ขับรถทับเส้นทึบระวังเจอ “VAR” แน่นอน
ใครเคยโดนใบสั่งส่งมาถึงบ้านยกมือขึ้น! ผมคนหนึ่งล่ะครับที่ต้องขอออกตัวว่าเคยโดนมาหมดแล้ว ทั้งความเร็วเกินบนทางมอเตอร์เวย์ และขับทับเส้นทึบบนถนนเส้นรัชดาภิเษก แต่ทุกครั้ง ผมจ่ายเงินค่าปรับทุกครั้ง ไม่มีเบี้ยวนะครับ
เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันถือว่าเข้ามามีส่วนช่วยพี่ ๆ ตำรวจได้เยอะพอสมควรครับ บนถนนสายหลักเกือบทุกเส้นใน กทม. มีกล้องตรวจจับการทำผิดกฎจราจร เช่นเดียวกับบนทางด่วนและทางมอเตอร์เวย์ ที่สำคัญการจ่ายค่าปรับก็ง่ายแสนง่าย มีทั้งจ่ายผ่าน ATM และสแกนผ่านแอปฯ ธนาคาร
ทุกครั้งที่หลักฐานถูกส่งมาที่บ้าน เปรียบเหมือน VAR บนท้องถนน ที่ว่ากันตามกฎหมายจริง ๆ มันคือสิ่งที่เราหมดสิทธิ์โต้แย้งเพราะภาพมันฟ้อง ไม่ว่าจะขับเร็วบนทางด่วน 121 กม./ชม. หรือ 140 กม. ก็มีความผิดเหมือนกัน เพราะคุณขับเกินสปีดที่กฎหมายกำหนด
เช่นเดียวกับการฝ่าฝืนเส้นทึบ ไม่ว่าจะเปลี่ยนเลน ขับแซง หรือขับคร่อมเลน ที่มีหลักฐานแบบคาหนังคาเขาจากภาพถ่ายที่ส่งแนบมาพร้อมใบสั่ง อย่างไรก็ดีในกรณีของเส้นทึบ ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทีมงานที่ตีเส้นจราจร ทั้งบนทางด่วน และถนนในกทม. เขา เคยศึกษาการใช้งานจริงบ้างหรือไม่
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพถนนรัชดาภิเษก ช่วงก่อนเข้าห้าง The Street ตีเส้นทึบยาววววววว! จนรถที่ยูเทิร์นจากแยก รวมถึงรถที่เลี้ยวออกมาจากแยกไฟแดงที่จะเข้าห้าง เข้าซ้ายไม่ทันจนต้องฝ่าฝืนเส้นทึบ รวมถึงทางที่ตรงยาวมาจากบิ๊กซี ถ้าคุณไม่ชิดซ้ายสุดยาวมา ก็เข้าไม่ได้เช่นกัน
ส่วนทางด่วนในกทม. ผมสังเกตเหตุจุดที่ตีเส้นทึบหลายจุดที่มันไม่ควรจะต้องตียาวขนาดนั้น อย่างทางด่วนฉลองรัชฯ พระราม 9 มุ่งหน้ารามอินทรา ทางลงเกษตร (ถนนประเสริฐมนูกิจ) ก็มีการตีเส้นทึบยาวเช่นกัน บางทีผู้ใช้เส้นทางที่ไม่คุ้นเคยและขับมาเร็วก็มีโอกาสพลาดได้เหมือนกัน
นอกจากนี้บนทางด่วนหลายจุดที่เป็นจุดตัดที่รถจากซ้ายและขวาจะต้องสลับเลนไขว้เส้นทางกัน อาทิ ช่วงพระราม 6 มุ่งหน้าเข้าเมือง รถที่ขึ้นจากด่านคลองประปา จะต้องเจอกับรถจากงามวงศ์วาน ซึ่งมีเส้นประให้รถเปลี่ยนเลนราว 100 เมตร ก่อนถึงเส้นทึบ ผมมองว่าระยะมันสั้นเกินไปครับ
นี่ยังไม่นับรวมเส้นทางมอเตอร์เวย์บางจุดที่ตีเส้นทึบค่อนข้างยาว และบางทีรถคันหน้าก็ทำความเร็วช้ากว่าปกติ จนทำให้คันที่ขับตามมาต้องชะลอ (เพราะห้ามเปลี่ยนช่องทาง) จากที่เป็นทางด่วน ก็กลายเป็นทางช้าเพราะแต่ละคันก็กลัวว่าถ้าเปลี่ยนเลนก็จะไปทับเส้นทึบกันอีก
ผมเชื่อว่าผู้ใช้รถทุกคนเข้าใจหลักการและเหตุผลด้านความปลอดภัยกันอยู่แล้ว แต่ว่าในทางปฏิบัติจริง ๆ บางทีมันก็ไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริงและธรรมชาติของการขับรถตามปกติก็เท่านั้นเอง ฉะนั้น หากยังตีเส้นทึบแบบนี้ เราก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูก VAR จับฟาวล์บนท้องถนนครับ
สุดท้ายใครบอกว่าได้ใบสั่งแล้วไม่ต้องไปจ่ายก็ได้ ขอยืนยันตรงนี้ว่าไม่จริงนะครับ สมัยก่อนอาจจะได้เพราะข้อมูลตำรวจยังไม่เชื่อมกับกรมการขนส่งทางบก แต่นับจากเดือนกันยายน ปี 62 ทั้ง 2 หน่วยงานเขาเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กันได้เรียบร้อยแล้วนะ จะบอกให้
ผู้เขียน: ธันยเดช เกียรติศิริ