เล่าประสบการณ์ "รถโดนสวมทะเบียน" โป๊ะแตกเพราะกล้องจับความเร็ว

เล่าประสบการณ์ "รถโดนสวมทะเบียน" โป๊ะแตกเพราะกล้องจับความเร็ว

เล่าประสบการณ์ "รถโดนสวมทะเบียน" โป๊ะแตกเพราะกล้องจับความเร็ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ที่ผ่านมาผมเคยได้ยินและได้อ่านข่าว “รถโดนสวมทะเบียน” อยู่เป็นระยะครับ แต่ไม่คิดว่าวันหนึ่งเราจะเจอแจ็กพอตเสียเอง เมื่อมีใบสั่งส่งไปรษณีย์จากสถานีตำรวจทางหลวงพังงา เป็นใบสั่งขับรถความเร็วเกินกฎหมายกำหนด พร้อมภาพถ่ายรถเลขป้ายทะเบียนเหมือนของผมเป๊ะ!

     แต่ที่ไม่เป๊ะคือ รถในภาพดันเป็นโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ สีดำ ทว่ารถของผมที่เป็นเจ้าของเลขทะเบียน และมีเล่มทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่ฟอร์จูนเนอร์ครับ เป็นรถคนละรุ่น และคนละยี่ห้อกันเลย ใช่แล้วครับ รถของผมโดนสวมทะเบียนไปไกลถึงโซนภาคใต้ เหตุเกิดที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โน้นเลย

     งานนี้สิ่งแรกที่ผมรีบทำคือ เดินทางไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดครับ ซึ่งร้อยเวรของสน. ที่ผมไปแจ้งความก็บริการเป็นอย่างดี (ยุคนี้บันทึกประจำวันพิมพ์คอมพิวเตอร์แล้วนะครับ) ไม่เหมือนเมื่อก่อนจำได้ว่าบางสน. ยังใช้วิธีคลาสสิกเขียนมือ รวมถึงยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดอยู่เลย

     ร้อยเวรท่านนี้ย้ำว่าไม่ต้องกังวลใจไป เพราะข้อมูลทะเบียนรถ อย่างไรเสียมันก็คือข้อมูลของเรา ทะเบียนรถนี้มีคันเดียวในประเทศไทย ไม่ว่าตำรวจจะค้นหาจากที่ไหนของประเทศก็จะรู้ข้อมูลรถคันนี้ หากภาพถ่ายออกมาไม่ตรงจะรู้เลยว่าถูกสวมทะเบียน แต่เมื่อผมถามว่าจะจับได้ไหม แกบอกหนักแน่นเลยครับว่ายาก! (อ้าวว หมวด)

     อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผมสงสัยคือ ในเมื่อข้อมูลในใบสั่งมันคือข้อมูลที่ถูกต้องจากเลขทะเบียนรถผม แต่เมื่อรูปไม่ใช่ ทางตำรวจต้นทางที่ส่งใบสั่งนี้มาให้ เขาไม่ดูเลยเหรอว่าข้อมูลจริงกับรถที่ถ่ายมาไม่ตรงกัน ไม่น่าแปลกใจครับ ที่จะมีข่าวเจ้าของรถบางคนโดนใบสั่งจากรถสวมทะเบียนส่งมาถึงบ้าน บางคนโดนเกือบ 10 ใบก็มี

     จากนั้นก็ถึงเวลาที่จะต้องติดต่อไปยังสถานีต้นทางที่ส่งใบสั่งนี้มา นั่นก็คือสถานีตำรวจทางหลวงพังงา ทว่าเบอร์ที่ให้ไว้กลับโทรแล้วไม่มีใครรับ! ผมเลยลองเข้าไปเซิร์ชในเว็บไซต์กองบังคับการตำรวจทางหลวง ต้องบอกว่านอกจากจะมีรายชื่อผู้กำกับและสารวัตรของตำรวจทางหลวงแล้ว ยังมีเบอร์โทรติดต่อเอาไว้ด้วยครับ ดีตรงนี้

     ผมเลยยกหูไปหา พ.ต.ต.ปริญญา รักษาแก้ว ท่านเป็นสารวัตรประจำสถานีตำรวจทางหลวงพื้นที่พังงา กระบี่ และภูเก็ต ก่อนที่ผมจะเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ซึ่งคำพูดแรกที่สารวัตรพูดกลับมาคือ “ทางเราขอโทษด้วยครับ เดี๋ยวทางผมจะจัดการให้” ซึ่งหลังจากนั้นไม่ถึง 2 นาที ร.ต.อ.ตุลา (ขออภัยไม่ทราบนามสกุล) ก็โทรมาประสานทันที

     จากนั้นผมจึงส่งหลักฐานทั้งเอกสารแจ้งความ ภาพถ่ายเล่มทะเบียนรถกลับไปให้ทางไลน์ ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับการประสานเบื้องต้นคือ ทางพังงาจะยกเลิกใบสั่งดังกล่าวให้ทันที รวมถึงข้อมูลดังกล่าวก็จะไม่ถูกส่งไปในระบบของกรมการขนส่งฯ ในเรื่องการต่อทะเบียน ส่วนรถฟอร์จูนเนอร์คันที่มาสวมทะเบียน ตำรวจทางหลวงพังงาบอกว่าจะไปดำเนินการต่อ

     งานนี้ต้องขอบคุณตำรวจทางหลวงพังงาที่ประสานกลับมาได้อย่างทันใจ เสียอย่างเดียวเบอร์โทรสถานีไม่มีคนรับ ส่วนที่จะไปดำเนินการต่อ ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้จับคนร้ายให้ได้โดยเร็วนะครับ แม้ร้อยเวรที่ผมไปแจ้งความจะยอมรับเองว่าตามจับได้ยากก็ตาม เพราะอย่าลืมว่านี่คือความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารราชการเลยนะครับ

     ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ระบุว่า ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ์หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ที่ผ่านมามีข่าวผู้เสียหายเยอะ แต่ข่าวจับกุมได้น้อยมาก ก็หวังว่าในเคสของผมนี้ตำรวจจะจัดการให้ได้โดยเร็วนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook