รีวิว DFSK Glory 560 เอสยูวี 7 ที่นั่ง ครบเครื่องเรื่องความคุ้มค่า แต่การใช้งานยังไม่โดนใจ
หากพูดถึงรถยนต์สัญชาติจีน หลายคนมักนึกถึงความคุ้มค่ามาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยราคาจำหน่ายที่ใกล้เคียงกับรถญี่ปุ่น แต่ให้อุปกรณ์มาตรฐานแบบจัดเต็มชนิดที่รถยุโรปบางรุ่นยังอาย (แต่เรื่องการขับขี่ก็ว่ากันอีกประเด็นหนึ่งนะ) แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าปัจจุบันมีแบรนด์รถยนต์จีนอีกหนึ่งยี่ห้อที่บุกเข้ามาทำตลาดในไทยได้สักพักใหญ่แล้ว นั่นก็คือ “DFSK” หรือที่หลายคนคุ้นหูในชื่อ “ตงฟง” นั่นเอง ซึ่งล่าสุดได้มีการเริ่มวางจำหน่าย DFSK Glory 560 ใหม่ ที่เน้นจุดขายเอสยูวี 7 ที่นั่ง ในราคาไม่ถึง 750,000 บาท สร้างความประหลาดใจได้ไม่น้อยทีเดียว แต่ของจริงจะเป็นอย่างไรไปดูได้ในบทความนี้ครับ
อีวี ฮาลิโคนิก ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ DFSK หรือ Dongfeng ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ได้ประกาศเปิดตัว DFSK Glory 560 ใหม่ ไปเมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยรถรุ่นนี้ถูกทำตลาดควบคู่ไป “Glory i-Auto” ที่เปิดตัวมาสักพักหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นเอสยูวีแบบ 7 ที่นั่งเช่นเดียวกัน แต่มีขนาดตัวถังใหญ่กว่า ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ อีวี ฮาลิโคนิก ก็เพิ่งประกาศความพร้อมในการส่งมอบ Glory 560 ถึงมือลูกค้าล็อตแรกจำนวน 100 คัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง
สำหรับ DFSK Glory 560 ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยถูกประกอบและนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย โดยมีให้เลือกเพียงรุ่นย่อยเดียวเท่านั้น เคาะราคาจำหน่ายในช่วงแนะนำอยู่ที่ 749,000 บาท ถือว่าเป็นเอสยูวี 7 ที่นั่งที่มีราคาถูกที่สุดที่หาซื้อได้ในปัจจุบัน
ภายนอก
เมื่อได้เห็นเรือนร่างที่แท้จริงของ DFSK Glory 560 ก็บอกได้ว่าเกินความคาดหมายอยู่นิดหน่อย ด้วยรูปทรงที่ดูเรียบๆ แต่ร่วมสมัย ไม่หวือหวาจนกลายเป็นขาดๆ เกินๆ เหมือนกับรถจีนอีกหลายยี่ห้อ โดยตัวถังมีขนาดความยาวตลอดคันอยู่ที่ 4,515 มม. ความกว้าง 1,815 มม. ความสูง 1,735 มม. และความยาวฐานล้อ 2,690 มม. ซึ่งใหญ่กว่า MG ZS อย่างเห็นได้ชัด แต่จะเป็นรองจาก MG HS อยู่เล็กน้อยทั้งในด้านความยาวและความกว้าง
ภายนอกของ DFSK Glory 560 ถูกติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานมาให้แบบครบๆ อย่างที่ควรจะมี ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ LED พร้อมกระจังหน้าตกแต่งด้วยแถบโครเมียม ประดับโลโก้ของ DFSK ที่อาจไม่คุ้นตาเท่าไหร่นัก ไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED ถูกออกแบบไปติดตั้งไว้บริเวณกันชนใกล้กับไฟตัดหมอกหน้า พร้อมด้วยกระจกมองข้างปรับและพับอัตโนมัติเมื่อกดล็อกรถ เสริมลูกเล่นด้วยแผงตกแต่งกันชนหน้าสีเงิน และเสาอากาศแบบครีบฉลาม
ดีไซน์ด้านข้างถูกออกแบบเน้นความเหลี่ยมสัน ตกแต่งขอบหน้าต่างและมือเปิดประตูด้วยโครเมียมเพิ่มความหรูหรายิ่งขึ้น ขณะที่ตัวถังส่วนล่างและซุ้มล้อถูกตกแต่งด้วยพลาสติกสีดำดูบึกบึนในแบบเอสยูวี พร้อมล้ออัลลอยสีทูโทนขนาด 17 นิ้ว หุ้มด้วยยาง GT Radial Savero SUV ขนาด 215/60 R17
ด้านหลังถูกออกแบบให้ดูเรียบง่ายด้วยไฟท้ายทรงยาว ประดับด้วยแถบโครเมียมเหนือช่องติดแผ่นป้ายทะเบียน เสริมด้วยสปอยเลอร์พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 และที่ปัดน้ำฝนด้านหลังมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ทั้งยังมีเซ็นเซอร์กะระยะท้ายแบบ 3 จุด และไฟตัดหมอกหลังมาให้ด้วย ส่วนประตูเป็นแบบแมนนวลยกเปิด-ปิดด้วยตัวเอง ไม่มีระบบไฟฟ้ามาให้แต่อย่างใด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักเมื่อเทียบกับค่าตัวเพียง 7 แสนกว่าบาท
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัทอิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม พร้อมเหล็กกันโคลง ติดตั้งระบบดิสก์เบรกมาให้ทั้ง 4 ล้อ พร้อมด้วยระบบพวงมาลัยแบบไฟฟ้า EPS
ภายใน
ภายในห้องโดยสารของ DFSK Glory 560 ถูกตกแต่งด้วยโทนสีดำเป็นหลัก เสริมความหรูหราด้วยทริมโครเมียมตามจุดต่างๆ พร้อมทั้งเบาะนั่งหุ้มหนังเป็นอุปกรณ์มาตรฐานมาจากโรงงาน ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่าการตกแต่งห้องโดยสารทำได้ดีกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุอ่อนนุ่มตามจุดต่างๆ ที่ต้องสัมผัสกับร่างกายเป็นประจำ รวมถึงการตกแต่งแผงคอนโซลและแผงประตูด้วยวัสดุที่หลากหลายช่วยให้ดูมีมิติสวยงามน่าใช้ยิ่งขึ้น
เบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบปรับมือ สามารถปรับสูง-ต่ำได้เฉพาะฝั่งผู้ขับขี่เท่านั้น ส่วนเบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถปรับพับแยก 60:40 ได้ รวมถึงสามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า-หลัง และปรับเอนพนักพิงได้ด้วย ส่วนเบาะนั่งแถวที่ 3 ปรับพับแยกแบบ 50:50 พร้อมพนักพิงศีรษะแบบปรับระดับได้ ซึ่งพนักพิงของเบาะแถว 3 จะไม่สามารถปรับเอนได้เลย
จากการทดลองนั่งเบาะแถว 3 ก็บอกได้ว่าเหมาะสำหรับเด็กตัวเล็กๆ เท่านั้น เพราะผู้เขียนที่มีความสูง 173 เซนติเมตร พบว่าศีรษะชนกับเพดานแบบเต็มๆ ยิ่งถ้าเป็นผู้ใหญ่นั่งกันสองคนคงจะรู้สึกอึดอัดน่าดู แต่ก็น่าชื่นชมในเรื่องพื้นที่วางขาอยู่บ้าง เพราะหากขยับเบาะนั่งแถวที่ 2 เลื่อนไปข้างหน้าจนสุด ก็พอจะมีพื้นที่เหลือให้วางเท้าได้อยู่ เอาเป็นว่าเบาะนั่งแถว 3 ของ DFSK Glory 560 ถือว่าใช้ได้จริง แต่เหมาะสำหรับเด็กตัวเล็กๆ ในวัยประถมหรือมัธยมต้นเท่านั้น ส่วนผู้ใหญ่หมดสิทธิ์
พวงมาลัยของ DFSK Glory 560 เป็นแบบมัลติฟังก์ชันหุ้มหนัง 3 ก้าน ตกแต่งด้วยสีเงิน สามารถปรับสูง-ต่ำได้ 2 ทิศทาง พร้อมทั้งประดับสัญลักษณ์ DFSK ไว้บนพวงมาลัย โดยปุ่มควบคุมฝั่งซ้ายจะถูกใช้สำหรับระบบเครื่องเสียง และฝั่งขวาสำหรับหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID โดยวัสดุหนังหุ้มพวงมาลัยบริเวณ 3 และ 9 นาฬิกายังเป็นแบบมีรูระบายอากาศ พร้อมด้วยกริปเล็กๆ เพื่อให้จับกระชับมือมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ก้านไฟเลี้ยวของ Glory 560 ยังถูกออกแบบให้อยู่ทางขวามือของพวงมาลัย ต่างจากรถจีนหลายรุ่นที่ปล่อยไว้ให้อยู่ทางซ้ายมือ (ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะปรับเปลี่ยนเพื่อเอาใจตลาดอินโดฯ โดยเฉพาะ) ขณะที่ก้านที่ปัดน้ำฝนมีปุ่มปรับตั้งหน่วงเวลา และปุ่มเปิดที่ปัดน้ำฝนหลังมาให้ ส่วนชุดมาตรวัดเป็นแบบอนาล็อกตกแต่งด้วยสีฟ้า พร้อมทั้งมีเข็มบอกอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นมาให้ด้วย โดยที่หน้าจอ MID ยังสามารถแสดงวันที่, อุณหภูมิภายนอก, ความเร็วของตัวรถ และระยะทางขับขี่ที่วิ่งได้จากน้ำมันในถัง เป็นต้น
บริเวณคอนโซลกลางโดดเด่นด้วยหน้าจอสีแบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth พร้อมด้วยช่องเชื่อมต่อ AUX และ USB แต่ถึงแม้ว่าจะมีระบบนำทางในตัวมาให้ แต่เมื่อลองกดดูก็พบว่ามีเฉพาะแผนที่ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ไม่สามารถใช้งานในประเทศไทยได้ ซึ่งจุดนี้ก็ไม่แน่ใจว่าทาง อีวี ฮาลิโคนิก จะมีการใส่แผนที่ประเทศไทยให้ลูกค้าในภายหลังด้วยหรือไม่
แต่จุดเด่นอย่างหนึ่งของเครื่องเสียงชุดนี้ คือ มันสามารถเล่นไฟล์วิดีโอได้โดยที่ภาพไม่ตัดแม้ในขณะรถกำลังเคลื่อนที่ เพียงแต่ไฟล์วิดีโอที่ทางตงฟงทดลองใส่ฮาร์ดดิสก์มาให้ชมนั้นเป็นแบบ MP4 ซึ่งแน่นอนว่าจะไปหาไฟล์หนังสักเรื่องที่เป็น MP4 ได้จากที่ไหน เพราะปัจจุบันนี้หลายคนเลือกที่จะดูหนังผ่าน Netflix หรือ WeTV กันหมดแล้ว (เว้นแต่ใครจะโหลดไฟล์ผิดลิขสิทธิ์มาอันนี้ก็ตัวใครตัวมันแล้วล่ะ)
ส่วนคุณภาพเสียงก็ต้องเรียนตามตรงว่าเป็นไปตามราคารถนั่นแหละครับ (อันที่จริงรถราคาประหยัดแต่เครื่องเสียงคุณภาพดีก็ถมเถไป) แม้ว่าจะพยายามปรับเสียงหุ้มเสียงแหลมอย่างไรก็รู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ถ้าแค่เอาไว้ฟังข่าวหรือฟังเพลงแก้ง่วงก็พอไหว แต่จะให้ถึงขั้นดึ่มด่ำไปกับเสียงเพลงก็อาจจะรู้สึกผิดหวังไปเสียหน่อย ทางที่ดีแนะนำให้ขับเข้าร้านเครื่องเสียงจับเปลี่ยนลำโพงชุดใหม่ก็น่าจะดีขึ้นมาบ้าง
ขณะที่ปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศถูกติดตั้งไว้ล่างสุด แม้ว่าจะไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ แต่ก็ถือว่าเย็นเร็วทันใจ แถมยังมีระบบฮีตเตอร์มาให้ด้วย โดยมีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถวที่ 2 มาให้ด้วย ขณะที่เบาะนั่งแถว 3 ไม่มีช่องแอร์ใดๆ มาให้เลย อาจจะลำบากสักหน่อยในวันที่อากาศร้อน (ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้เขียนเคยพบมาแล้วใน Mazda CX-8)
นอกจากนี้ DFSK Glory 560 ยังมีอุปกรณ์มาตรฐานเข้ากับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกมือไฟฟ้า (พร้อมระบบใส่เบรกมืออัตโนมัติเมื่อเข้าเกียร์ P), กุญแจรีโมท Keyless Entry พร้อมปุ่ม Push Start, กล้องมองภาพขณะถอยหลังพร้อมเส้นกะระยะ, เซ็นเซอร์กะระยะท้าย, กระจกหน้าต่างไฟฟ้าที่สามารถสั่งเปิด-ปิดจากรีโมทได้ รวมถึงกลอนเปิดประตูภายในห้องโดยสารแบบดึง 2 ครั้ง คล้ายกับที่พบในรถยุโรปหลายยี่ห้อ
ส่วนระบบความปลอดภัยก็มีให้อยู่ในระดับมาตรฐานอย่างที่ควรจะมี เช่น ระบบควบคุมการทรงตัว ESP, ระบบควบคุมการลื่นไถล TCS, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบเสริมแรงเบรก EBA, ระบบช่วยป้องกันรถไหลบนทางลาดชัน HHC, ระบบปลดล็อกประตูอัตโนมัติเมื่อเกิดการชน, ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารตอนหน้า และถุงลมนิรภัยคู่หน้า เป็นต้น
เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง
ขุมพลังของ DFSK Glory 560 เป็นเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเทอร์โบชาร์จ ความจุ 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตัน-เมตร ที่ 1,800 - 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT อีกทั้งตามสเปกระบุว่าสามารถเติมน้ำมันทางเลือก E85 ได้อีกด้วย
การขับขี่
สิ่งแรกที่ประทับใจของ DFSK Glory 560 ก็คืออัตราเร่งของเครื่องยนต์เทอร์โบ ผสานการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่สามารถถ่ายทอดกำลังได้อย่างลื่นไหลและนุ่มนวล โดยอัตราเร่งในช่วง 0-80 กม./ชม. ทำได้ค่อนข้างดี แรงบิดทั้งหมดกว่า 220 นิวตัน-เมตรถูกเรียกใช้มาอย่างเต็มกำลัง สามารถพาร่างเอสยูวีขนาดกะทัดรัดแตะความเร็วในช่วงเดินทางไกลได้อย่างสบายๆ
แต่...! กว่าที่เครื่องยนต์จะสามารถสร้างพละกำลังได้อย่างที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ต้องฝ่าด่านคันเร่งไฟฟ้าที่ตอบสนองได้ในระดับที่เรียกว่า “อืดอาด” เพราะทันทีที่กดคันเร่งลงไป จะต้องใช้เวลาเกือบ 2 วินาที กว่าที่เครื่องยนต์จะเริ่มสร้างกำลังไปสู่ล้อคู่หน้า ซึ่งตรงนี้เองทำให้รู้สึกว่าการใช้งานในเมืองน่าหงุดหงิดอยู่บ้าง ต้องรอจนกว่าจะพ้นช่วงออกตัวถึงจะมีเรี่ยวแรงให้เห็น ซึ่งอาการนี้ว่านี้ชวนให้นึกถึงสมัยที่ทดลองขับ MG6 ซึ่งให้การตอบสนองของคันเร่งแบบเดียวกันเปี๊ยบ เรียกว่าต้องอาศัยการปรับตัวกันอยู่พอสมควรอยู่เหมือนกัน
ส่วนเสียงเครื่องยนต์ที่เล็ดลอดเข้ามายังห้องโดยสารถือว่าพอได้ยินบ้าง ไม่ได้เก็บเสียงดีซะทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ดังจนน่ารำคาญขนาดนั้น แต่ที่น่าชมเชยคงหนีไม่พ้นเรื่องของช่วงล่าง ที่สามารถซับแรงสะเทือนได้ค่อนข้างดี ให้ความรู้สึกคล้ายกำลังขับเอสยูวีขนาดใหญ่ สามารถรูดผ่านพื้นถนนขรุขระได้แบบสบายๆ ทั้งยังมีเสียงรบกวนจากช่วงล่างและพื้นถนนเข้ามาในระดับต่ำ อันที่จริงจะเรียกได้ว่ารถจีนแทบทุกยี่ห้อสามารถเซ็ตช่วงล่างได้ค่อนข้างโดดเด่นโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรถทางฝั่งญี่ปุ่น
จากการทดลองขับด้วยความเร็วสูงพบว่าหากใช้ความเร็ว 100 กม./ชม. จะใช้รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ประมาณ 2,050 รอบต่อนาที และเมื่อเพิ่มความเร็วเป็น 120 กม./ชม. จะใช้รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ ประมาณ 2,500 รอบต่อนาที แม้ว่าจะดูสูงไปนิดนึงสำหรับรถที่ใช้เกียร์แบบ CVT แต่ก็ถือเป็นความเร็วรอบที่สามารถเดินทางทั่วไทยได้แบบสบายๆ ไม่ต้องเค้นแรงเครื่องยนต์มากจนเกินไป
ในเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น ต้องเรียนตามตรงว่ารถที่เราได้รับมานั้นอาจมีปัญหาเกี่ยวกับเกจ์น้ำมัน จึงทำให้ผู้เขียนยกเลิกการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองไปโดยปริยาย โดยปัญหาที่ว่าคือ ในวันที่ผู้เขียนรับรถทดสอบนั้น เข็มน้ำมันชี้ไปยังขีดที่ 8 จากจำนวนทั้งหมด 9 ขีด จากนั้นจึงได้เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เต็มถังเป็นเงินเกือบ 400 บาท ปรากฏว่าเข็มน้ำมันยังคงอยู่ที่เดิม ไม่กระดิกเลยแม้แต่นิดเดียว แม้ว่าจะขับรถออกไปเป็นระยะทางไกลพอสมควรก็ไม่ขึ้นอยู่ดี
ทีนี้ก็เลยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วปัญหาเกิดจากเกจ์น้ำมัน หรือคอถังน้ำมันที่ไปกระตุ้นให้หัวจ่ายตัดก่อนน้ำมันจะเต็มจริงๆ กันแน่ ก็เลยตัดสินใจไม่ทดสอบอัตราสิ้นเปลืองไปเลยดีกว่า
แต่ก็น่าสงสัยว่าในบรรดารถที่กำลังจะส่งมอบให้กับลูกค้าจริงๆ นั้น จะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ด้วยหรือไม่ หรือบางทีอาจจะเป็นเพียงความผิดเพี้ยนจากประเภทของน้ำมันที่ถูกเติมมาก่อนหน้าสำหรับรถทดสอบของสื่อมวลชนก็เป็นได้
สรุป
DFSK Glory 560 ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีในแง่ของความคุ้มค่า ด้วยห้องโดยสารแบบ 7 ที่นั่ง พร้อมอรรถประโยชน์ในแบบเอสยูวีแท้ๆ เบาะนั่งแถวที่ 2 นั่งสบาย สามารถปรับได้หลากหลาย ส่วนเบาะแถว 3 เหมาะสำหรับเด็กๆ มากกว่า เนื่องจากพื้นที่เหนือศีรษะค่อนข้างจำกัด (เว้นแต่ผู้ใหญ่จะติดรถไปหน้าปากซอยอันนี้ก็พอไหวอยู่) ขณะที่ดีไซน์ภายนอกก็ถือว่าลงตัวใช้ได้ แถมยังมีขนาดกะทัดรัด เหมาะสำหรับการใช้งานในเมือง
ขณะที่เครื่องยนต์เทอร์โบ 1.5 ลิตร ให้เรี่ยวแรงค่อนข้างดี แต่ติดในเรื่องการตอบสนองของคันเร่งที่ค่อนข้างช้า แต่เมื่อพ้นจังหวะออกตัวก็มีกำลังแบบไหลมาเทมาตามสูตรเครื่องยนต์เทอร์โบ ประกอบกับการใช้เกียร์ CVT ก็ช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์เป็นไปอย่างนุ่มนวล ประกอบกับช่วงล่างที่เช็ตมาค่อนข้างดีไม่แพ้คู่แข่งร่วมสัญชาติเลย
ในแง่ของการบำรุงรักษาระยะยาวนั้น ทางอีวี ฮาลิโคนิกก็พยายามแก้เกมด้วยกลยุทธ์แพ็คเกจ Smart Maintenance Package บำรุงรักษาฟรี 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ครอบคลุมอะไหล่สิ้นเปลือง เช่น ผ้าเบรก, หัวเทียน, ใบปัดน้ำฝน รวมถึงแบตเตอรี่และเคมีภัณฑ์ (น้ำมันเครื่อง, น้ำมันเกียร์, น้ำหล่อเย็น ฯลฯ) ทั้งยังมีบริการเช็กระยะที่บ้าน หรือสามารถนำรถไปยังศูนย์บริการ 15 แห่งทั่วประเทศ เหล่านี้ก็น่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าที่มองหาความคุ้มค่าได้ไม่น้อย
ราคาจำหน่าย DFSK Glory 560 อยู่ที่ 749,000 บาท (ราคารวมแพ็คเกจ Smart Maintenance Package บำรุงรักษาฟรี 5 ปี หรือ 100,000 กม. เรียบร้อยแล้ว)
อัลบั้มภาพ 49 ภาพ