ยิ่งขับรถเยอะ แบตฯ ยิ่งหมดเร็วจริงหรือ?

ยิ่งขับรถเยอะ แบตฯ ยิ่งหมดเร็วจริงหรือ?

ยิ่งขับรถเยอะ แบตฯ ยิ่งหมดเร็วจริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     รถยนต์ของคุณเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุก ๆ กี่ปีครับ หากเป็นสมัยก่อนจำได้เลยว่าหากเป็นรถญี่ปุ่นทั่วไป แบตฯ ลูกหนึ่งใช้งานได้ยาว ๆ 2-3 ปี แต่มายุคนี้รถญี่ปุ่นที่ผมใช้ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่แทบจะปีต่อปีเลยทีเดียว

 

     ต้นปี 2020 ฮอนด้า แอคคอร์ด โฉม G9 ที่ผมใช้งานอยู่ เปลี่ยนแบตเตอรี่เป็นครั้งที่ 2 นับจากขับออกจากโชว์รูมปี 2018 มาถึงเดือนเมษายน 2021 ผมต้องเปลี่ยนแบตฯ ลูกใหม่อีกครั้ง และล่าสุดเมษายน 2022 แบตฯ ลูกใหม่ก็มา! เท่ากับว่าผมเปลี่ยนแบตเตอรี่มาแล้ว 4 ครั้ง ในเวลาไม่ถึง 5 ปี

     ก่อนหน้านี้รุ่นน้องที่เป็นช่างภาพรายการ World of Speed เคยบอกว่าซีวิคของเขาต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ในเวลาปีเศษ ๆ เช่นกัน ซึ่งเป็นข้อมูลเดียวกับเพื่อนของผมอีกคน “ต้น” แห่งเพจ Messisport ที่บอกว่าเอชอาร์วีของเขาก็ได้เรื่องเช่นกันในระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน

     นั่นทำให้ผมพยายามหาคำตอบว่า “ทำไม” เพราะในรถยุคก่อนแบตเตอรี่อยู่ได้ 2 ปีเป็นอย่างน้อย และที่ผ่านมาก็เข้าใจมาตลอดว่าแบตเตอรี่ในรถยนต์ หน้าที่ของมันคือจ่ายไฟตอนสตาร์ทเครื่องยนต์ ส่วนหน้าที่หลักในการปั่นไฟจะมาจากไดชาร์จหรือ Alternato ที่ปั่นไฟไปยังอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ทั้งหมด

     ข้อมูลจากเว็บไซต์แบตเตอรี่เจ้าหนึ่งระบุว่า รถยนต์ยุคใหม่ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ใช้ระบบไดชาร์จ ที่เรียกว่า Alternator Management System หรือ AMS ที่ออกแบบมาเพื่อลดภาระการทำงานของไดชาร์จขณะที่รถยนต์เดินคันเร่ง ช่วยประหยัดน้ำมันและลดไอเสีย ทำให้แบตเตอรี่ทำหน้าที่เพิ่มขึ้น

     ทุกครั้งที่กดคันเร่ง แบตเตอรี่จะเป็นผู้รับภาระหนักในการจ่ายไฟแทนไดชาร์จ เป็นอีกเหตุผลที่พอจะอธิบายได้ว่า ทำไมแบตเตอรี่รถยุคนี้ถึงหมดเร็ว และเมื่อมองถึงการใช้รถของตัวผมเองที่ขับใช้งานเกือบทุกวันตลอดทั้งปี เช่นเดียวกับรุ่นน้องช่างภาพก็ไม่แปลกหากแบตฯ จะหมดในระยะเวลาประมาณ 1 ปี

     การทำงานของไดชาร์จยุคใหม่จะถูกควบคุมด้วยกล่อง ECU โดยจะทำงานตามเงื่อนไขของสมองกลประจำรถ ซึ่งจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับการเซตค่าของรถแต่ละยี่ห้อ โดยจุดสังเกตว่ารถที่เราใช้เป็นไดชาร์จแบบใหม่หรือไม่ ให้ลองดูที่ขั้วลบของแบตฯ หากมีเซนเซอร์พร้อมสายไฟต่อไปยังกล่อง ECU นั่นคือไดชาร์จแบบใหม่ครับ

     เมื่อระบบไดชาร์จเปลี่ยนไป แบตเตอรี่ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยเพราะรถรุ่นใหม่ ๆ ที่ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์เป็นแบบ push start รวมถึงหลายรุ่นมีระบบ start-stop และมีฟังก์ชันที่ต้องใช้ไฟฟ้าอยู่เต็มคัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย จะให้ข้อมูลกับผมว่าอายุของแบตเตอรี่เฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 ปี แล้วแต่การใช้งาน

     ซึ่งหากเป็นไปตามข้อมูลนี้ เท่ากับว่ารถยุคใหม่ยิ่งขับเยอะยิ่งแบตฯ หมดไว ตรงข้ามกับรถยุคก่อนที่ยิ่งขับเยอะยิ่งชาร์จไฟเข้าแบตฯ ได้ดี และยืดอายุแบตเตอรี่ได้ด้วย ผมลองเปรียบเทียบกับรถเอชอาร์วีที่บ้านของคุณแม่ ที่แทบจะไม่ค่อยได้ขับใช้งานเลยในแต่ละสัปดาห์ ปรากฏว่าแบตเตอรี่ของเอชอาร์วีคันนั้นอยู่มาได้ยาวเกิน 2 ปีแล้วครับ

     ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นข้อมูลและประสบการณ์จากรถฮอนด้าที่ผมเจอมาอย่างเดียวนะครับ ท่านใดที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ แล้วใช้รถยนต์ค่ายญี่ปุ่นยี่ห้ออื่น ๆ ก็ลองแชร์ข้อมูลเข้ามากันได้ว่า รถของคุณต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกกี่ปีกันบ้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook