และถึงระยะที่ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแล้วหรือยัง

     ปกติการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องจะอยู่ที่ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการปกป้องเครื่องยนต์ให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าเป็นรถที่ใช้งานเป็นประจำก็ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อวิ่งไปได้ระยะทาง 10,000 กม. แม้ว่ายังวิ่งไม่ครบ 6 เดือนก็ตาม เพราะหากน้ำมันเครื่องมีความข้นหนืด ก็จะส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนั่นเอง

car_check_03

ไฟส่องสว่าง

     แม้ว่าอาจดูเป็นเรื่องที่ไม่ได้ส่งผลใด ๆ ต่อเครื่องยนต์ แต่เรื่องไฟส่องสว่างก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด เพราะหากขับขี่ในช่วงกลางคืน และไฟหน้าหรือไฟหลังดับโดยไม่รู้ตัวก็อาจจะทำให้รถคันอื่นที่สัญจรไปมามองไม่เห็น หรือเข้าใจว่าเป็นรถจักรยานยนต์เนื่องจากเห็นไฟติดดวงเดียว จึงอาจเกิดการเฉี่ยวชนขึ้นได้

     ดังนั้น ก่อนจะออกเดินทาง อย่าลืมเช็กด้วยว่าไฟภายในตัวรถ และนอกรถยังคงให้ความสว่างตามปกติ และใช้งานได้ทุกดวงหรือไม่ และควรเช็กระดับองศาของไฟหน้ารถไม่ให้สูงเกินไปด้วย เพราะจะไปรบกวนการมองเห็นของรถคันอื่นบนถนนได้

ระบบหล่อเย็น

     ระบบหล่อเย็นคือระบบที่ช่วยในการระบายความร้อนของเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิสูงจนเกินไป และขับขี่ได้อย่างปลอดภัย เพราะฉะนั้นควรตรวจเช็กการทำงานของระบบหล่อเย็นอย่างสม่ำเสมอ

     โดยให้ตรวจดูระดับน้ำหล่อเย็นในถังพักขณะเครื่องยนต์เย็นลงแล้ว ซึ่งระดับน้ำหล่อเย็นควรอยู่ระหว่างขีดระดับเต็ม (FULL) และ ขีดระดับต่ำ (LOW) หากอยู่ต่ำกว่าขีด LOW ให้เติมน้ำยาหล่อเย็นจนถึงขีด FULL และควรใช้น้ำยาหล่อเย็นชนิดเดียวกับที่เติมอยู่ก่อนด้วย

car_check_04

ไม่ขับจี้ท้ายรถคันหน้า

     อุบัติเหตุส่วนใหญ่ในการขับรถทางไกล คือการชนกันที่ความเร็วสูง โดยเฉพาะการขับรถจี้คันหน้าด้วยความเร็วสูง เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นแบบกะทันหันบ้าง ฉะนั้น ควรเว้นช่องห่างจากคันหน้าในระยะที่เหมาะสม ที่สำคัญการขับจี้และแตะเบรกบ่อย ๆ ยังทำให้ผ้าเบรกของคุณเสื่อมสภาพและผู้ที่นั่งมาด้วยอาจมีเวียนหัวเมารถเพิ่มขึ้นมาก็เป็นได้

เมาไม่ขับ ง่วงยิ่งต้องไม่ขับ

     เรามักจะได้ยินแคมเปญรณรงค์ “เมาไม่ขับ” กันทุกช่วงเทศกาล แต่อย่าลืมว่า อาการ “ง่วง” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภัยร้ายที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนเช่นเดียวกัน เพราะอาหารหลับใน ที่คุณอาจเผลอหลับไปทั้งที่ยังลืมตาอยู่ แม้มันจะเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาเสี้ยววินาที แต่ก็สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ทุกเวลาเช่นกัน ฉะนั้นหากรู้ตัวว่า “ง่วง” ก็ไม่ควรที่จะฝืนขับต่อเป็นอันขาด ทางที่ดีควรนอนให้อิ่มก่อนออกเดินทาง หรือแวะจุดพักรถหาเวลางีบสักครู่ก่อนเดินทางต่อ

 ผู้เขียน: ธันยเดช เกียรติศิริ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook