ถอยรถคันแรกในชีวิตต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?

ถอยรถคันแรกในชีวิตต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?

ถอยรถคันแรกในชีวิตต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     รถยนต์ถือเป็นความภาคภูมิใจของใครหลายคน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง กว่าจะซื้อรถสักคันหนึ่งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นอกเหนือจากมูลค่าของตัวรถแล้วนั้น การครอบครองรถยนต์หนึ่งคันยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย

1.ค่าดาวน์รถ

     ค่าใช้จ่ายแรกในการออกรถก็คือเงินดาวน์นั่นเอง ซึ่งจะควักเงินหลักหมื่นหรือหลักแสนบาทก็ขึ้นอยู่กับมูลค่าของรถและโปรโมชันในช่วงเวลานั้นๆ หรือแม้แต่เงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงินและเครดิตของผู้ซื้อก็มีผลต่อจำนวนเงินดาวน์เช่นกัน จึงควรปรึกษาเซลส์ให้รอบคอบถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในวันออกรถ จะช่วยให้วางแผนทางการเงินได้ง่ายขึ้น

     หลังจากที่ออกรถเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาของค่างวดที่ต้องชำระในแต่ละเดือน หากมีการผิดนัดชำระก็อาจส่งผลให้เกิดเบี้ยปรับล่าช้า ค่าทวงถาม และอื่นๆ ตามมา ซึ่งโดยปกติแล้วสถาบันการเงินจะผ่อนปรนให้ผิดนัดชำระติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 งวด (บวกระยะเวลาทวงถามอีก 30 วัน) ก่อนที่จะดำเนินการยึดรถต่อไป

2.ค่าเชื้อเพลิง

     ค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าค่างวดรถก็คือ “ค่าน้ำมัน” ซึ่งการเติมน้ำมันเต็มถังแต่ละครั้งอาจสูงถึง 1,000 บาทหรือมากกว่า ส่วนถังนึงจะใช้ได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับอัตราสิ้นเปลืองของรถแต่ละรุ่น ก่อนซื้อรถจึงควรพิจารณาถึงอัตราสิ้นเปลืองของรถรุ่นนั้นๆ เอาไว้ด้วย ยิ่งกินน้ำมันน้อยเท่าไหร่ก็จะช่วยให้เงินในกระเป๋าเหลือเยอะมากขึ้นเท่านั้น

     ปัจจุบันมีทางเลือกหลากหลายในการช่วยลดค่าน้ำมันในแต่ละเดือนลง เช่น การหันไปใช้รถไฮบริดที่มีอัตราสิ้นเปลืองต่ำทั้งในเมืองและนอกเมือง, การติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติ LPG/CNG ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้งานรถเยอะเป็นพิเศษ หรือกระทั่งการหันไปใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีความผันผวนของราคาน้ำมันน้อยกว่าเบนซิน เป็นต้น

3.ค่าบำรุงรักษา

     สิ่งที่เจ้าของรถจะละเลยไม่ได้ก็คือการบำรุงรักษารถยนต์ให้มีสภาพดีอยู่เสมอ ยิ่งถ้ารถยังอยู่ในระยะรับประกัน ควรนำรถเข้าศูนย์บริการตามระยะเสมอ มิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้ประกันขาดได้ ส่งผลต่อการเคลมชิ้นส่วนบกพร่องในอนาคต

     แต่หากต้องการเซฟค่าใช้จ่ายหลังหมดระยะรับประกัน ก็สามารถนำรถเข้าอู่นอกที่น่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลงได้อย่างน้อย 30% ขึ้นไป แต่ทางที่ดีควรนำรถเข้าอู่เฉพาะทางของแต่ละยี่ห้อ (เช่น ขับรถโตโยต้า ก็ควรนำรถเข้าอู่ที่ซ่อมโตโยต้าโดยเฉพาะ) ซึ่งช่างมักมีความเชี่ยวชาญในการบำรุงรักษารถรุ่นนั้นๆ มากกว่า แก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า ลดโอกาสเกิดปัญหาบานปลายได้

4.ค่าประกันภัยรถยนต์

     ค่าประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ในแต่ละปีจะอยู่ที่ราว 1 หมื่นบาทต้นขึ้นไป ขึ้นอยู่กับรุ่นรถและทุนประกัน แม้ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ควรทำประกันภัยไว้เผื่อกรณีเกิดอุบัติเหตุซึ่งไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ (ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าถ้าเผลอขาดต่อประกันเมื่อไหร่ ความซวยมักจะมาเยือนทันที) โดยเฉพาะรถที่มีอายุไม่ถึง 7 ปี แนะนำให้ทำประกันชั้น 1 จะช่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทั้งรถเราและรถคู่กรณี (หรือไม่มีคู่กรณีก็เคลมได้)

     แต่หากต้องการเน้นประหยัด ก็มีทางเลือกเป็นประกันภัยชั้น 2+ หรือ 3+ ที่เบี้ยประกันถูกกว่า (ส่วนมากเบี้ยประกันมักไม่ถึง 1 หมื่นบาท) แต่มีข้อควรระวัง คือ จะเคลมรถเราได้ก็ต่อเมื่อคู่กรณีเป็นรถยนต์ด้วยกันเองเท่านั้น หากประสบอุบัติเหตุเองโดยไม่มีคู่กรณี หรือถูกชนแล้วหนีไม่สามารถติดตามคู่กรณีได้ แบบนี้ก็จะไม่สามารถเคลมได้

5.ค่าภาษี และ พ.ร.บ.

     หากเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง จะต้องเสียค่า พ.ร.บ. ในแต่ละปีอยู่ที่ 645.21 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) ขณะที่ค่าภาษีจะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องยนต์และจำนวนปีที่จดทะเบียน ตัวอย่างเช่น รถเก๋งเครื่องยนต์​ 1,500 ซีซี ในช่วง 1-5 ปีแรก จะต้องเสียภาษีรายปีประมาณ 1,600 บาท ก่อนจะค่อยๆ ลดลงมาตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป

     เห็นไหมครับว่าการซื้อรถหนึ่งคันจะมีค่าใช้จ่ายตามมามากมาย ทางที่ดีควรพิจารณาถึงรายจ่ายต่างๆ อย่างรอบคอบเสียก่อน จะได้ไม่ลำบากในภายหลังครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook