ความลับของอาการ “รถไหล” ที่คนขับรถแทบทุกคนต้องเคยเจอ
เชื่อว่าครั้งหนึ่งในชีวิตของคนที่ขับรถแทบทุกคน จะต้องเคยมีประสบการณ์ “รถไหล” เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราแวะจอดทำธุระ หรือจอดรถติดไฟแดง ปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ คือ อาการตกใจแล้วอารามเหยียบเบรกจนมิด หรือรีบควานหาเบรกมือ ทั้งที่ความจริงแล้วรถเราไม่ได้ไหล ไม่แม้แต่ขยับเพียงนิดเดียว แล้วปรากฏการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร Tonkit360 จะอธิบายให้ฟัง
สิ่งนี้เรียกว่า “ภาพลวงตา”
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า Optical illusion หรือ “ภาพลวงตา” ซึ่งหลัก ๆ แล้วการเกิดภาพลวงตาเป็นความสามารถของสมองในการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป หรือเป็นการปรับเปลี่ยนรูปภาพอัตโนมัติในช่วงขณะหนึ่ง เนื่องจากบางครั้งตาของคนเรา ก็ไม่ได้เห็นสิ่งที่เป็นอยู่จริงเสมอไป จึงทำให้ถูกหลอกได้ง่าย เพราะปกติตาและสมองของคนเราจะทำงานประสานกันใกล้ชิดมาก โดยตาจะทำหน้าที่รับภาพเข้ามา ส่วนสมองจะทำหน้าที่ประมวลผล
และวิเคราะห์ว่ารูปที่รับเข้ามาเป็นภาพอะไร แต่ถ้าสมองเราประมวลผลผิดปกติ จะทำให้เรามองเห็นและรับรู้ภาพผิดพลาดไปจากความเป็นจริง
การมองเห็นวัตถุและการรับรู้ภาพของคนเรานั้น เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างดวงตาและสมอง กล่าวคือ เมื่อแสงตกกระทบที่วัตถุจะสะท้อนเข้าสู่ตาเรา แสงสะท้อนนั้นทำให้เกิดภาพขึ้นบนเรตินาของดวงตา ข้อมูลกายภาพของวัตถุที่สายตามองเห็น จะถูกแปลงเป็นกระแสประสาทส่งไปยังสมอง จากนั้นสมองจะแปลข้อมูลกระแสประสาทนั้น โดยการค้นหาคลังภาพที่เรามีอยู่ในความทรงจำ ทำให้เกิดการรับรู้ภาพ แล้วแปลผลให้เรารู้ว่าวัตถุที่เห็นคืออะไร
นอกจากสมองจะแปลผลให้เรารู้แล้วว่าวัตถุที่เราเห็นคืออะไร สมองยังประมวลผลองค์ประกอบอื่น ๆ ของวัตถุนั้นให้เรารู้ด้วย เช่น ตำแหน่งของวัตถุ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่การมองเห็นของเราทำให้สมองทำงานผิดพลาดชั่วขณะ ภาพที่สมองประมวลได้จะไม่ตรงกับความเป็นจริง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “การเกิดภาพลวงตา”
จอดรถอยู่ดี ๆ ทำไมรถไหล
ปรากฏการณ์ภาพลวงตาที่ว่า ทำให้เรารู้สึกว่ารถที่เราจอดสนิทแล้วมันไหล (อาจจะดับเครื่องแล้ว หรือเข้าเกียร์ว่าง ขึ้นเบรกมือ) ทั้งที่ความจริงแล้วรถของเราอยู่นิ่ง ๆ แต่รถที่ขยับ คือ รถคันที่จอดเทียบข้าง ๆ ต่างหาก
ภาพลวงตานั้นมีหลายประเภท แต่ประเภทที่ทำให้เรารู้สึกว่ารถไหลนั้น คือประเภท Physiological illusions ภาพลวงตาลักษณะนี้เป็นภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของดวงตาหรือสมอง เนื่องจากองค์ประกอบของภาพไปกระตุ้นให้สายตาหรือสมองทำงานมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากสายตาเราไปมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้า เช่น ความสว่าง สี ตำแหน่ง ขนาด การเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ตาราง สิ่งเร้าเหล่านี้จะกระตุ้นการทำงานเบื้องต้นของระบบประสาทการมองเห็น องค์ประกอบที่ซ้ำ ๆ กันจำนวนมาก หรือการทำปฏิกิริยาระหว่างกันขององค์ประกอบนั้นรบกวนสมดุลทางกายภาพของการมองเห็น ทำให้เรารับรู้ภาพนั้นผิดปกติไปจากความเป็นจริง
ภาพที่เกิดขึ้นจริง คือ รถที่จอดเทียบข้าง ๆ เคลื่อนตัว สายตาเราเห็นเฉพาะวัตถุที่ขยับ เกิดเป็นภาพลวงตาให้เห็นภาพว่ารถของเราเคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ไม่แปลกที่ร่างกายเราจะมีสัญชาตญาณโดยอัตโนมัติด้วยการรีบเหยียบเบรกทันที เพราะเราเห็น (รู้สึก) ว่ารถเราขยับนั่นเอง
การเกิดภาพลวงตาเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ดังที่อธิบายไปข้างต้น แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่ภาพหลอกตา หากเป็นอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการตกใจแล้วร่างกายตอบสนองมากกว่า เพราะฉะนั้น ควรมีสติอยู่ตลอดเวลาที่อยู่บนรถหรือบนท้องถนน ไม่ว่าจะจอดรถหรือไม่ก็ตาม
ผู้เขียน: กมลวรรณ วิชัยรัตน์