ปุ่ม O/D มีหน้าที่ทำอะไร? แล้วทำไมรถรุ่นใหม่จึงไม่ค่อยมี?

ปุ่ม O/D มีหน้าที่ทำอะไร? แล้วทำไมรถรุ่นใหม่จึงไม่ค่อยมี?

ปุ่ม O/D มีหน้าที่ทำอะไร? แล้วทำไมรถรุ่นใหม่จึงไม่ค่อยมี?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ใครที่เคยขับรถเกียร์อัตโนมัติเมื่อช่วงสัก 15-20 ปีที่แล้ว คงเคยเห็นปุ่มที่ระบุว่า O/D อยู่ข้างคันเกียร์ แล้วรู้หรือไม่ว่าปุ่มดังกล่าวมีหน้าที่ไว้ทำอะไร แล้วทำไมรถยนต์รุ่นใหม่ๆ จึงไม่มีปุ่มที่ว่านี้แล้ว?

     O/D แท้จริงแล้วย่อมาจากคำว่า Overdrive ซึ่งโดยเทคนิคจะหมายถึงตำแหน่งเกียร์ที่มีอัตราทดต่ำกว่า 1.000 ซึ่งรอบการหมุนของล้อจะเท่ากับหรือเร็วกว่ารอบการหมุนของเครื่องยนต์ ส่งผลให้รถวิ่งได้เร็วขึ้นในรอบเครื่องยนต์ต่ำ ช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองและชะลอการสึกหรอของเครื่องยนต์ลงได้ โดยมากแล้วเกียร์ O/D จะเป็นตำแหน่งเกียร์สูงสุดของรถแต่ละคัน ยกตัวอย่างเช่น รถที่มีเกียร์ 5 สปีด เกียร์​ O/D ก็คือตำแหน่งเกียร์ 5 นั่นเอง

     กรณีกดปุ่ม O/D จะปรากฏสัญลักษณ์ O/D OFF บนหน้าปัด ช่วยป้องกันไม่ให้เกียร์ขึ้นไปถึงอัตราทดสูงสุดของรถคันนั้นๆ เช่น กรณีรถมี 5 เกียร์ หากปิดระบบ O/D เกียร์จะทำงานเฉพาะตำแหน่ง 1-4 โดยไม่ขึ้นไปถึงเกียร์ 5 จนกว่าจะมีการกดปุ่ม O/D อีกครั้งเพื่อเปิดใช้งาน

gear_02

     มาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่าแล้วจะไปปิดระบบ O/D ทำไมกัน ในเมื่อการเปิดระบบ O/D ก็ช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองได้อยู่แล้ว นั่นเป็นเพราะรถยนต์ในสมัยก่อนจะมีเพียง 4 เกียร์เท่านั้น การใช้งานในเมืองที่ต้องเร่งสลับเบรกอยู่บ่อยๆ จึงแนะนำให้ปิดระบบ O/D ไปเสีย จะช่วยป้องกันไม่ให้เกียร์ขึ้นไปยังตำแหน่งสูงสุด ทำให้รถมีพละกำลังพร้อมใช้งานอยู่เสมอ (ลองนึกภาพว่ารถวิ่งแค่ 60 กม./ชม. แต่สมองกลเกียร์ดันสั่งให้ขึ้นไปยังตำแหน่งเกียร์ 4 พอจะเร่งเครื่องยนต์ก็กลายเป็นเร่งไม่ขึ้น ต้องเหยียบคันเร่งให้ลึกกว่าปกติเพื่อเปลี่ยนเป็นเกียร์​ 3 หรือ 2 จึงจะมีแรงพุ่งไปข้างหน้า)

     แต่ปัจจุบันรถยนต์ถูกพัฒนาให้มีพละกำลังเพิ่มขึ้น ประกอบกับระบบเกียร์ก็ถูกพัฒนาให้มีความฉลาดมากขึ้นด้วย ผู้ขับขี่จึงไม่จำเป็นต้องปิดระบบ O/D แต่อย่างใด จึงแทบจะไม่เห็นรถยนต์ยุคใหม่ติดตั้งปุ่ม O/D มาให้แล้ว แต่จะมาให้รูปแบบโหมด Sport หรือเกียร์บวกลบที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเปลี่ยนอัตราทดได้เองเสียมากกว่า

     แต่ถ้าบ้านใครยังมีรถรุ่นเก่าที่มีระบบ O/D อยู่ จะลองใช้งานอย่างที่แนะนำมาข้างต้นดูก็ได้นะครับ บางทีอาจจะช่วยให้รถขับสนุกขึ้นจนติดใจเลยก็เป็นได้!

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook