ข้อควรระวังเมื่อต้องเซ็นค้ำประกันรถให้ผู้อื่น

ข้อควรระวังเมื่อต้องเซ็นค้ำประกันรถให้ผู้อื่น

ข้อควรระวังเมื่อต้องเซ็นค้ำประกันรถให้ผู้อื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     การขอสินเชื่อรถยนต์ไม่ว่าจะรถป้ายแดงหรือรถมือสองนั้น หากผู้ขอสินเชื่อมีคุณสมบัติทางการเงินไม่ตรงตามเกณฑ์ที่ธนาคารหรือไฟแนนซ์กำหนดไว้ ผู้ขอสินเชื่อจำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกันเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ จึงจะมีโอกาสได้รับการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์มากยิ่งขึ้น แต่การเซ็นค้ำประกันรถยนต์ให้ผู้อื่นก็มีข้อควรระวังอย่างมาก มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลในอนาคตได้

ค้ำประกัน = ชำระหนี้แทน

     การค้ำประกันไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มเครดิตความน่าเชื่อถือให้กับผู้ขอสินเชื่อเท่านั้น หากแต่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบในการชำระหนี้แทนตามกฎหมาย ซึ่งอาจต้องรับภาระทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ขึ้นอยู่กับสัญญาสินเชื่อที่ทำไว้ เนื่องจากรายละเอียดของสัญญาจะแตกต่างกันตามแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงิน ก่อนเซ็นสัญญาค้ำประกันแต่ละครั้งจึงต้องอ่านรายละเอียดให้รอบคอบเสมอ

สิทธิ์ของคนค้ำประกันมีอะไรบ้าง?

     แม้ว่าผู้ค้ำประกันจะดูเป็นฝ่ายเสียเปรียบในกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ แต่ปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับปรับปรุงใหม่ 2558 ก็ได้ให้สิทธิ์กับฝ่ายผู้ค้ำประกันมากขึ้น เช่น

     1.สามารถจำกัดวงเงินหนี้ได้ - ผู้ค้ำประกันสามารถกำหนดวงเงินสูงสุดที่จะต้องรับผิดชอบได้ โดยไม่จำเป็นต้องชำระหนี้แทนทั้งหมด โดยจะต้องระบุรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนบนสัญญา

     2.กรณีลูกหนี้ผิดนัด ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันทราบก่อน 60 วัน - หากลูกหนี้หลักผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้าก่อนภายใน 60 วัน โดยห้ามมิให้เจ้าหนี้เรียกเอาหนี้กับผู้ค้ำประกันโดยทันที จนกว่าจะได้มีการพยายามเรียกหนี้กับลูกหนี้จนสุดความสามารถแล้ว

     3.ไม่ต้องรับผิดชอบมูลหนี้ทั้งหมด - ผู้ค้ำประกันจะรับผิดชอบชำระหนี้แทนในส่วนของตนเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ

     โดยหลังจากที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ส่วนที่รับผิดชอบให้กับเจ้าหนี้แล้ว สามารถดำเนินการฟ้องร้องเอาส่วนที่จ่ายไปจากฝ่ายลูกหนี้ได้ตามจำนวน รวมถึงสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่นๆ ได้

     แต่ไม่ว่ากฎหมายจะเพิ่มความคุ้มครองในส่วนของผู้ค้ำประกันมากขึ้นอย่างไร แต่ก็ควรตัดสินใจอย่างรอบคอบทุกครั้งก่อนจะเซ็นค้ำประกันชำระหนี้ให้บุคคลอื่น ไม่เว้นแม้กระทั่งญาติสนิทมิตรสหายที่ใกล้ชิดก็ตาม จะได้ไม่เกิดปัญหาปวดหัวในภายหลังครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook