"รถไฮบริด" กับ "รถยนต์ไฟฟ้า" แตกต่างกันอย่างไร?

"รถไฮบริด" กับ "รถยนต์ไฟฟ้า" แตกต่างกันอย่างไร?

"รถไฮบริด" กับ "รถยนต์ไฟฟ้า" แตกต่างกันอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ในยุคที่รถยนต์พลังงานทางเลือกเข้ามามีบทบาทในตลาดรถยนต์ทั่วโลก หลายคนคงคุ้นชินกับ “รถยนต์ไฮบริด” ที่เคยได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา ทว่าก็ยังมีรถยนต์อีกหลายประเภทที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนทั้ง “ปลั๊ก-อิน ไฮบริด” (Plug-in Hybrid) รวมถึงรถพลังงานไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ ทั้งหมดนี้มันแตกต่างกันอย่างไร Tonkit360 อาสาพาไปหาคำตอบ

รถยนต์ “ไฮบริด”

     เริ่มกันที่รถยนต์ไฮบริด (Hybrid) ซึ่งคนไทยรู้จักมากที่สุด เพราะเข้ามามีบทบาทในบ้านเราร่วม ๆ 10 ปี โดยรถไฮบริดรุ่นแรกที่ทำตลาดในเมืองไทย คือ โตโยต้า พริอุส เจนเนอเรชันที่ 3 เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย ปี 2010 ซึ่งคำว่า “ไฮบริด” แปลว่า “ลูกผสม” ฉะนั้น รถยนต์ไฮบริดก็คือ รถที่เป็นลูกผสมระหว่างพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงกับพลังงานไฟฟ้าจากมอเตอร์ไฟฟ้านั่นเอง

     หลักการของรถยนต์ไฮบริด คือ การเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ที่แบตเตอรี่ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาเฉพาะสำหรับรถประเภทนี้ และจะทำงานในช่วงที่เครื่องยนต์ใช้ความเร็วในรอบต่ำหรือจอดรถติดไฟแดง รวมถึงช่วงออกตัว ในช่วงความเร็วไม่มาก และจากนั้นเมื่อความเร็วสูงขึ้นระบบจะตัดการทำงานไปที่ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำงานกับเครื่องยนต์ปกติ อย่างไรก็ดีในรถไฮบริดยุคใหม่มีการพัฒนาให้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะการช่วยเพิ่มอัตราเร่งในรอบความเร็วสูง

     ฉะนั้น จะสังเกตได้ว่า รถประเภทนี้ในช่วงที่จอดติดไฟแดงหรือขับหาที่จอดรถในที่จอดรถตามห้างสรรพสินค้า เราจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของรถประเภทนี้ทำงานเลย เนื่องจากในช่วงดังกล่าวเป็นการทำงานของระบบมอเตอร์ไฟฟ้านั่นเอง จึงทำให้เป็นรถที่ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่จะมีราคาสูงกว่ารถรุ่นเดียวกันสเปกเดียวกันนั่นเอง

รถยนต์ “ปลั๊ก-อิน ไฮบริด”

     ยังมีรถยนต์ตระกูลไฮบริดอีกหนึ่งประเภท ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอีกระดับภายใต้ชื่อ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid) ซึ่งจุดที่สังเกตได้ง่ายที่สุด คือ รถประเภทนี้จะมีทั้งถังน้ำมันสำหรับเติมน้ำมันเชื้อเพลิงปกติ และขั้วสำหรับเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟฟ้าเข้าสู่ระบบด้วยนั่นเอง

     โดยหลักการของรถยนต์ “ปลั๊ก-อิน ไฮบริด” พื้นฐานก็คือ รถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกับพลังงานไฟฟ้าจากมอเตอร์ไฟฟ้า แต่จุดเด่นของมันอยู่ที่กำลังของพลังงานไฟฟ้าที่สามารถให้ความแรงและตอบสนองอัตราเร่งได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญสามารถวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ความเร็วระดับ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพลังงานของเครื่องยนต์อีกด้วย

รถพลังงานไฟฟ้า (EV)

     สุดท้ายคือ รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เรียกกันว่า EV (Electric Vehicle) ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ยานพาหนะไฟฟ้า” นั่นเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนารถพลังงานไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การใช้งานในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันจะยังเป็นช่วงเริ่มต้นก็ตาม

     โดยหลักการทำงานของรถพลังงานไฟฟ้า (EV) คือการใช้พลังงานไฟฟ้าเข้าไปปั่นมอเมอร์เตอร์แล้วส่งกำลังไปยังล้อรถทั้ง 4 ล้อในการขับเคลื่อนโดยที่ไม่ต้องใช้กลไกการทำงานของเครื่องยนต์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการลดมลพิษทางอากาศ และคาดว่าจะเป็นที่นิยมและเข้ามาแทนที่รถใช้น้ำมันอย่างเร็วที่สุดในปี 2025 หรือในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook